วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

กอบกาจน์ วัฒนวรางกูร กับโจทก์ใหญ่ท่องเที่ยวปี59



โจทก์ใหญ่“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ”ปี’59

หนุนสินค้าแบรนด์ไทยหรือเอาใจแบรนด์นอก

            ปี 2559 เป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยเห็นทางรอดพึ่งพาได้เหลืออยู่เสาหลักเดียวคือ “รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ทำให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ผู้คุมบังเหียนฝ่ายเศรษฐกิจประเทศในรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกโรงระดมสรรพกำลังภาครัฐและเอกชนทันที เพื่อขอให้ร่วมมือกันผลักดันนโยบายรายสัปดาห์จัดทำโครงการ “ปลุกกระแสการท่องเที่ยว”

          นายสมคิดเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจการแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าได้มอบนโยบายเพิ่มโดยขอให้รื้อเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวรวมตลอดปี 2559 ปรับใหม่เป็น 2.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 1.3 แสนล้านบาท จากเดิมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท.เสนอรัฐบาลไว้เพียง 2.3 ล้านล้านบาท การขยับตัวเลขเพิ่มก็เพื่อเตรียมนำมาชดเชยรายได้ภาคการส่งออกนั่นเอง

โดยหนุนนำวาระแห่งชาติ วิถีไทย” อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติเข้ามาเป็นกลไกสนับสนุน “ผู้ผลิตสินค้าระดับฐานรากในชุมชน” พึ่งรายได้นอกภาคเกษตรขยายสู่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งรวมถึงผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ และการส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมย่ำแย่ ในอีกด้านหนึ่งก็ยังช่วยส่งเสริม “ผู้ประกอบการรายขนาดกลางและขนาดย่อม” (SMEs) ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์ไทยในกลุ่ม เกษตรและอาหารแปรรูป แฟชั่น เครื่องหนัง สิ่งทอ หัตถกรรม และอื่น ๆ 

ตามที่ “นายสมคิด” รองนายกรัฐมนตรี ให้ ททท.โชว์บทบาทองค์กรผู้นำความเป็นเลิศด้านการตลาด นำร่องทำโครงการ “สถานีริมทาง :Roadside Station คัดเลือกสินค้าจากชุมชนท่องเที่ยวมาวางจำหน่ายในสถานีบริการ ปตท.ทั่วประเทศ 148  แห่ง และล่าสุดให้เพิ่มอีกโครงการคือ 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว” เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนลงพื้นที่จริง ๆ

ทว่าประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตาในขณะนี้คือ บทบาทของ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ภายใต้ การกำกับดูแลของ “นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์แต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรีว่าการฯ” ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ดูแลภารกิจในกระทรวงสำคัญซึ่งกุมชะตาเศรษฐกิจประเทศอยู่เกือบทั้งหมดนั้น เข้าใจบทบาทหน้าที่ผู้นำทัพขับเคลื่อนนโยบาย “สร้างสินค้าแบรนด์ไทย” ในชุมชนท่องเที่ยวและเอสเอ็มอีให้เกิดและเติบโตเป็นรูปธรรมหรือไม่?
 

รวมถึงเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนรวมกำลังซื้อเป็นตลาดเดียวกันขยายจาก 70 ล้านคน เป็น 680 ล้านคน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งไหลบ่าเข้าเมืองไทยมากถึงปีละเกือบ 10 ล้านคน บวกกับเป้าหมายเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นปีละกว่า 32 ล้านคนนั้น กระทรวงฯ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องเข้าไปแก้ไขอุปสรรคปัญหาทั้งเก่าและใหม่เรื่องใหญ่ ๆ ให้ลุล่วงเพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพและรายได้ของประเทศ ด้วยการผลักดันติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดในเรื่องหลัก ๆ คือ สิ่งอำนวยความสะดวกการเข้าออกประเทศ มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ป้ายบอกทางภาษาต่าง ๆ  มาตรการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

การกำกับดูแลและการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงถูกตั้งคำถามจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวระดับฐานรากและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายอุตสาหกรรมว่าจนถึงขณะนี้ได้ทำนโยบายที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนต่อเนื่องและยั่งยืนหรือยัง ?

