วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทักษิณ-ประยุทธ์ 2ผู้นำต่างขั้วหัวอกเดียวกันไปไม่ถึงเส้นชัยHUBการบิน



10ปีผู้นำต่างขั้วหัวอกเดียวกันประยุทธ์-ทักษิณ

ฝันไทยขึ้นฮับท่องเที่ยว-การบิน-สุขภาพเอเชีย

 เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : (คอลัมนิสต์ และ เจ้าของรายการ "รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์" FM 97.0 MHz.สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และ โซเชียลมีเดีย www.facebook.com/penroong yaisamsen )

ทบาทของ นายกรัฐมนตรีไทย  ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเวลาห่างกัน 10 ปี ซึ่งมีหลักการดำเนินนโยบายทางการเมืองต่างขั้วกัน ระหว่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี  คนปัจจุบัน กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2548   

ทว่าปรากฎการณ์ที่เห็นเด่นชัดของสองผู้นำยุคอดีตและปัจจุบัน ใจตรงกันคือต่างก็ใช้สูตรสำเร็จการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเน้นการพึ่งพาจุดแข็งและจุดขายศักยภาพของประเทศ ภายใต้นโยบายการผลักดันเรื่องเดียวกันในการทำให้ประเทศไทยเป็น HUB” กับ “Cluster” ทางด้านการตลาด การค้า การลงทุน ของภูมิภาคเอเชีย  ด้วย 3  กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยว (Tourism) การขนส่งทางอากาศ (Aviation) และ สุขภาพองค์รวม  (health &  Wellness) ใช้เครื่องมือการลงทุนพัฒนาโครงข่าย ดิจิตอลหรือเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นสะพานเชื่อมสายหลักให้ทั้งสามกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยผงาดขึ้นเป็นฮับเอเชีย

ทั้งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และอดีตนายกฯ ทักษิณ พุ่งเป้าทำแนวเดียวกันคือ จัดระเบียบ หมวดอุตสาหกรรมมัดรวมเป็นกลุ่มเรียก Cluster ไปพร้อมๆ กับการรวมแหล่งสินค้าเป็น ศูนย์กลางเรียก HUB พาประเทศไปสู่จุดหมายเดียวกันคือเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียนและเอเชียเหมือน ๆ กัน 

            เมื่อ 10 ปีก่อนรัฐบาล ทักษิณ ประกาศนโยบายเดินหน้าประเทศไทยเป็น HUB ครบวงจร โดยเท หน้าตักขอใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท ปูพรมสร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project อาทิสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เปิดประตูเศรษฐกิจบานใหญ่เชื่อมโยงการค้าการท่องเที่ยวกับตลาดโลก  และเป็นยุคเปลี่ยนแปลงอุตสากรรมขนส่งทางอากาศครั้งใหญ่จากการให้กำเนิด สายการบินต้นทุนต่ำขายตั๋วโดยสารราคาประหยัด (low cost airlines) ควบคู่กับการเดินหน้าอภิมหาโปรเจ็กต์รื้อโครงสร้างโลจิสติกส์ภาคขนส่งจาก “ทางถนน” มุ่งสู่ ระบบราง ทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคการเกษตร

เป้าหมายขณะนั้นหวังผลเชิงเศรษฐกิจในอนาคต 3-5 ปีนับจากวันเริ่มต้นโครงการ จากรายได้การท่องเที่ยวเพิ่มเฉลี่ยปีละ 8-10 % เพิ่มขีดความสามารถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิให้รองรับนักเดินทางในอนาคตได้ปีละ 60 ล้านคนขึ้นไป และเพิ่มการขนส่งสินค้าทางอากาศกระจายการส่งออกสินค้าและนำเข้า ได้ปีละกว่า 3 ล้านตันขึ้นไป ส่วนระบบรางเมื่อแล้วเสร็จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางการค้าของประเทศจากปีละประมาณ 20-23 % ลงเหลือไม่เกิน 12 % เพื่อสร้างสมดุลราคาขายสินค้าในตลาดแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ผ่านมาถึงปีนี้ พ.ศ.2558 รัฐบาล “พลเอกประยุทธ์” ก็ยังคงประกาศใช้งบประมาณใกล้เคียง 3 ล้านล้านบาท ทุ่มเทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ทั้งระบบทั่วประเทศ โดยยืนหยัดเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันประเทศไทย สร้างความเท่าเทียมลดเหลื่อล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และให้น้ำหนักความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่าน “ตลาดการบริโภค” จากระบบดั้งเดิมแยกส่วนซึ่งไทยมีเพียง 70 ล้านคน ก้าวเข้าระบบใหม่ปรับสู่การรวมศูนย์เป็นตลาดเดียวกันทั้งอาเซียนที่มีกำลังซื้อมากถึง 600 ล้านคน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพลเอกประยุทธ์ ได้สร้างความฮือฮาอีกเรื่อง โดยมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการ “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย” วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย 10 กลุ่ม โดยยึด 3 กลุ่มไว้เป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งและการบิน กลุ่มอุตสาหกรรม  การแพทย์และสุขภาพ ส่วนที่เหลือเป็นอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ อุตยานยนต์แห่งอนาคต กลุ่มอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มอาหารแห่งอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่   กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานเคมี อุตสาหกรรมดิจิตอล  

