วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เปิดแฟ้มคดี“การบินไทย”สิ้นปี’62ก่อนล้มละลาย ผงะ!!ไทย-ต่างชาติไล่ฟ้องทั้ง“แรงงาน-ภาษี-การค้า”


Ep.Special : การบินไทย
เปิดแฟ้มคดี“การบินไทย”สิ้นปี’62ก่อนล้มละลาย
ผงะ!!ไทย-ต่างชาติไล่ฟ้องทั้ง“แรงงาน-ภาษี-การค้า”

ค้างจ่ายหนี้ทอท.ทั้งสารพัดค่าบริการกว่า6พันล้าน

เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza #รายการรวยด้วยข่าวเสาร์อาทิตย์FM97 #การบินไทยมีคดีเพียบก่อนล้มละลาย



บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนจะเข้าสู่ “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย” เพื่อฟื้นฟูกิจการ ได้ระบุเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ในรายงานประจำปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยมีเรื่อง “คดีที่ถูกฟ้องอยู่ในศาล” คาราคาซังอยู่เพียบ หลัก ๆ มีดังนี้

🎀 คดีที่ 1 การบินไทยโดนฟ้องเป็นจำเลยในคดีพิพาทแรงงาน  13 คดี วงเงินประมาณ 103.56 ล้านบาท และถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยคดีถูกเรียกค่าเสียหายในประเทศและต่างประเทศรวมวงเงินประมาณ 403.66 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 สำนักงานสาขาพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีภาษีที่ถูกประเมินเพิ่มจาก สรรพากรราชอาณาจักรกัมพูชากรณีการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ส าหรับปี 2560 โดยประเมินจากภาษี 3 ประเภท ได้แก่ 1.Tax on Profit 2.Specific Tax และ 3.Withholding Tax รวมภาษีที่ถูกประเมินเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 79.80 ล้านบาท ทางบริษัทได้ทำหนังสือโต้แย้งการประเมินดังกล่าวผ่านที่ปรึกษาภาษี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมสรรพากร ราชอาณาจักรกัมพูชา

🎀 คดีที่ 2 บริษัทเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรได้รับหนังสือขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง จากกรมศุลกากร ที่ กค 0503(4)/621 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความครบถ้วนของใบอนุญาตนำอาหารเข้ามาใน ราชอาณาจักร สำหรับสินค้าที่ควบคุมการนำเข้า โดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้ประเมินค่าภาษีอากรที่ขาดตามใบขนสินค้าขา เข้า 252 ฉบับ แล้วพบว่า ราคาสินค้า 492.73 ล้านบาท อากรขาเข้า 244.36 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 754.47 ล้านบาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 75.45  ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม109.69 ล้านบาท เงินบำรุงสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 14.91 ล้านบาท และเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่ง ประเทศไทย 11.18 ล้านบาท บริษัทได้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมให้กรมศุลกากรเพื่อประกอบการพิจารณา ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมศุลกากร

🎀 คดีที่ 3 ความคืบหน้าคดีละเมิดกฎหมายป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Antitrust) มีรายละเอียดคดีหมวดนี้ ประกอบด้วย

🌐 คดีแรก - กรณีการบินไทยถูกสายการบิน British Airways ซึ่งเป็นจำเลยคดี Cargo Civil Case ในอังกฤษ ร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ยบริษัทและสายการบินอื่น ๆ  อีกกว่า 20 สายการบิน พร้อมทั้งถูกสายการบิน British Airways ซึ่งเป็นจำเลยหลัก ในคดีแพ่งที่อังกฤษ ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยบริษัทตาม Part 20 แห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความประเทศอังกฤษ สืบเนื่องจากการที่สายการบิน British Airways ถูกกลุ่มโจทก์ฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกำหนดราคา ค่าธรรมเนียมพิเศษ (Fuel Surcharge และ Security Surcharge) ในอังกฤษ

ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายเข้า เจรจาประนีประนอมยอมความโดยวิธีการไกล่เกลี่ย กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 คู่ความทุกฝ่ายได้เข้าทำสัญญา ประนีประนอมยอมความกันแล้ว โดยไม่มีการยอมรับผิดตามข้อกล่าวหาของโจทก์และ British Airways แต่อย่างใด หลังจากนี้ โจทก์และสายการบิน British Airways จะร่วมกันแจ้งการประนีประนอมยอมความและยุติคดีต่อศาล    

โดยสายการบินทั้งหมดที่ถูกสายการบิน British Airways ใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเช่นเดียวกับบริษัทได้ ดำเนินการเจรจาประนีประนอมในลักษณะเช่นเดียวกัน  

🌐 คดีที่สอง  -กรณีบริษัทถูกฟ้องในคดี Cargo Civil Case ในสาธารณรัฐเกาหลี    เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 บริษัทได้รับแจ้งจากสำนักงานสาขาของบริษัทในเกาหลีว่า  กลุ่มบริษัทแอลจี ได้แก่ LG Chemical, LG Electronics, LG Display และ LG Life Science ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อสายการบิน  12 ราย รวมทั้งการบินไทยด้วย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการร่วมกันกำหนดราคา Fuel Surcharge ระหว่างสายการบินต่าง ๆ ช่วงระหว่างปี 2542 - 2550 โดยกลุ่มบริษัทแอลจีได้ระบุจำนวนทุนทรัพย์ในคำฟ้อง เป็นเงิน 404,000,000 วอน พร้อมดอกเบี้ย หรือประมาณ 12 ล้านบาท และได้สงวนสิทธิในการแก้ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์หากกลุ่มบริษัทแอลจีสามารถพิสูจน์ได้ในภายหลัง ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล   