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวซ้ำ ๆ มาตลอดว่าเคยเสนอรัฐบาลมาหลายครั้งหลายรัฐบาล ถึงผลกระทบกับประเทศไทยจะเสียมากกว่าได้ ระหว่างการผลักดันนโยบาย “ยกเลิกภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย” ที่พยายามเปิดทางให้สินค้า “แบรนด์เนม” ต่างชาติทะลักเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย นอกจากจะไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ในยุคการท่องเที่ยวเบ่งบาน ยังจะกระทบตลาด “สินค้าแบรนด์ไทย” และ “ธุรกิจเอสเอ็มอี” อย่างรุนแรง ทั้งภาคอุตสาหกรรม เครื่องหนัง แฟชั่น สิ่งทอ และอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลต้องการพึ่งเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากกำลังซื้อและบริโภคภายในประเทศมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องตระหนักถึง “การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อ” ด้วยวิธีนำสินค้าแบรนด์ต่างชาติเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น จะสร้างความอ่อนไหวรอบด้าน นอกจากจะไม่ตอบโจทก์กำลังซื้อต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวแล้ว ประเทศยังสูญภาษีที่จะได้ก่อนเวลาอันควรด้วย

ทั้งนี้มีรายงานว่าผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่บางกลุ่มมีความพยายามหารือกับผู้นำ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” เสนอรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยจะฉวยใช้จังหวะที่ประเทศไทยจัดมหกรรม “ไทยแลนด์ แกรนด์ เซลส์ 2016ซึ่งจะเริ่มระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2559 ขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมโดยตั้งสมมุติฐานว่าในเชิงการประชาสัมพันธ์จะเพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายเงินช็อปปิ้งในไทยเพิ่มขึ้น

ในทางกลับกันก็มีเอกชนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า ยุคนี้การขับเคลื่อนขอยกเลิกภาษีฟุ่มเฟือยเหตุใดจึงเปลี่ยนไปพึ่ง “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ซึ่งไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงเป็นช่องทางหลักแทนวิธีเดิม ๆ ก่อนหน้านี้เคยพยายามเสนอตรงไปยังกระทรวงการคลังต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแต่ไม่ผ่าน เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องภาครัฐเองก็ต้องประเมินภาระของประเทศว่าจะต้องแบกรับปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกภาษีดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะผู้บริหาร กระทรวงการคลังหลายยุคก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสมมุติฐานดังกล่าว

นายสมบัตร เดชาพนิชกุล ผู้ช่วยประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวว่า ในฐานะที่คิง เพาเวอร์ เป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร (duty Free) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าแบรนด์เนมตามกฎหมายไทย โดยมีระเบียบกำกับพร้อมข้อกำหนดชัดเจนต้องจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย (Inbound) และคนไทยที่เดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ (outbound) เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีกระแสจะเสนอรัฐบาลยกเลิกภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย นำเข้าสินค้าแบรนด์เนมต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายโดยอ้างเพื่อเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวนั้น

จากผลการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบต่อเนื่องมาตลอด 26 ปี นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ตัดสินใจเลือกมาท่องเที่ยวเมืองไทยเพราะตั้งใจเดินทางมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม ส่วนใหญ่มาด้วยเหตุผลเป็นประเทศไทยน่าอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม คนไทยอัธยาศัยไมตรีเป็นมิตร และมีความหลากหลายของวิถีไทยในชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ


โดยเฉพาะ “สินค้าแบรนด์ไทย” ปัจจุบันกลุ่ม คิง เพาเวอร์ ส่งเสริมการจ้างเอสเอ็มอีชุมชนผลิตอย่างมีดีไซน์ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล แล้วเปิดพื้นที่ให้นำมาวางขายในดิวตี้ฟรีสาขาต่าง ๆ ทั้งในเมืองและสนามบินทั่วประเทศ สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นโดยมีส่วนแบ่งรายได้ปีละ 8-12 % ของยอดรวมทั้งหมด สูงกว่ายุคแรกที่ทำได้เพียง 1-5 % สะท้อนถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหันมานิยมสินค้าไทยทั้งผลิตภัณฑ์อาหารไทยแปรรูป สำเร็จรูป วัตถุดิบเครื่องปรุงบรรจุภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุง แฟชั่นเสื้อผ้าไทยภาคต่าง ๆ

รวมทั้งการเปิด คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในเมือง สาขาใหม่ล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ต ได้ลงทุนสร้างอาคารจำหน่ายสินค้าแบรนด์ไทยครบวงจรโดยเฉพาะ สนับสนุนวิถีไทยซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระตุ้นนักท่องเที่ยวทั่วโลกหันมาใช้สินค้าไทยอย่างแพร่หลายและขยายผลนำไปบอกต่อเพื่อนฝูง ครอบครัว ญาติพี่น้อง เมื่อเดินทางมาเที่ยวให้ซื้อกลับไปฝากในครั้งต่อไป เพราะสินค้าไทยล้วนมีคุณค่าและรากวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นมีเรื่องราวงดงามมากมาย

ปี 2559 นโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์พุ่งเป้าปลุกกระแสสร้างความภาคภูมิใจในวิถีไทย มุ่งเน้นให้คนไทยและนานาประเทศซื้อสินค้าแบรนด์ไทย แล้ว “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” รู้หน้าที่เข้าใจบทบาทการกำกับดูแลท่องเที่ยว และ/หรือได้สานต่อนโยบายเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งสมกับที่ผู้นำรัฐบาลไว้วางใจให้ดูแลกระทรวงเสาหลักเศรษฐกิจประเทศแล้วหรือยัง ?

 

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ Group CEOสายพันธุ์ใหม่เครือดุสิต



“ศุภจี สุธรรมพันธุ์”Group CEOพันธุ์ใหม่
ขอใช้วิถีไทยผสมไฮเทคแปลงโฉม“เครือดุสิต”

เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : คอลัมนิสต์อิสระ และ เจ้าของรายการ “รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์” FM 97.0MHz.สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย





ภายในเวลาเพียง 20 วัน “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” หรือ “คุณแป๋ม” ที่เข้ารับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (Group CEO) ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล” เมื่อวันที่  1 มกราคม 2559 ก็ได้โชว์ความเป็นนักบริหารมืออาชีพ ในฐานะสตรีไทยผู้ผ่านสนามความท้าทายในตำแหน่งผู้นำมาอย่างโชกโชน โดยได้เปิดห้องไลเบอรี่ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ประกาศภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จะสร้างความสำเร็จในมิติใหม่ โดยนำความรู้ความสามารถจากการสร้าง “ดาวเทียมหรือโรงแรมอวกาศ” เมื่อครั้งนั่งเป็นซีอีโอ บมจ.ไทคม มาพลิกโฉม “โรงแรมบนดิน” เครือดุสิตทั้งหมด ผสมผสานกับการดึงประสบการณ์เก่าที่ IBM เปิดสะพานเชื่อมระบบเทคโนโลยีให้มีบริการไฮเทคครบวงจร เข้าถึงง่ายทั้งลูกค้าและโครงข่ายโรงแรมในเครือทั่วโลก
 
 
นำพาความเป็น “วิถีไทย-Thai Hospitality” ขับเคลื่อนแบรนด์ไทย “เครือดุสิตธานี” ที่สร้างชื่อในประเทศและทั่วโลกมานานถึง 67 ปี ทะยานขึ้นไปยืนเป็นหนึ่งในผู้นำสนามแข่งอินเตอร์อย่างสง่างาม

