สตาร์ตอัพ !การบินแห่งชาติยุคใหม่ คสช.
จับตาแผน“การบินไทย” รัก “แอร์เอเชียเท่าฟ้า”
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : rakdeethai@gmail.com
ประโยคบอกเล่าพร้อมกับการเดินหน้าเชิงสัญญลักษณ์ของ
“ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องนโยบายพัฒนา “ยุทธศาสตร์การบินแห่งชาติ”
สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเข้าสู่กระแสการลงทุนตามรูปแบบสายพันธุ์ใหม่ในลักษณะ
Start up ที่กำลังได้รับความสนใจ
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559
“ดร.สมคิด”
ได้นำคณะผู้บริหารกลุ่ม Air Asia Berhad
ของมาเลเซีย เข้าพบ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า
คสช.ในฐานะ Air Asia Berhad คือผู้นำการบุกเบิกสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost Airlines) ในภูมิภาคเอเชียและมีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆ ของโลก
ได้เอ่ยปากบอกพลเอกประยุทธ์ถึงความสนใจที่จะ “ผนวกธุรกิจแอร์เอเชีย” เข้ากับ
“การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทย
โดยอ้างอิงเหตุผลที่มีแรงจูงใจอันดีว่ารัฐบาล คสช.จะสามารถมีชัยชนะ (Win Win)
ร่วมกันทุกฝ่ายตามเป้าหมายทางด้านการพัฒนาประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินเอเชีย”
(Asia Aviation Hub) 3 เรื่อง
ประกอบด้วย
เรื่องแรก ยกระดับไทยเป็น
“ชุมทางเที่ยวบินต้นทุนต่ำ”
ระดับประเทศและนานาชาติในอนาคตอันใกล้นี้
หากรับการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มแอร์เอเชียซึ่งพร้อมจะร่วมทุนกับการบินไทยในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่ก็ได้
เรื่องที่สอง “สร้างการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโลยีการตลาดดิจิตอลทางการบิน”
เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงผลสำเร็จในนโยบายที่จะทำให้ “ไทย” เป็นประเทศ “เชื่อมโยงเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนครบวงจร”
(ASEAN
Economic Community Conncetivity) ทั้งอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว เป็นยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเป็นผู้นำรายได้ซึ่งเติบโตจากการลงทุนอนาคตของนักลงทุนในตลาดโลกกำลังเคลื่อนย้ายมาปักหลักยังภูมิภาคเอเชีย
เรื่องที่สาม
“ตอกย้ำไทยเป็นประเทศน่าลงทุนในสายตาต่างชาติ” โดยผู้บริหารกลุ่ม Air Asia
Berhad เติมยาหอมระหว่างเข้าพบผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า
คสช.ด้วยข้อเสนอจะย้ายฐานกลุ่มแอร์เอเชียจากแอร์เอเชียอินโดนีเซียมาผนวกรวมกับไทยแอร์เอเชีย
ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนถูกต้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
หากพิจารณาการ “ผนึกรวมยุทธศาสตร์การบิน” ระหว่างกลุ่ม Air Asia Berhad กับ “การบินไทย”
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับสายการบินแห่งชาติ ในปี 2559 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 56 ด้วยสภาพธุรกิจสะบักสะบอมจากผลการดำเนินงาน “ขาดทุน”
ต่อเนื่อง 2 ปี ระหว่าง 2557-2558
มูลค่ารวมกันกว่า 4 หมื่นล้านบาท อีกทั้งในช่วงไตรมาสแรก ปี 2559 (มกราคม-มีนาคม)
ก็ยังประกาศได้ไม่เต็มปากเรื่องการพลิกสถานการณ์จากขาดทุนมาทำ “กำไร” หรือไม่ ?
