วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ททท.นำ50ดีไซเนอร์โลกบุกติวเข้มชุมชนออกแบบผ้าไทย




Thailand Academyชุบวิถีชุมชน

ททท.นำ50ดีไซเนอร์โลกพลิกโฉมผ้าไทย

เรื่องโดย : เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : blogger :rakdeethai@gmail.com

            โครงการ “Thailand Academy 2015” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และ อเมริกา จับมือกับสถานทูตไทยในยุโรป นำทีมดีไซเนอร์หรือนักออกแบบมืออาชีพระดับโลก 50 คน เข้ามาสร้างความคึกคัก “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรเทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้กับ “ชุมชนต้นแบบ” ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ “เมืองต้องห้าม...พลาด” 3 เส้นทาง แพร่-น่าน สุรินทร์-บุรีรัมย์ และ นครศรีธรรมราช


คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ (ที่3จากซ้าย) ผอ.ททท.ภูมิภาคยุโรป ท่านฑูต "สุรพิทย์ กีรติบุตร" เอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงโรม  พร้อมกับทีม ผอ.ยุโรปแต่ละประเทศ นำผ้าไทยที่ดีไซเนอร์ร่วมกับชุมชนสร้างสรรการออกแบบมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิริราช
“จุฑาพร เริงรณอาษา” รักษาการ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)   เปิดเผยว่า ททท.ภูมิภาคยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง ได้จัดทำโครงการ Thailand Academy ปี 2558 มีความพิเศษมากกว่าทุกปี เนื่องจากรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” ททท.จึงได้ร่วมกับทีมไทยแลนด์ และสถานทูตไทยในสหภาพยุโรปคัดสรรดีไซเนอร์มืออาชีพระดับโลกในภูมิภาคยุโรป50 คน จากกว่า 10 ประเทศ เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สหราชอาณาจักร  ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมันี เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อิสราเอล

ททท.ได้นำทีมดีไซเนอร์โครงการ Thailand Academy 2015 เดินทางลงพื้นที่จริงใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนพร้อม ๆ กับถ่ายทอดประสบการณ์ความคิดสร้างสรรสอนเทคนิควิธีปฏิบัติ (workshop) การออกแบบผ้าไทยพื้นเมืองทั้งไหมและฝ้ายตามชุมชนต้นแบบที่คัดเลือกเข้าร่วมโครงการมีขีดความสามารถต่อยอดการผลิตสินค้าจำหน่ายในตลาดโลกควบคู่ไปกับการขยายตลาดท่องเที่ยวอย่างเข้มแข็ง สร้างแบรนด์และสร้างมูลค่าผ้าไทยเทียบชั้นกับผลิตภัณฑ์นานาชาติได้
 

เป้าหมายของโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ขยายฐานตลาดและรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยเพิ่มจุดขายประสบการณ์ใหม่ ๆ ในสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ “เมืองต้องห้าม...พลาด”  และ “วิถีชุมชนท่องเที่ยว” กับกลุ่มตลาดเป้าหมายจากสหภาพยุโรปทั้งกลุ่มเดินทางเที่ยวเมืองไทยซ้ำ ๆ (re-visit) และ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวเมืองไทยครั้งแรก (first visit) ได้รับประสบการณ์ใหม่ในแบบวิถีไทยมากกว่ามาเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนเพียงอย่างเดียว

        

      “ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ”
ผู้อำนวยการ ททท.ภูมิภาคยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ Thailand Academy กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 20-23 เมษายน 2558 ดีไซเนอร์ระดับโลกได้ลงพื้นที่เวิร์คช็อปแนะนำวิธีคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท่องเที่ยวอย่างสร้างสรร ซึ่งปัจจุบันแต่ละชุมชนมีสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP) ระดับ 5 ดาว แต่ยังมีจุดอ่อนเรื่องแนวคิดสร้างสรรออกมาแล้วไม่ตรงรสนิยมนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ โครงการนี้จะตอบโจทก์ได้ดี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการชาวบ้านในชุมชนจะสามารถสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ด้วยผลงานเชิงสร้างสรรออกวางจำหน่ายในตลาดนานาชาติได้มากกว่าปัจจุบัน