 
“ศุภจี” เริ่มต้นเชื่อมสัมพันธ์กับสื่อและบุคลากรรอบข้างท่ามกลางสิ่งแวดล้อมใหม่แกะกล่อง ด้วยวิธีแนะนำตัวเองใช้วิธีเล่าชีวิตความสำเร็จตลอดการทำงานที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี นับจากวันที่ผู้หญิงไทยซึ่งได้รับโอกาสจากบริษัทใหญ่ระดับโลกคือ บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด นานนับ 20 จนขึ้นเป็น“ผู้จัดทั่วไปอาเซียน” ฝ่ายเทคโนโลยีทั่วโลก จากนั้นก็ข้ามห้วยมาเติบโตในตำแหน่งแบบก้าวกระโดดเป็น ซีอีโอ บมจ.ไทคม ใช้เวลาเพียง 4 ปี แก้ไขทุกปมปัญหาภาพลักษณ์การเมือง แปลงวิกฤต “การเงิน” เป็น “กำไรและปันผล” แถมยังสามารถขยายลงทุนดาวเทียมดวงที่ 8 สำเร็จ

 
กระทั่งเมื่อปลายปี 2558 ตัดสินใจเปลี่ยนเวทีอวกาศลงสู่ภาคพื้นดิน ด้วยการตกลงใจยอมรับคำชวนของ “ชนินทร์ โทณวิก” รองประธานกรรมการเครือดุสิตมาทำหน้าที่ “ซีอีโอกลุ่ม” ให้ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งกำลังขยายแนวรุกธุรกิจโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ไทยอันแข็งแกร่ง เพิ่มจากปัจจุบัน 26 เป็น 68 โรงแรม โดยมีการลงนามข้อตกลงไว้แล้วกับเกือบ 40 โรงแรม โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะผุดเป็นดอกเห็ดเพิ่มอีกถึง 17 แห่ง และในหลายๆ ประเทศ จะเริ่มทยอยเปิดบริการปลายปี 2561 โดยเฉพาะที่ “ดุสิต ลากูน่า สิงค จะเป็นแห่งแรกของโลกที่มีไดรว์เลนกอล์ฟอยู่ตรงบาโคนีห้องพัก และ ดุสิตดีทู ปาล์ม มอลล์ มัสกัต โอมาน เป็นคอนเซ็ปต์ mix use มีทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าซึ่งภายในมีบริการ หมู่บ้านหิมะ อควอเรียม ด้วย ส่วนโครงการโรงแรมใหม่ใน ออสเตรเลีย เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย และในแถบแอฟริกา ล้วนศักยภาพโดดเด่นไม่แพ้กัน

 


สิ่งที่โดนใจจนทำให้ “ศุภจี” หนึ่งในนักบริหารหญิงไทยผู้โด่งดังอยู่แถวหน้าในเวทีนานาชาติ ตัดสินใจเลือกมาเป็น “ซีอีโอกลุ่ม” ให้ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล นั้น เธอย้ำเหตุผลด้วยแววตาลุกโชนถึงจุดยืนของเจ้าของกิจการซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก “ดุสิตมีความเป็นไทย ฮอสพิทาลิตี้” ที่จะนำไปแพร่กระจายออกสู่ทั่วโลก เรื่องที่สอง “ดุสิตเน้นการศึกษามีสถาบัน” โดยได้ก่อตั้งและบริหารวิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอบรมหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรด้านการโรงแรม และร่วมมือกับสถาบันเลอ คอร์ดอง เบลอ สถาบันสอนศิลปะการทำอาหารที่มีชื่อเสียงจากฝรั่งเศส มาอย่างยาวนานและเมื่อเดือนกันยายน 2558 ได้เปิดโรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม โรงเรียนที่สอนด้วยหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานสมรรถนะการให้บริการของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวแห่งอาเซียน (ASEAN Common Competency Standards for Tourism Professionals) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

 
ฟังเผิน ๆ แล้วทั้ง 2 เรื่อง อาจดูเรียบง่ายนักธุรกิจหลายค่ายก็ทำกัน ยกเว้น “เครือดุสิต” ซึ่ง “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ผู้ก่อตั้งได้บ่มเพาะคุณค่าความเป็นไทยทุกรายละเอียดฝังรากอยู่ในทุกอณูโรงแรมทุกแห่งที่ลงทุนสร้างและบริหาร จิตวิญญาณของดุสิตจึงเป็น “ไทยแบรนด์” ที่มีถ่ายโอน DNA ไปยังพนักงานชนิดลงลึกฝังราก

