โจทก์ใหญ่“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ”ปี’59
หนุนสินค้าแบรนด์ไทยหรือเอาใจแบรนด์นอก
ปี 2559 เป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยเห็นทางรอดพึ่งพาได้เหลืออยู่เสาหลักเดียวคือ
“รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ทำให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี
ผู้คุมบังเหียนฝ่ายเศรษฐกิจประเทศในรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกโรงระดมสรรพกำลังภาครัฐและเอกชนทันที
เพื่อขอให้ร่วมมือกันผลักดันนโยบายรายสัปดาห์จัดทำโครงการ “ปลุกกระแสการท่องเที่ยว”
นายสมคิดเปิดเผยเมื่อเร็ว
ๆ นี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจการแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าได้มอบนโยบายเพิ่มโดยขอให้รื้อเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวรวมตลอดปี
2559 ปรับใหม่เป็น 2.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 1.3 แสนล้านบาท
จากเดิมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท.เสนอรัฐบาลไว้เพียง 2.3 ล้านล้านบาท
การขยับตัวเลขเพิ่มก็เพื่อเตรียมนำมาชดเชยรายได้ภาคการส่งออกนั่นเอง
โดยหนุนนำวาระแห่งชาติ “วิถีไทย” อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติเข้ามาเป็นกลไกสนับสนุน
“ผู้ผลิตสินค้าระดับฐานรากในชุมชน” พึ่งรายได้นอกภาคเกษตรขยายสู่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งรวมถึงผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ และการส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมย่ำแย่
ในอีกด้านหนึ่งก็ยังช่วยส่งเสริม “ผู้ประกอบการรายขนาดกลางและขนาดย่อม” (SMEs)
ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์ไทยในกลุ่ม เกษตรและอาหารแปรรูป
แฟชั่น เครื่องหนัง สิ่งทอ หัตถกรรม และอื่น ๆ
ตามที่ “นายสมคิด” รองนายกรัฐมนตรี ให้ ททท.โชว์บทบาทองค์กรผู้นำความเป็นเลิศด้านการตลาด
นำร่องทำโครงการ “สถานีริมทาง :Roadside
Station” คัดเลือกสินค้าจากชุมชนท่องเที่ยวมาวางจำหน่ายในสถานีบริการ
ปตท.ทั่วประเทศ 148 แห่ง และล่าสุดให้เพิ่มอีกโครงการคือ
“1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว” เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนลงพื้นที่จริง ๆ
ทว่าประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตาในขณะนี้คือ บทบาทของ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”
ภายใต้ การกำกับดูแลของ “นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์แต่งตั้งเป็น
“รัฐมนตรีว่าการฯ” ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ดูแลภารกิจในกระทรวงสำคัญซึ่งกุมชะตาเศรษฐกิจประเทศอยู่เกือบทั้งหมดนั้น
เข้าใจบทบาทหน้าที่ผู้นำทัพขับเคลื่อนนโยบาย “สร้างสินค้าแบรนด์ไทย” ในชุมชนท่องเที่ยวและเอสเอ็มอีให้เกิดและเติบโตเป็นรูปธรรมหรือไม่?
รวมถึงเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนรวมกำลังซื้อเป็นตลาดเดียวกันขยายจาก 70 ล้านคน เป็น 680 ล้านคน
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งไหลบ่าเข้าเมืองไทยมากถึงปีละเกือบ
10
ล้านคน บวกกับเป้าหมายเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นปีละกว่า 32 ล้านคนนั้น
กระทรวงฯ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องเข้าไปแก้ไขอุปสรรคปัญหาทั้งเก่าและใหม่เรื่องใหญ่
ๆ ให้ลุล่วงเพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพและรายได้ของประเทศ ด้วยการผลักดันติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดในเรื่องหลัก
ๆ คือ สิ่งอำนวยความสะดวกการเข้าออกประเทศ
มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ป้ายบอกทางภาษาต่าง ๆ มาตรการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว
การกำกับดูแลและการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
จึงถูกตั้งคำถามจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวระดับฐานรากและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายอุตสาหกรรมว่าจนถึงขณะนี้ได้ทำนโยบายที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนต่อเนื่องและยั่งยืนหรือยัง
?