โดย ททท.ได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบเข้าร่วมโครงการพร้อมกับนำทีมดีไซเนอร์ลงไปทำเวิร์คช็อปสอนวิธีคิด วิธีการออกแบบ และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมืออาชีพให้กับชาวบ้าน ด้วยการผสมผสานแนวคิดสากลกับภูมิปัญญาไทยเข้าด้วยกัน ในพื้นที่ชุมชน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่
 

เส้นทางแรก ภาคเหนือ แบ่งย่อยเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ที่ 1  “เมืองเก่าแพร่” นำผ้าหม้อห้อมพื้นเมืองจากชุมชนบ้านโฮ้ง จ.แพร่ มาเป็นต้นแบบ ให้ดีไซเนอร์เดนมาร์กและอิสราเอล ออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดเดรสเทคนิคแนวใหม่ ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแหล่งผลิตผ้าพื้นเมืองในจังหวัดแพร่ เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรี วัดพระธาตุช่อแฮ พิพิธภัณฑ์ผ้าโกมล บ้านศิลปินแห่งชาติ ผ้าทอแม่ประนอม

พื้นที่ที่ 2 “ตัวเมืองเก่าน่าน” นำผ้าทอยกดอกไทยลื้อ ของชุมชนบ้านหนองวัว อ.ปัว โดยให้ดีไซเนอร์จากอิตาลีออกแบบผลิตภัณฑ์ของใช้ ไฮไลต์คือแว่นตาพร้อมแพกเกจจิ้งกล่องใส่แว่นตาตกแต่งด้วยผ้ายกดอกไทยลื้อ ส่วนดีไซเนอร์อังกฤษออกแบบ ชุดเดรสเสื้อแจ๊กเก็ต ปลอกหมอน ส่วนดีไซเนอร์สวีเดนกับนอร์เวย์ออกแบบชุดเดรสผ้าทอยกดอก ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน เช่น วัดภูมินทร์ โฮงเจ้าฟองคำ วัดพระธาตุ่แช่แห้ง หอศิลป์ริมน่าน ชุมชนไทยลื้อ วัดหนองบัว
 

เส้นทางที่สอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ นำผ้าพื้นเมือง “ไหมมัดหมี่โฮล” ชุมชนท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยให้ดีไซเนอร์ฝรั่งเศส ออกแบบชุดราตรีผ้าไหม ดีไซเนอร์อังกฤษออกแบบ เสื้อ closet เครื่องประดับผม กระเป๋าสะพาย ดีไซเนอร์เยอรมัน (นักศึกษา) ออกแบบชุดเสื้อผ้า ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์สำรวจเส้นทางท่องเที่ยว กลุ่มทอผ้าไหมทองจันทร์โสมา ชุมชนบ้านท่าสว่าง หมู่บ้านช้างตากลาง จ.สุรินทร์ และ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
 

เส้นทางที่สาม ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำผ้าพื้นเมือง “ผ้ามัดย้อมธรรมชาติคีรีวง” จากชุมชนคีรีวงศ์ โดยให้ดีไซเนอร์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกแบบเดรสเทคนิคใหม่ในการเขียนสีทองเพิ่มในลายมัดย้อมให้สอดคล้องกับรสนิยมตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์ท่องเที่ยว ย่านชุมชนเก่านครศรีธรรมราช วัดพระธาตุวรมหาวิหาร ชุมชนทำเครื่องถมเงินถมทอง บ้านหนังตะลุง ชุมชนสานย่านลิเภา หมู่บ้านคีรีวงศ์ และ หาดขนอม

            ธเนศวร์กล่าวว่าตลอดสัปดาห์การจัดทำโครงการ Thailand Academy 2015 ดีไซเนอร์ระดับโลกทั้งหมดได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน โดยมีชาวบ้านและนักศึกษามาร่วมเป็นลูกมือเรียนรู้สร้างสรรชิ้นงานต้นแบบขึ้นมาแล้วมอบให้ชุมชนใช้เป็นต้นแบบต่อไป   
 

“สุรพิทย์ กีรติบุตร” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม ประเทศอิตาลี กล่าวถึงโครงการ Thailand Academy 2015 เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรผลิตภัณฑ์ผ้าไทย โดยคิดนอกกรอบให้เป็นมากกว่าเสื้อผ้า จึงได้ร่วมกับสถาบันแฟชั่นชื่อดังในอิตาลี Institute Europeo di Design คัดเลือกจนได้ผู้ชนะเป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการนี้ เน้นการออกแบบได้หลากหลายผลิตนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับของใช้ เช่น ชิ้นส่วนประกอบแว่นตาแฟชั่น โพสการ์ด และ อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผ้าไหมไทยไปใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์

โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนไทยมีโอกาสสัมผัสดีไซเนอร์ระดับโลก โดยได้เห็นทั้งวิธีคิด การประดิษฐ์ และวิธีตัดเย็บออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป สิ่งสำคัญที่สุดชุมชนยังได้เรียนรู้เทคนิคความรู้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์สูงสุดคือชุมชนสามารถออกแบบสินค้าจากผ้าไทยพื้นเมืองซึ่งนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

“ทางสถานทูตไทยในกรุงโรมเข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่ ปีแรก 2556 เน้นออกแบบเสื้อผ้า ปีที่สอง 2557 เน้นออกแบบภัตตาคารไทย ปีที่สาม 2558 ออกแบบเป็นของใช้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านโครงการนี้ ได้นำไปเผยแพร่และจัดแสดงตามงานต่าง ๆ ที่สถานทูตจัดขึ้นในโรมและยุโรป ปีที่แล้วนำเสื้อผ้าที่ออกไปจัดแสดงได้รับความสนใจจากนานาประเทศเข้ามาชื่นชมและถ่ายภาพอย่างคับคั่ง
ส่วนการเปิดตลาดเต็มรูปแบบนั้นคงจะต้องอีกขั้นตอนต่อไป เนื่องจากมีเรื่องการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะนี้เป็นขั้นตอนต้นเกี่ยวกับต้องทำให้ชุมชนเข้าใจการออกแบบให้มีแบรนด์เป็นเอกลักษณ์ ผลิตสินค้าได้ตรงกับควาต้องการของตลาดก่อนจะวางจำหน่ายทั่วโลก” นายสุรพิธกล่าว

“จิตติมา สุขผลิน” ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานโรม ประเทศอิตาลี เปิดเผยว่า ได้นำดีไซเนอร์จากอิตาลี และ อิสราเอล ลงไปทำเวิร์คช็อปช่วยชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ ออกแบบผ้าหม้อห้อม

            ชาวบ้านตื่นเต้นมากเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสเรียนรู้การออกแบบจากนักออกแบบมืออาชีพระดับโลก ตั้งแต่การเลือกลายผ้า วางโครงผ้า การตัดเย็บ ความต้องการของชาวบ้านคือการเรียนวิชาทุกอย่าง ส่วนดีไซเนอร์ก็ต้องการดึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้านออกมาให้ได้มากที่สุด

            ผลที่ออกมาสำเร็จเกินคาด เพราะดีไซเนอร์และอาจารย์สอนออกแบบผ้าที่ร่วมเดินทางมากับคณะครั้งนี้ ได้เรียนรู้จดจำลักษณะพิเศษของผ้าไทยแต่ละชุมชนไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์รุ่นต่อๆ ไป อีกทั้งยังเกิดความประทับใจวิถีชุมชนไทย ซึ่งทางดีไซเนอร์และอาจารย์จากประเทศอิตาลี อิสราเอล รับปากกับชาวบ้านแล้วว่าจะใช้ทุนส่วนตัวนำทีมนักออกแบบอีกรุ่นกลับมาสอนอีกครั้งช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้

            โครงการ Thailand Academy 2015 ได้จุดประกาย “ชุมชนท่องเที่ยว” พลิกโฉมความคิดสร้างสรรชาวบ้านหันมาผลิตผ้าไทยอย่างมีสไตล์ให้นานาประเทศรับรู้ว่า “วิถีไทย” มีคุณค่าต่อสังคมโลกอย่างแท้จริง

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

คิงเพาเวอร์ผนึก2ยักษ์การเงิน "ธ.กสิกรไทย-อาลีเพย์" ลุยค้าดิวตี้ฟรีออนไลน์


คิง เพาเวอร์ผนึก2ยักษ์การเงิน”กสิกรไทย-อาลีเพย์จีน”
นำร่องเจ้าแรก “ค้าดิวตี้ฟรีออนไลน์”เจาะนักช็อปในจีน
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : blogger : gurutourza.blogspot.com
(เจ้าของรายการ "รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์" ทาง FM 97.0 MHz.สวท.ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.oo-12.00 น.)