 
เช่นเดียวกับเรื่อง “การศึกษา” ทั้งดุสิตธานีอันเป็นจุดเริ่มของการผลิตบุคลากรไทยสู่สากลและโรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรมเป็นพัฒนาการอีกขั้นเมื่อเปิดเออีซี ที่ดุสิตสามารถใช้ศักยภาพอันเต็มเปี่ยมสมกับที่โรงแรม “แบรนด์ไทย” แถวหน้าของประเทศที่เทียบชั้นแข่งขันกับเชนระดับโลกได้สบาย ๆ หันมาสร้าง “คนบริการ” ควบคู่กันไปอย่างจริงจัง จะว่าไปแล้วปัจจุบันนี้เครือดุสิตดูแลรับผิดชอบพนักงานกว่าหมื่นชีวิต  แถมในอนาคตจากผลการศึกษาของสิงคโปร์ยังระบุแนวโน้มความต้องการบุคลากรเข้าสู่ภาคบริการธุรกิจ ห้องพักอีกไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน

 

เครือดุสิตฯ จึงไม่ลังเลที่จะขยายเรือธงกิจการ “วิทยาลัยและโรงเรียนการโรงแรม” ในประเทศไทย  ฟิลิปปินส์ และ อนาคตจะทยอยเปิดในประเทศที่เข้าไปลงทุนโรงแรมซึ่งเป็นศูนย์กลางความนิยม อาทิ แถบ ตะวันออกกลาง 

 

เรื่องราวที่เล่าสู่กันฟังคร่าว ๆ นี้ ยังมีรายละเอียดให้ติดตามอีกมากมาย หลังจาก “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” หญิงไทยใจเกินร้อย เป็นบุคคลจากภายนอกตระกูลคนแรกของเครือดุสิต ที่ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” และ “ชนินทร์ โทณวณิก” ให้เข้ามาสร้างปาฏิหาริย์ ทำให้ “โครงการในฝันของท่านประธาน” เป็นจริงขึ้นในเร็ววันนี้

 
ความสำเร็จของเครือดุสิตทั้งการพัฒนา “โรงแรม” และ “โรงเรียนการโรงแรม” นั้นยิ่งใหญ่เหนือกว่าคำว่า “ธุรกิจและทรัพย์สินเงินทอง” หากแต่เป็น “คุณค่าของแบรนด์ไทย” ซึ่งเป็นของคนไทยตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต เอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ที่ทั่วโลกชื่นชม

 

ทั้งนี้เครือดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล มีโรงแรมและรีสอร์ตในและต่างประเทศ ซึ่งพัฒนาโดยเป็นเจ้าของและรับจ้างบริหาร รวม 4 แบรนด์ ประกอบด้วย ดุสิตธานี ดุสิตดีทู ดุสิตปริ๊นเซส ดุสิตเดวารณา และมีเทวารัณย์ สปา แยกออกจากหมวดโรงแรมโดยให้บริการเกี่ยวกับเวลเนสสปาครบวงจร

 
ติดตามอ่านรายละเอียดต่อเนื่องตลอดสัปดาห์นี้ 19-23 มกราคม 2559  “ก้าวใหม่...ของโรงแรมบนดินในยุคหญิงกล้า-ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ได้ทางจากคอลัมน์ตามสื่อซึ่งเขียนโดย “เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน” และทางเครือข่ายโซเชียลมีเดีย www.facebook.com/penroong yaisamsaen,  www.gurutourza.blogspot.com Instragram , Line-kukoo

จับตา!!ต่างชาติเที่ยวไทยแผ่ว3เดือนแรกไม่ถึง10ล้านคน

  นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 1 ม.ค.-31 มี.ค.2568 ได้แค่ 9.5 ล้านคน จับตา !! ต่างชาติเที่ยวไทยแผ่ว 3 เดือนแรกไม่ถึง 10 ล้านคน เม.ย.นี้ร...