ตามที่ “จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท
การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกได้แต่เพียงกำลังจะมี “ข่าวดี”
จากหลายปัจจัยดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหนี้สิน ทรัพย์สิน และการจัดทัพ
“เส้นทางการบินระหว่างประเทศ”
ครั้งใหญ่อีกระลอกเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเวทีโลก
เมื่อสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาฟื้น “เอเชียแปซิฟิก” และ “ประชาคมอาเซียน”
ติดปีกการเดินทางทั้งทางด้านการลงทุน การท่องเที่ยวและการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน
ขณะที่ภาพรวม “การบินไทย”
ยังคงทำรายได้จากยอดขายตั๋วโดยสารได้เฉลี่ยค่อนข้างจะทรงตัวมาหลายปี เฉลี่ยปีละ 1.8-2.0 แสนล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารใช้บริการ 16-18 ล้านคน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศจำนวนหลายเมือง
ตัวอย่างในเมืองไทย “ไทยแอร์เอเชีย” สามารถใช้ “สนามบินนานาชาติดอนเมือง”
เป็นศูนย์กลางการบินในกรุงเทพฯ บินสู่ทุกภาคของประเทศ และสู่ทุกเมืองเศรษฐกิจ
ควบคู่กับการขยายจุดบินทั่วอาเซียน จีนและเอเชีย
อีกทั้งยังเข้าไปยึดฐานการบินตามหัวเมืองหลัก “4
สนามบินนานาชาติ” ภูเก็ต
เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และหัวเมืองรอง อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี
อู่ตะเภา (ชลบุรี) เปิดเส้นทางบริการบินตรงเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดย่อยในภาคต่าง ๆ
ทั้ง ๆ ที่ “การบินไทย” มีสายการบินลูกทั้ง “ไทยสไมล์” และ
“นกแอร์” ที่การบินไทยมีหุ้นมากเป็นอันดับต้น ๆ ทำหน้าที่เป็น Flighting Brand
ค้ำยันการต่อสู้ทางการตลาดอันร้อนระอุมาตลอด ถึงจะผนวกรวมถึง
3 พลัง
แต่ด้วย “โครงสร้างองค์กร” รูปแบบบริหาร ของการบินไทย ไทยสไมล์ และนกแอร์
ซึ่งต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะ “โตเดี่ยว” ในแบบฉบับเฉพาะตัว จึงทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไม่เร็วเท่าที่ควร
แตกต่างสวนทางจากกลุ่ม “Air Asia Berhad”
ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์แตกแล้วโตด้วยวิธีรวมเป็นหนึ่งเดียวกันขยายฐานลูกค้า
โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่ใช้บริหารฐานการบินในมาเลเซียและไทย ซึ่งใช้แนวทางลงทุนตั้ง
“แอร์เอเชีย” เป็นหัวหอกเปิดบริการเส้นทางบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง
และลงทุนตั้ง “แอร์เอเชีย เอ็กซ์” ทำหน้าที่บุกทะลวงจุดใหม่ในเส้นทางบินเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป
“ดาโต๊ะ โทนี เฟอร์นานเดส”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กลุ่มแอร์เอเชีย
กล่าวมาตั้งแต่วันแรกการเปิดสายการบินว่า หัวใจการทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำคือ
“ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์รอบด้าน” ระบบบริหารจัดการทำงานรวดเร็ว คล่องตัว
คัดสรรทีมบริหารรุ่นใหม่ทำงานแบบมืออาชีพ
เลือกใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นเครื่องมือการตลาด การขาย
และการบินปฏิบัติมาตรฐานความปลอดภัยสากล สร้างคุณภาพบุคลากร
มองเห็นโอกาสทางการตลาดก่อนใคร
ส่งผลให้กลุ่ม “แอร์เอเชีย”
เติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น
และในอนาคตก็ยังจะเพิ่มแรงส่งร่วมกับเครือข่ายสายการบินในแต่ละประเทศต่อไป
ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายประเทศใน “รัฐบาล
คสช.” ของไทย ซึ่งยังต้องพึ่งพา
“รายได้หลักจากการเดินทาง” เพื่อการท่องเที่ยว การเข้ามาแลกเปลี่ยนธุรกิจ ประชุม
สัมมนา การลงทุน และอื่น ๆ จากในและต่างประเทศ
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนจึงต้องให้ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”
ประกาศนโยบายปลุกภาครัฐและเอกชนหันมาร่วมมือกันสนับสนุนอีก 1 นโยบายใหม่
คือ “เร่งสร้างเครือข่ายเส้นทางบินเปิดใหม่ในอาเซียน : Aviation ASEAN Connecitivity” และ ASEAN LINKs ควบคู่กับ ASEAN
PLUS
เปิดเครือข่ายจุดบินใหม่รอบอาเซียนเชื่อมโยงกับอินเดียให้ได้อีกอย่างน้อย 42 จุด
นโยบายที่ปรากฎต่อสาธารณะเรื่องนี้สอดรับกับที่รัฐบาลเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับผู้บริหารกลุ่ม
Air Asia Berhad มาเลเซีย พอดี
จึงนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ Start up ที่น่าจับตา
นโยบายการบินแห่งชาติในยุค คสช.กับเส้นทางการนำพา “การบินไทย” รัก
“แอร์เอเชียเท่าฟ้า” จะราบรื่นสมหวังหรือไม่อย่างไร
ภายในปี 2559
คนไทยจึงต้องติดตามชนิดห้ามกระพริบตาและห้ามพลาดนั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น