“กลุ่มคิง เพาเวอร์” ผนึก 2 ยักษ์ใหญ่การเงินไทยและจีน “ธ.กสิกรไทย-อาลีเพย์” โหมธุรกิจใหม่นำร่องเปิดการค้าดิวตี้ฟรี ออนไลน์ เป็นเจ้าแรกในเอเชียทุ่มทำเว็บไซต์ www.kingpoweronline.com เจาะนักช็อปในจีน
สมบัตร เดชาพนิชกุล

นายสมบัตร เดชาพนิชกุล รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เปิดเผยว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  กับกลุ่มธุรกิจทางการเงิน 2 รายใหญ่ของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้บริการธุรกิจใหม่การจำหน่ายสินค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.kingpoweronline.com   ตั้งเป้าเจาะกลุ่มเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ชื่นชอบการช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมสามารถซื้อสินค้าได้จากต้นทางในจีน เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยปีละกว่า 5 ล้านคน นิยมซื้อสินค้าจากร้านค้า คิง เพาเวอร์ ในประเทศไทยทั้งที่ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินนานาชาติและดิวตี้ฟรีสาขาในเมือง
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน 2558 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ร่วมลงนามข้อตกลงกับธุรกิจกับกลุ่มแรก คือ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย  เพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของไทยเข้ามาดูแลการทำธุรกรรมรับโอนเงินจากจีน และ กลุ่มที่สอง นายต้าหย่ง จาง รองประธานอาลีเพย์ (Alipay) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะที่อาลีเพย์เป็นผู้นำบัตรเดบิตที่ให้บริการการชำระเงินรายใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสมาชิกอยู่กว่า 100 ล้านคน พร้อมร่วมกับคิง เพาเวอร์ ดูแลบริการครอบคลุมทั้งเรื่อง 1.การรับชำระเงินจากลูกค้าจีน 2.จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสินค้าปลอดอากร 3.บริการกระจายสินค้าดิวตี้ฟรีที่ลูกค้าสั่งซื้อผ่านออนไลน์ส่งตรงไปให้ถึงบ้านของลูกค้าในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

            สำหรับการจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรีออนไลน์ ในเว็บไซต์ www.kingpower.com กลุ่ม คิง เพาเวอร์ เริ่มเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 กำหนดเปิดบริการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้น โดยมีผลิตภัณฑ์สินค้ายอดนิยมหลักๆ วางจำหน่ายบนเว็บไซต์ดังกล่าว ได้แก่ สินค้าแบรนด์เนมประเภทเครื่องสำอาง น้ำหอม แฟชั่น นาฬิกา เสื้อผ้า accessary และสินค้าที่ระลึกแบรนด์ไทยผลิตโดยฝีมือคนไทย ส่วนยอดขายปีแรกที่เปิดให้บริการ ทางคิง เพาเวอร์ ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ทอท.ต้อนรับผู้นำคนใหม่ "ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ"



ทอท.เปิดบ้านต้อนรับผู้นำคนใหม่ปี 2558

“ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ”โชว์จุดเปลี่ยนการบิน

เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน
(อีเมล์:rakdeethai@gmial.com, blogger :gurutourza.blogspot.com)


ผู้นำใหม่-ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ
 
      จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ที่กำลังได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายเมื่อ “ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ” เข้ามารับตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 เป็นต้นไป โดยได้สร้างประวัติศาสตร์การเป็นผู้นำ ทอท.อายุน้อยที่สุดในวัยเพียง 40 ปีต้น ๆ เท่านั้น

ทางรายการ “รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์” ทางสถานี FM 97.0 MHz มีโอกาสสัมภาษณ์เป็นรายการรแรก ๆ ถึง”วิสัยทัศน์” ของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ ทอท.ที่อายุน้อยที่สุดมานำเสนอในประเด็นที่น่าสนใจ