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวซ้ำ
ๆ มาตลอดว่าเคยเสนอรัฐบาลมาหลายครั้งหลายรัฐบาล
ถึงผลกระทบกับประเทศไทยจะเสียมากกว่าได้ ระหว่างการผลักดันนโยบาย
“ยกเลิกภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย” ที่พยายามเปิดทางให้สินค้า “แบรนด์เนม”
ต่างชาติทะลักเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย นอกจากจะไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ในยุคการท่องเที่ยวเบ่งบาน
ยังจะกระทบตลาด “สินค้าแบรนด์ไทย” และ “ธุรกิจเอสเอ็มอี” อย่างรุนแรง ทั้งภาคอุตสาหกรรม
เครื่องหนัง แฟชั่น สิ่งทอ และอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลต้องการพึ่งเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากกำลังซื้อและบริโภคภายในประเทศมากเท่าไร
ก็ยิ่งต้องตระหนักถึง “การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อ”
ด้วยวิธีนำสินค้าแบรนด์ต่างชาติเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น จะสร้างความอ่อนไหวรอบด้าน นอกจากจะไม่ตอบโจทก์กำลังซื้อต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวแล้ว
ประเทศยังสูญภาษีที่จะได้ก่อนเวลาอันควรด้วย
ทั้งนี้มีรายงานว่าผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่บางกลุ่มมีความพยายามหารือกับผู้นำ
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” เสนอรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยจะฉวยใช้จังหวะที่ประเทศไทยจัดมหกรรม
“ไทยแลนด์ แกรนด์ เซลส์ 2016” ซึ่งจะเริ่มระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน
2559 ขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมโดยตั้งสมมุติฐานว่าในเชิงการประชาสัมพันธ์จะเพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายเงินช็อปปิ้งในไทยเพิ่มขึ้น
ในทางกลับกันก็มีเอกชนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า ยุคนี้การขับเคลื่อนขอยกเลิกภาษีฟุ่มเฟือยเหตุใดจึงเปลี่ยนไปพึ่ง
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ซึ่งไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงเป็นช่องทางหลักแทนวิธีเดิม
ๆ ก่อนหน้านี้เคยพยายามเสนอตรงไปยังกระทรวงการคลังต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแต่ไม่ผ่าน
เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องภาครัฐเองก็ต้องประเมินภาระของประเทศว่าจะต้องแบกรับปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกภาษีดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะผู้บริหาร
กระทรวงการคลังหลายยุคก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสมมุติฐานดังกล่าว
นายสมบัตร เดชาพนิชกุล ผู้ช่วยประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
กล่าวว่า ในฐานะที่คิง เพาเวอร์ เป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร (duty Free)
ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าแบรนด์เนมตามกฎหมายไทย โดยมีระเบียบกำกับพร้อมข้อกำหนดชัดเจนต้องจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย
(Inbound) และคนไทยที่เดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ (outbound) เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีกระแสจะเสนอรัฐบาลยกเลิกภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย
นำเข้าสินค้าแบรนด์เนมต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายโดยอ้างเพื่อเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวนั้น
จากผลการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบต่อเนื่องมาตลอด 26 ปี
นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ตัดสินใจเลือกมาท่องเที่ยวเมืองไทยเพราะตั้งใจเดินทางมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม
ส่วนใหญ่มาด้วยเหตุผลเป็นประเทศไทยน่าอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม
คนไทยอัธยาศัยไมตรีเป็นมิตร และมีความหลากหลายของวิถีไทยในชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ
โดยเฉพาะ “สินค้าแบรนด์ไทย” ปัจจุบันกลุ่ม คิง เพาเวอร์
ส่งเสริมการจ้างเอสเอ็มอีชุมชนผลิตอย่างมีดีไซน์ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล แล้วเปิดพื้นที่ให้นำมาวางขายในดิวตี้ฟรีสาขาต่าง
ๆ ทั้งในเมืองและสนามบินทั่วประเทศ สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นโดยมีส่วนแบ่งรายได้ปีละ
8-12 % ของยอดรวมทั้งหมด สูงกว่ายุคแรกที่ทำได้เพียง 1-5 % สะท้อนถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหันมานิยมสินค้าไทยทั้งผลิตภัณฑ์อาหารไทยแปรรูป
สำเร็จรูป วัตถุดิบเครื่องปรุงบรรจุภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุง แฟชั่นเสื้อผ้าไทยภาคต่าง
ๆ
รวมทั้งการเปิด คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในเมือง สาขาใหม่ล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ต
ได้ลงทุนสร้างอาคารจำหน่ายสินค้าแบรนด์ไทยครบวงจรโดยเฉพาะ
สนับสนุนวิถีไทยซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระตุ้นนักท่องเที่ยวทั่วโลกหันมาใช้สินค้าไทยอย่างแพร่หลายและขยายผลนำไปบอกต่อเพื่อนฝูง
ครอบครัว ญาติพี่น้อง เมื่อเดินทางมาเที่ยวให้ซื้อกลับไปฝากในครั้งต่อไป
เพราะสินค้าไทยล้วนมีคุณค่าและรากวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นมีเรื่องราวงดงามมากมาย
ปี 2559 นโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์พุ่งเป้าปลุกกระแสสร้างความภาคภูมิใจในวิถีไทย
มุ่งเน้นให้คนไทยและนานาประเทศซื้อสินค้าแบรนด์ไทย แล้ว
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” รู้หน้าที่เข้าใจบทบาทการกำกับดูแลท่องเที่ยว
และ/หรือได้สานต่อนโยบายเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งสมกับที่ผู้นำรัฐบาลไว้วางใจให้ดูแลกระทรวงเสาหลักเศรษฐกิจประเทศแล้วหรือยัง
?
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น