ลั่นกติกาเป็นธรรมคัดมืออาชีพไทยแข่งระดับโลก
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : บล็อกเกอร์ #gurutourza #สวท97 #AOT #ดิวตี้ฟรี
ติดตามอ่านได้ในมติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/?p=1403838
ทอท.เคาะแล้วทีโออาร์ดิวตี้ฟรีปี’62 “เปิดสัญญาเดียว 4 สนามบิน” สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต-เชียงใหม่-หาดใหญ่ ให้เวลาเอกชน 5 เดือน ยื่นข้อเสนอดีสุดชิงงานประมูลตั้งแต่วันนี้-10 พ.ค.62 ยันพร้อมใช้ความเป็นธรรมสร้างประโยชน์สูงสุดประเทศ พุ่งเป้าเลือก “ผู้ประกอบการมืออาชีพแข่งระดับโลกได้” ย้ำกุญแจดอกใหญ่อยู่ที่ “ข้อเสนอรายได้ขั้นต่ำคืนรัฐ” ดัชนีชี้ชะตาทุกรายในสนามแข่งครั้งนี้ ส่วน Pick Up Counter อดใจรอเปิดแน่ มิ.ย.นี้
![]() |
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) |
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท.” เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ทอท.ได้ประกาศเปิดขอบเขตการประมูล (TOR) เข้าดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรท่าอากาศยานนานาชาติ (Airport duty free) โดยกำหนดรูปแบบเป็น สัญญาเดียว หรือ Master Concessionaire พร้อมทั้งรวมพื้นที่ภายในท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลไว้ในสัญญาเดียวกันทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 อนุมัติให้ดำเนินการตามข้อเสนอของฝ่ายบริหารด้วยรูปแบบวิธีการดังกล่าว
หลังจากการเปิดรับฟังพร้อมทั้งได้รวบรวมความเห็นจากหลายองค์กรมาประมวลผลเรียบร้อยแล้ว โดยมีบางความเห็นเสนอขอให้ ทอท.พิจารณาเลือกใช้วิธีเปิดประมูลพื้นที่ขายแบบแยกตามหมวดสินค้า (catergory consesions) ก็ตาม แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับภาพรวมทั้งทางด้านศักยภาพของประเทศในการแข่งขันระดับเวทีโลก การยกระดับยอดขายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับในระยะยาวอย่างเหมาะสม รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการถึงความไม่แน่นอนของปริมาณผู้โดยสารผ่านเข้าออกพื้นที่แต่ละโซนในอนาคตของแต่ละสนามบิน เนื่องจากสายการบินเปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารและการเข้าจอดซึ่งปรับตามความเหมาะสม
การกำหนดทีโออาร์เปิดประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินของ ทอท.ปี 2562 โดยเลือกแบบสัญญาเดียวจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระยะยาว ส่วนเหตุปัจจัยในการนำพื้นที่ทั้ง 4 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ มารวมไว้ในสัญญาเดียว เพราะโจทก์ใหญ่ ทอท.ต้องการผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งสามารถก้าวไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้ จึงต้องคำนึงถึงการทำยอดขายแต่ละสนามบินและทำให้เอกชนผู้ชนะการประมูลใช้สิทธิ์ในการต่อรองกับเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก เพื่อกระจายพื้นที่วางขายแบรนด์เนมอย่างทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้นทำยอดขายร้านค้าดิวตี้ฟรีได้สูงสุดปีละกว่า 82 % ของทั้งหมด ส่วนภูเก็ตทำได้เพียงปีละ 12 % เฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 ล้านบาท เชียงใหม่ทำได้ 6 % หาดใหญ่มียอดขายน้อยที่สุดปีละ 0.04 %
ดร.นิตินัยกล่าวว่า กลไกสำคัญของผู้ประกอบการซึ่งสนใจยื่นประมูลทำธุรกิจดิวตี้ฟรีสนามบินตามทีโออาร์ปี 2562 นั้น เชื่อมั่นผู้ประกอบการทุกรายมีศักยภาพความสามารถทัดเทียมกัน ทอท.จึงขอติดกระดุมเม็ดแรกด้วยการใช้วิธีคัดเลือกอย่างเป็นธรรมเพื่อทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นธรรมด้วย เพียงแต่เอกชนแต่ละรายต้องมั่นใจขีดความสามารถของตนเอง ระหว่างการยื่นแข่งขันประมูลช่วงเสนอรายได้ผลตอบแทนรัฐขั้นต่ำการประกอบธุรกิจ หรือ minimum guarantee นั้น ควรคำนวณให้สอดคล้องตามสถานการณ์ที่ประเทศควรได้รับอย่างสมศักดิ์ศรี เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถของผู้ประกอบการรายนั้น ๆ เอง หากเอกชนมั่นใจในฝีมือและความสามารถการพัฒนาดิวตี้ฟรีในสนามบินของประเทศ และพร้อมจะสร้างการเติบโตนำพาไทยแข่งขันกับทั่วโลกได้ ทอท.ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ก็พร้อมสนับสนุนตามเงื่อนไขกติกาอย่างเต็มที่ทุกรายเช่นกัน
สำหรับกรอบเวลาให้ยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมชิงการประมูลพื้นที่ดำเนินธุรกิจร้านค้าดิวตี้ฟรีในสนามบิน ทอท.ทั้ง 4 แห่ง เริ่มประกาศทีโออาร์ให้เอกชนผู้สนใจซื้อซองได้ภายในระยะเวลา 50 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม -10 พฤษภาคม 2562 จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 สอดรับกับสัญญาสัมปทานปัจจุบันทั้ง 4 สนามบิน จะสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2563
ดร.นิตินัยกล่าวถึงการเปิดประมูลสัญญาสัมปทาน “จุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี : Pick Up Counter สนามบิน” ปลดล็อกให้ผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรีเสรีในเมือง (Downtown duty free) เป็นอิสระในการค้าขายและส่งมอบสินค้าอย่างสะดวกนั้น เตรียมประกาศทีโออาร์ภายในเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากประกาศผลผู้ชนะการประมูลดิวตี้ฟรีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะกำหนดเงื่อนไขกติกาจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรีแบบเปิดกว้างมากที่สุด เป็นการปลดล็อกเรื่องการผูกขาดหรือใช้บริการได้เพียงรายเดียวคือผู้ชนะการประมูลเท่านั้น ต่อไปผู้ประกอบการรายอื่นก็ต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย
ทั้งนี้ ทอท.มีพัฒนาการปรับปรุงทีโออาร์เกี่ยวกับจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรีสนามบิน มาตั้งแต่ปี 2555 นำร่องที่ท่าอากาศยานภูเก็ต ทำระบบให้สัมปทานพื้นที่บริการร่วมหรือ Common use เข้ามาใช้อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรีในเมืองซึ่งต้องการส่งสินค้าผ่านสนามบินให้แก่ผู้ซื้อที่เดินทางต่างประเทศทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น