ดร.นิตินัย อธิบายว่า สถานภาพและบทบาทของ ทอท.ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงต้องรักษาสมดุลทั้งทางด้านการให้บริการสังคมและเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถทำพร้อมกันได้ โดยศักยภาพของสุวรรณภูมิซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติประตูเศรษฐกิจบานใหญ่ของประเทศ ในขณะนี้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 45 ล้านคน หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประเทศไทยจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้นต้องเตรียมวางแผนการขยายแผนพัฒนาการก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกในเฟสที่สอง ว่าจะทำอย่างไรทั้งเรื่องการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้รองรับกับวัตถุประสงค์ในเชิงสังคม เพราะจะมุ่งเพียงด้านเดียวเฉพาะพัฒนาเพื่อให้ผู้โดยสารใช้เพียงอย่างเดียวคงจะเป็นไปไม่ได้

            ตามหลักการประเมินตัวเลขขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิตามสถิติที่ระบุว่ารับผู้โดยสารเต็มที่ตอนนี้ปีละ 45 ล้านคน นั้น คำนวณตามหลักการจากช่วงชั่วโมงที่มีผู้โดยสารใช้บริการเดินทางหนาแน่น (peak hour) ก่อนและหลังในแต่ละวัน 3 ชั่วโมง ซึ่งสุวรรณภูมรองรับได้ชั่วโมงละ  11,000 คน เมื่อนำมาคำนวณโดยคูณด้วย 3 ชั่วโมง ส่วนที่เหลืออีก 21 ชั่วโมงนั้นจะคิดค่าเฉลี่ยมีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 40 %

โชว์วิสัยทัศน์ใช้พื้นที่สุวรรณภูมิเฟส2ปั๊มเงินแนวใหม่

แจกอินเซ็นทีพ-เกลี่ยเที่ยวบิน-เพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์
 

ดังนั้นหลักปฏิบัติสำหรับการวางแผนลงทุนขยายสุวรรณภูมิเฟสสอง จึงต้องมุ่งเน้นเรื่อง “บริการ” เป็นหลัก เรื่องการจัดการปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารหนาแน่นในช่วง 3 ชั่วโมงของแต่ละวัน ให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนมีจำนวนผู้โดยสารไม่หนาแน่นมากนัก ปริมาณจราจรทางอากาศและผู้โดยสารจะมีความคับคั่งตอนช่วงเช้า 11.00 น. จากปริมาณเที่ยวบินขึ้น-ลงกว่า 50 เที่ยว/ชั่วโมง มากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 3 เท่า โดยช่วงปกติจะมีเที่ยวบินขึ้นลงประมาณ 20 เที่ยว/ชั่วโมง

แนวทางการบริหารจัดการจะใช้กลยุทธ์การเกลี่ยจำนวนเที่ยวบินไปอยู่กลางคืนเพิ่มมากขึ้นด้วยกลยุทธ์ “การเพิ่มแรงจูงใจ” หรือ Incentive ควบคู่กันไปในเบื้องต้น

กลยุทธ์นี้เป็นการ “เพิ่มรายได้” โดยดูแลมาตรฐาน “บริการ” ไว้โดยไม่ได้ลดคุณภาพลงแต่อย่างใด ในสถานการณ์ที่ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณตอนนี้เต็มแล้ว

ดร.นิตินัยอธิบายถึงแผนงานการบริหารสนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ เชียงราย โดยเฉพาะในปี 2558 ที่กำลังขยายพื้นที่แล้วเรื่องรายได้ที่จะมาจาก 3 สนามบินหลัก สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต

ในยุคที่ผมเข้ามารับตำแหน่งจะขอแบ่งรายได้ของ ทอท.จากการประกอบธุรกิจสนามบินนานาชาติเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 รายได้ส่วนแรกมาจากการบิน (Aero) ประกอบด้วย ค่าลงจอด (landing) ค่าจอด (parking) และ ค่าธรรมเนียมการใช้บริการสนามบิน (Passenger Service Charge: PSC) ทอท.มีส่วนแบ่งรายได้อยู่ประมาณ 60 %

ส่วนที่ 2 รายได้เชิงพาณิชย์ (Non Aero) แบ่งเป็นเชิงพาณิชย์ที่ผูกมากับการบิน จากผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่สนามบิน ทอท.มีส่วนแบ่งรายได้อยู่ประมาณ 40 %