🌐 คดีที่สาม - กรณีบริษัทถูกสายการบิน British Airways สายการบิน Lufthansa และสายการบิน KLM-AF ซึ่งเป็น จำเลยในคดี Cargo Civil Case ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ย เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2558 การบินไทยได้รับคำร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ย (Contribution Claim) จากสายการบินต่าง ๆ ดังนี้ คือ British Airways , Deutsche Lufthansa และ Lufthansa Cargo A.G. (รวมเรียกว่า “Lufthansa”) และสายการบิน Koninklijke Luchtvaart Maatschappij N.V., Martin Air Holland N.V., Societe Air France S.A. (รวม เรียกว่า “KLM-AF”) โดยสายการบินเหล่านี้ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อการบินไทยและสายการบินอื่น ๆ  อีกกว่า 20 สายการบิน

จากกรณีที่กลุ่มโจทก์ได้ฟ้องสายการบิน British Airways, Lufthansa, KLM-AF และ Singapore Airlines และ Singapore Airline Cargo (รวมเรียกว่า “Singapore Airlines”) เป็นจำเลย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 โดยกล่าวหาว่า สายการบินเหล่านี้ร่วมกันกำหนดราคาค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (คดีหลัก) แต่การบินไทยไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีหลักด้วย

หลังจากนั้น สายการบิน British Airways, Lufthansa และ Swiss International, KLM-AF, Korean Airlines และ Qantas Airways ซึ่งเป็นคู่ความในคดี Contribution Claim ได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ยการบินไทยเพิ่มเติมเป็นอีกคดีหนึ่งต่อจากคดี Contribution Claim ข้างต้น (หรือเรียกว่า Sub Contribution Claim) ซึ่งทางการบินไทยได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ยในลักษณะ Sub Contribution Claim นี้ ต่อทุกสายการบินเช่นกัน เพื่อเป็นการสงวนสิทธิของการบินไทย

ทั้งนี้การฟ้องคดีแบบ Contribution Claim และ Sub Contribution Claim  เป็นการฟ้องคดีเพื่อรักษาสิทธิในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้แต่ละสายการบินชำระค่าเสียหายเกินสัดส่วนทางการตลาดของตนเท่านั้น ไม่ใช่การฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมแต่อย่างใด 

อีกทั้งช่วงเดือนธันวาคม 2559 - มกราคม 2560 การบินไทยได้รับคำร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ย (Contribution Claim) จากสายการบิน British Airways, Lufthansa และ KLM-AF โดยสายการบินเหล่านี้ได้ยื่นคำร้อง ดังกล่าวต่อการบินไทยและสายการบินอื่น ๆ อีกกว่า 20 สายการบิน จากกรณีที่มีโจทก์กลุ่มใหม่ได้ฟ้องสายการบิน British Airways, Lufthansa, KLM-AF และ Singapore Airlines เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ตามข้อกล่าวหาลักษณะเดียวกัน กับคดีหลักคดีแรก ซึ่งบริษัทไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีหลักนี้แต่อย่างใด
ปัจจุบันทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยข้างต้น ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

🎀 คดีที่ 4 สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง  

สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จ ากัด (มหาชน) กับ การบินไทย สัญญาที่ 3-08/2552 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2553 มีกำหนดอายุสัญญา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2552 ถึง วันที่ 27 กันยายน 2555 ได้พ้นระยะเวลาการได้รับอนุญาตจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จ ากัด (มหาชน) “ทอท.” เรื่องให้การบินไทยเช่าพื้นที่ และประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

ดังนั้นการบินไทยจึงอยู่ระหว่างการเจรจากับ ทอท. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข อัตราค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการที่จะกำหนดในสัญญาฉบับใหม่ ทางการบินไทยระบุว่าได้ชำระค่าเช่าพื้นที่และผลประโยชน์ตอบแทนฯ ตามอัตราที่ระบุในสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญา อนุญาตให้ประกอบกิจการฉบับเดิม

แต่ทาง ทอท.ขอสงวนสิทธิ์พิจารณาปรับค่าเช่า พื้นที่และค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเพิ่มขึ้น หากผลการพิจารณาการปรับเพิ่มค่าเช่าพื้นที่และค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำแล้วเสร็จและมีอัตราสูงกว่าอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาฉบับเดิม หรือหนังสือของ ทอท.ที่แจ้ง ขยายอายุสัญญา

ขณะเดียวกัน ทอท.ยังเป็นเจ้าหนี้การบินไทย ยอดรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีมูลค่าหนี้สูงถึง 6,432.68 ล้านบาท จากการให้การบินไทยประกอบการ และเช่าพื้นที่ตามสนามบินต่าง ๆ เพื่อใช้จอดเครื่องบิน ขนถ่ายสินค้า เก็บอุปกรณ์ภาคพื้นดิน เก็บตู้คอนเทนเนอร์ ใช้พื้นที่ทำสำนักงานสายการบิน และบริการอื่น ๆ

เส้นทางของ "การบินไทย" มีวิกฤตเรื่องคดีต่าง ๆ เป็นปัญหา คาราคาซังสั่งสมมากมายก่อนจะล้มละลายกับคู่กรณีทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้คนไทยเองพร้อมเอาใจช่วยสายการบินแห่งชาติ เพียงแค่ขอให้รัฐบาล "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ใช้โอกาสนี้กล้า ๆ ตัดสินใจผ่าตัดใหญ่ ทำทุกอย่างใน "การบินไทย" ให้ใสสะอาดจริง ๆ  ซะที!!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ททท.เปิดTTE2025นำไทยสู่ Land of Art Toy เที่ยวเชิงสร้างสรรค์

  ททท.เปิดงาน TTE 2025 ดันไทยเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ Land of Art Toy ททท.ลั่นใช้ TTE2025 นำไทยสู่ Land of Art Toy ปลุกเทรนด์เที่ยวเชิงสร...