            มติ ครม.ครั้งนี้รับลูกต่อหลังเหตุการณ์ “พลเอกประยุทธ์” ขึ้นเวทีเป็นประธานปาฐกถาในงาน “อนาคตไทยก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเจ้าภาพจัดพร้อมกับระดมผู้ประกอบการไทยและตัวแทนนักลงทุนนานาชาติรวมกว่า 2,000 คน มานั่งฟังคำอธิบายจากปากผู้นำประเทศโดยตรงถึง “ของขวัญส่งท้ายเก่าต้อนรับปีใหม่” จากรัฐบาลไทยถึงนักลงทุนทุกกลุ่มหากตัดสินใจยื่นขอรับการลงทุนภายในปี 2559 และสามารถทำรายได้ครั้งแรกภายในปี 2560 จะได้รับ “แพกเกจยกเว้นและลดหย่อนภาษี” เพิ่มอีกมโหฬาร

ภายใต้เงื่อนไขการลงทุน 3 แบบ ประกอบด้วย แบบที่ 1 การลงทุนใน “ซูเปอร์ คลัสเตอร์” หมวด อุตสาหกรรมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทำเลที่ตั้งต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตชั้น 9 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แล้วยังได้ท็อปอัพลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 50 % ต่อไปอีก 5 ปี รวมกับรับยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร อีกทั้งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มให้กับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง อาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี และ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ

แบบที่ 2 การลงทุนใน “คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ” ในหมวดอุตสาหกรรมกิจการ เช่น เกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตชั้นนอกรอบบริเวณ 9 จังหวัดเดียวกับกลุ่มซูเปอร์ คลัสเตอร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดหลั่นลงไป ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3-8 ปี และลดหย่อน 50 % เพิ่มเติมอีก 5 ปี

            แบบที่ 3  การลงทุนใน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” 10 จังหวัด 23 อำเภอ 90 ตำบล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เฟสสอง อีก 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เชียงราย กาญจนบุรี นครพนม นราธิวาส โดยรัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีและลดหย่อน 50 % อีก 5 ปี กับ 13 กลุ่มอุตสาหกรรม หนึ่งในกลุ่มนี้มี “กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว” รวมอยู่ด้วย ประกอบด้วย 8 กิจการ คือ1.เรือเฟอร์รี่หรือเรือท่องเที่ยวหรือให้เช่าเรือท่องเที่ยว 2.บริการที่จอดเรือท่องเที่ยว 3.สวนสนุก 4.ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมหรือศูนย์หัตถกรรม 5.สวนสัตว์เปิด 6.พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ 7.ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ 8.ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ

            การที่ “รัฐบาลพลเอกประยุทธ์” เร่งอัดยาแรงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีโดยยอมงัด “แพกเกจภาษีลดแลกแจกแถม” เพื่อ “กระตุ้นเม็ดเงินลงทุน” เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด โดยยังคงยึด “การท่องเที่ยว-การบิน-สุขภาพ” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจประเทศซึ่งปัจจุบันทำรายได้เติบโตตามกลไกธรรมชาติรวมปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท การทุ่มทุนยอมเทหน้าตักออกมาแลกครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลเองก็มีความหวังว่าในอนาคตอันใกล้ตั้งปี 2559 อาจจะทำเงินจากทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท

            ถึงแม้ช่วงเวลาการบริหารของทั้ง 2 รัฐบาลจะห่างกันถึง 10 ปี โดยต่างฝ่ายต่างมีวิธีบริหารและคำอธิบายประชาชนดูเสมือน “ต่างขั้ว” แต่มี “หัวอกเดียวกัน” นั่นคือพยายามดันฝันสุดตัวที่ทุกรัฐบาลพากเพียรทำมานานแต่ยังไม่ผู้นำรัฐบาลคนไหนพาประเทศไปถึงเส้นชัยสักที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ททท.เปิดTTE2025นำไทยสู่ Land of Art Toy เที่ยวเชิงสร้างสรรค์

  ททท.เปิดงาน TTE 2025 ดันไทยเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ Land of Art Toy ททท.ลั่นใช้ TTE2025 นำไทยสู่ Land of Art Toy ปลุกเทรนด์เที่ยวเชิงสร...