ส่วนที่ 3 พาณิชย์อย่างเดียวโดยตรง เนื่องจากบางสนามบินมีสนามกอล์ฟ หรือมีแนวคิดที่จะทำเป็น Airport City เป็นเมืองแห่งการช็อปปิ้งรอบ  ๆ สนามบิน ปัจจุบัน ทอท.ยังไม่มีรายได้จากส่วนนี้ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องทำเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันเรื่องรายได้ หากเกิดกรณีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกต่ำจากปัญหาโรคระบาดที่ต้องจำกัดหรือควบคุมการเดินทาง หรือ เกิดปัญหาการเมืองภายในประเทศ ไม่ว่าจะมีปัจจัยภายในประเทศหรือต่างประเทศเกิดขึ้นรายได้ของสนามบินในส่วนที่ 1 และ ส่วนที่ 2 จะลดฮวบลงอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นการพัฒนารายได้จากสนามบินทั้งในระยะกลางและระยะไกล ทอท.จึงต้องวางแผนหารายได้เชิงพาณิชย์ หรือ Non Aero ทั้งที่ผูกมากับการบินและเชิงพาณิชย์โดยตรง เพื่อนำมาเป็นรายได้ค้ำยันให้องค์กรเกิดเสถียรภาพมากที่สุด

ในทางกลับกันรายได้ที่จากาการบินหรือ Aero นั้นเป็นแกนหลักสำคัญ (Cor-Business) ของ ทอท.ที่จะทิ้งไม่ได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูรายละเอียดเรื่องการบริหารจัดการเที่ยวบินขึ้นลง ในช่วงที่เช้าหนาแน่น แต่จะทำอย่างไรให้สายการบินใช้สนามบิน ทอท.มากขึ้น

“สมัยผมเคยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาธุรกิจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้บริหารสายการบินซึ่งต้องการจะมาลงจอดประจำช่วงเวลา 14.00-15.00 น. จากนั้นต้องจอดเครื่องไว้นานกว่า 10 ชั่วโมงกว่าจะได้บินกลับ ทางสายการบินจึงเสนอขอเปลี่ยนเวลาไปบินช่วงที่มีเที่ยวบินขึ้น-ลง ไม่หนาแน่น แต่มีเงื่อนไขขอให้ ทอท.ลดค่าจอดเครื่องได้หรือไม่”

“ตอนนี้ผมเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แล้ว ก็จะเข้าไปทำเรื่องการกระจายความถี่เที่ยวบินเพื่อเพิ่มปริมาณการจราจรจากสายการบินให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องดูข้อจำกัดว่าต้องแก้ไขหรือปลดล็อกอะไรได้บ้าง โดยสายการบินกลุ่มเป้าหมายมีทั้งที่ต้องการเปลี่ยนตารางเวลาบินเข้า-ออก เป็นช่วงหลังตีหนึ่งหรือตีสองก็มีอีกเป็นจำนวนมาก”

ดร.นิตินัยยืนยันว่ากลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะช่วยเพิ่มรายได้จากการบินเข้า ทอท.เติบโตมากขึ้น
 
ทอท.งัดกลยุทธ์ใหม่ลงทุนทำตลาดโหมโฆษณา

          ช่วยธุรกิจในทุกสนามบินขายของเพิ่มส่วนแบ่ง

         สำหรับรายได้เชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจร้านค้าในสนามบินแต่ละแห่งมีความพร้อมเรื่องเงินทุนทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ไม่เดือดร้อน แต่ผมจะต้องดูแลผู้ประกอบการรายเล็กที่อยู่ในสนามบินภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีรายได้ตามยถากรรม นักท่องเที่ยวไม่มาก็รายได้น้อยหรือขาดทุน

            สิ่งที่ต้องทำคือ ทอท.ต้องเข้าไปช่วยทำการตลาด ทำโฆษณาให้กับผู้ประกอบการรายเล็กตามสนามบินต่าง ๆ เพราะผลที่จะตามมาหากผู้ประกอบการร้านค้ามีรายได้เพิ่ม ทอท.จะก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มตามขึ้นไปด้วย

            จึงเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะสร้างความเข้มแข็งทางรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสนามบินทั้ง 6 แห่ง

จับเข่าคุยธนารักษ์หนุนดอนเมืองแนวใหม่

หลังอยู่กับเงื่อนไขการค้าแบบเก่ามา100ปี

ส่วนพื้นที่ภายในสนามบินนานาชาติดอนเมือง ที่อยู่ระหว่างเสนอใช้พื้นที่คลังสินค้า (Cargo) ก่อนหน้านี้เมื่อช่วง5-6 ปีก่อนหลายฝ่ายพยายามผลักดันให้ปรับอาคารผู้โดยสารเป็น ฟรีโซน ศูนย์การแสดงสินค้าและศูนย์ซ่อมอากาศยานของประเทศ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลขณะนั้นประกาศให้ปิดใช้สนามบินดอนเมือง แต่วันนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปแล้วเมื่อรัฐบาลอีกยุคให้นำดอนเมืองกลับมาใช้เป็นสนามบินบริการเที่ยวบินของสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost) จนกระทั่งขีดความสามารถในการรองรับขณะนี้มีผู้โดยสารใช้บริการเกือบเต็มศักยภาพแล้วปีละ 20 ล้านคน

            สิ่งที่ผมจะทบทวนการใช้พื้นที่ที่ยังว่างอยู่ในสนามบินดอนเมือง เรื่องแรก ทบทวนการใช้ประโยชน์เพื่อทำให้เกิดมูลค่ากับประเทศ เพราะที่ดินดอนเมืองเป็นที่ราชพัสดุเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ในทางกฎหมายการเวนคืนได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะนำมาทำสนามบินและกิจการเกี่ยวเนื่องกับสนามบิน ประเด็นนี้สำคัญมากต้องขีดเส้นการพัฒนาให้ชัดด้วยว่ากิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบินนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อจำกัดของสนามบิน

            จากนั้นผมจะไปเจรจากับกรมธนารักษ์เพื่อตกลงการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์ให้ตรงกันก่อนจะลงมือทำ เช่น โรงแรมซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสนามบินจะเข้าข่ายธุรกิจหรือเงื่อนไขใดต้องทำให้โปร่งใสชัดเจนทั้งหมด

ลุยดีไซน์พื้นที่ค้าขายเชิงรุกสุวรรณภูมิเฟส2

เทียบชั้น “อินชอน” เกาหลีใต้ใช้พื้นที่คุ้มค่า

            ดร.นิตินัยกล่าวถึง แนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เฟส 2 ที่ได้รับอนุมัติให้เริ่มเดินหน้าได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไปนั้น ประเด็นการออกแบบพื้นที่จำหน่าย ซึ่งมีทั้งร้านค้าพาณิชย์ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ร้านค้าปลอดอากรต่าง ๆ ในอนาคต ทอท.มุ่งเน้นเปิดบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะทำไม่ได้เต็มที่ แตกต่างจากผู้ประกอบการรายใหญ่มีความพร้อมให้บริการเต็มที่ จึงต้องพิจารณาว่า ทอท.ควรจะจัดสรรสัมปทานให้รายใดบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ด้วยตามหลักธรรมมาภิบาล  

โดยจะให้น้ำหนักความสำคัญมากกับเรื่องการออกแบบอาคารผู้โดยสารในสนามบินที่กำลังอยู่ระหว่างขยายลงทุน ทั้งที่สุวรรณภูมิและภูเก็ต การออกแบบมีความสำคัญมากตั้งแต่แรก จะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดระหว่างการออกแบบใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ระหว่างสนามบิน 2 แห่ง

แห่งแรก สุวรรณภูมิ ของประเทศไทย มีพื้นที่รวม 560,000 ตารางเมตร แต่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ 36,000 ตารางเมตร ใช้ประโยชน์เพื่อการค้าจริง ๆ เพียง 20,000 กว่าตารางเมตร

แห่งที่ 2 สนามบินนานาชาติอินชอน เกาหลีใต้มีพื้นที่ 496,000 ตารางเมตร เล็กกว่าสุวรรณภูมิ แต่อินชอนมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ถึง 166,000 ตารางเมตร มากกว่าไทยถึง 5 เท่า

นั่นคืออินชอนออกแบบสนามบินโดยทำเป็นสนามบิน Open Gate ส่วนสุวรรณภูมิออกแบบสนามบินทำเป็น Close Gate คือใช้พื้นที่เพื่อผู้โดยสารผ่านจุดตรวจตามมาตรฐานการเข้า-ออก โดยมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ไม่มาก ส่วนที่เหลือก็ทำเป็นเดินตรงไปขึ้นเครื่องบินอย่างเดียว จนผู้โดยสารรู้สึกเบื่อเพราะไม่มีอะไรระหว่างทางเดินไปยังห้องพักโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง

ในขณะที่สนามบินอินชอน ออกแบบให้นำจุดตรวจผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินไปไว้ตรงประตูก่อนทางขึ้นเครื่องบิน จึงสามารถนำพื้นที่มาทำเป็นร้านค้าให้ผู้โดยสารได้เดินอย่างเพลิดเพลินเจริญตาไปด้วย เป็นการออกแบบอาคารผู้โดยสารของอินชอนที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าเชิงพาณิชย์ได้มากมายกว่า 50 % แตกต่างจาก ทอท.มีรายได้เชิงพาณิชย์ไม่ถึง 40 %

ดังนั้นสิ่งที่ผมจะต้องหารือกับคณะกรรมการ ทอท.และฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกี่ยวกับการเสนอแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และ สนามบินอื่น  ๆ นั้นจะต้องเห็นตรงกันถึงการออกแบบขยายอาคารผู้โดยสารและการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความรอบคอบที่จะไม่ต้องกระทบกับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของผู้ใช้บริการทุกภาคส่วนทั้งเรื่อง Safety และ Security ของสนามบินที่จะต้องปฏิบัติตามหลักสากลควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่ขายของเพียงอย่างเดียว

ส่วนการจัดพื้นที่ภายในสนามบินของไทยในอดีตที่ผ่านมา การจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการอาจจะไม่เหมาะสมบ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำจากนี้ไปคือประเมินผลก่อนว่าภายใต้พื้นที่ใช้สอยที่มีข้อจำกัดนั้น ทอท.ควรจะดูด้วยว่าธุรกิจประเภทไหนมีผลตอบแทนสูง คุ้มค่า มีมูลค่าสูง และ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรการความปลอดภัย ควรจะตั้งอยู่ในบริเวณที่มีผู้โดยสารอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนกิจการประเภทที่ให้ผลตอบแทนต่ำมีมูลค่าไม่มากนักควรจะอยู่ในที่สงบแล้วใช้วิธีทำป้ายโฆษณา บอกทางแก่ผู้ที่ต้องการใช้บริการก็ได้

เป้าหมายซึ่งเป็นความท้าทายที่จะทำให้ ทอท.เป็นแกนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโต ต้องพึ่งพาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาการบินด้วย หัวใจสำคัญคือวางกลยุทธ์เพิ่มรายได้ทั้งจากการบินและเชิงพาณิชย์ให้ได้เต็มศักยภาพ

“กรณีรายได้เชิงพาณิชย์ ช่วงชั่วโมงหนาแน่นมีเที่ยวบินใช้บริการมากถึง 50 เที่ยว/ชั่วโมง หากเกลี่ยจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลงในสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพแล้ว จะสามารถเพิ่มการรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นได้อีกถึงปีละ 75,000 เที่ยว ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้เกี่ยวเนื่องด้วยนั่นคือ ค่าบริการนำเครื่องขึ้น-ลง ค่า PSC และ ค่าลานจอด ยังไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายสินค้า อาหาร ช็อปปิ้ง ภายในสนามบิน และ การท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ ที่ ทอท.สามารถช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตควบคู่กับการขยายสนามบินนานาชาติได้”

ทั้งหมดเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำ “ทอท.” คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่จะเปลี่ยนแปลงประตูเข้า-ออก ของประเทศให้มีทั้งคุณค่าและมูลค่ากับเศรษฐกิจ รวมถึงการทำให้ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการบินภูมิภาคเอเชียอย่างเข้มแข็งเพื่ออนาคตความเป็นอยู่ที่มั่นคงของคนไทย

 

ททท.จัด“Maha Songkran World Fest2025”ดันไทยติด1ใน10สุดยอดเฟสติวัลโลก

  ททท.จัดสุดอลังการ“ Maha Songkran WorldFest 2025” ดันไทยติด 1 ใน 10 สุดยอดเฟสติวัลโลก-โกย 2.6 หมื่นล้าน   กระทรวงการท่องเที่ยว กับ ททท...