ททท.รุกข้ามช็อต“เทศกาลเที่ยวเมืองไทย”
ปี’59แจ้งเกิดโมเดล“ชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน”
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง
ใยสามเสน :rakdeethai@gmail.com
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เตรียมใช้ศักยภาพงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย”
ระหว่างวันที่ 13-17 มกราคม 2559 ณ สวนลุมพินี
ขยายเครือข่ายกลยุทธ์สร้างสมดุลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและทำให้เศรษฐกิจชุมชนคึกคักตลอดทั้งปี
โดยจะกระตุ้นคนไทยเดินทางในประเทศและชาวต่างชาติใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นควบคู่กับกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดจากเป้าหมายรวม
2.3 ล้านล้านบาท
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย |
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
เตรียมกลยุทธ์ทำให้งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2559
สร้างความคึกคักทำให้ผู้เข้ามาร่วมตามเป้าหมายกว่า 600,000 คน ได้ชมสถานที่จำลองแหล่งท่องเที่ยวเด่น ๆ
ของแต่ละภาคทั้ง 77 จังหวัด แล้วรู้สึกรักภาคภูมิใจในความไทยและเกิดการเดินทางสู่สถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นทั่วประเทศต่อเนื่องตลอดทั้งปี
เพิ่มความถี่ เพิ่มการใช้จ่ายเงิน ประการสำคัญสร้างมุมมองใหม่ในเชิงคุณภาพ
โดยร่วมมือกันรักษาวัฒนธรรมประเพณีซึ่งเป็นสินค้าท่องเที่ยวชิ้นเอกของประเทศที่มีอยู่ในเมืองหลักขยายไปสู่เมืองรอง
ตามแผนของ ททท.จะเดินหน้าจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้ว่าราชการจังหวัด
จัดเตรียมชุมชนพร้อมกับทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพิ่มความคึกคักเศรษฐกิจสู่กลุ่มฐานราก
3 โครงการ ได้แก่ โครงการเมืองต้องห้ามพลาด Plus โครงการเขาเล่าว่า 24 แห่ง และ โครงการ
Out Door Fest หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวกลางแจ้ง
ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดขายแตกต่างกัน
ผู้ว่าการ ททท.อธิบายว่า จะนำ
ททท.เพิ่มความเข้มข้นทำกลยุทธ์สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกับองค์กรภาครัฐ
ภาคเอกชนระดับท้องถิ่นและจังหวัด จัดหมวดสินค้าของกินของใช้ในท้องถิ่นโดยนำความโดดเด่นสินค้าทางภูมิศาสตร์
(GI)
เข้ามาเพิ่มจุดขายและประชาสัมพันธ์ซึ่งมีอัตลักษณ์ตามแหล่งผลิตแตกต่างกัน
สามารถเพิ่มมูลค่าราคาขายได้ด้วย
ในช่วงต้นปี 2559 จะนำร่องไฮไลต์เพื่อปลุกอารมณ์ความรู้สึกให้นักท่องเที่ยวเกิดการซื้อ
การเดินทางไปกิน และ ออกไปพักผ่อนต่างจังหวัด จึงพร้อมทำ 3 เรื่องหลัก
ประกอบด้วย เรื่องแรก จะชูขายสินค้าเอกลักษณ์ไทยโดยใช้ชื่อ “ข้าว-เตี๋ยว-หวาน” ชูผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก 3 หมวด ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว และ อาหารหวาน ซึ่งนำมาแปรรูปได้สารพัด
อีกทั้งคนไทยและนานาชาติคุ้นเคยกับรสชาติเป็นอย่างดี ส่วนผ้าไทย 4 ภาค
ททท.ก็จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการจัดทำเส้นทางค้นหาเสน่ห์ผ้าเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีเรื่องราวบอกเล่าอดีตสู่ปัจจุบันของชุมชนได้ดีมาก
เรื่องที่สอง จะเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวทั่วไทยใน “100 วิว 100 มุม”
นำร่องคัดเลือกมุมสวยที่ต้องไปชมตามเมืองต้องห้ามพลาด Plus โครงการเขาเล่าว่า
ไปพร้อม ๆ กัน เรื่องที่สาม ใช้พลังเครื่องมือใหม่โดยนำมิวสิค มาร์เกตติ้ง
เป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มเป้าหมายวัยต่าง ๆ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยอาศัยจังหวะช่วงสถานการณ์ปีหน้าค่าเงินบาทอ่อนตัว
แนวโน้มคนไทยจะไปเที่ยวต่างประเทศลดลงเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนเพิ่มขึ้นมาก
ล่าสุด “ผู้ว่าฯยุทธศักดิ์” ได้นำทีมผู้อำนวยการ
ททท.ในประเทศ 37 สำนักงาน พร้อมผู้อำนวยการสำนักงาน 5 ภูมิภาค เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ดูงาน
วิธีการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมืออาชีพในประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งสามารถรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่มีอยู่ดั้งเดิมมาสร้างคุณค่าความน่าสนใจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน
ซึ่ง ททท.สำนักงานทั่วประเทศจะได้นำการพัฒนาชุมชน “ต้นแบบจากญี่ปุ่น” มาประยุกต์พัฒนาการตลาดชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างเหมาะสม
ทำนาขั้นบันได-ชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากญี่ปุ่นที่จะนำมาเป็นต้นแบบพัฒนาในไทย |
“ผู้ว่าฯ ยุทธศักดิ์” ยืนยันว่าปี 2559
ททท.ทุกสำนักงานรวมพลังกันนำความรู้และการศึกษาดูงานจากญี่ปุ่นมาสร้างโร้ดแมฟการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศไทยให้ปรากฎเป็นรูปธรรม
“ชุมชนในญี่ปุ่นทำอาชีพเกษตรกรรมเหมือนชุมชนในไทย
ต่างกันตรงญี่ปุ่นนำหลักบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมาพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรธรรมชาติได้
เช่น การทำนาขั้นบันไดของคุณลุงผู้สูงวัยอายุกว่า 70 ปี ดูแลนาข้าว 100 ไร่ ด้วยการใช้กลยุทธ์เปิดให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและต่างชาติเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
โดยในแต่ละปีให้พื้นที่ปลูกปักดำด้วยตนเองแล้วพอถึงฤดูข้าวออกรวงต้องเดินทางกลับมายังชุมชนเพื่อเก็บเกี่ยวเอง
ทำให้มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี”
“รูปแบบวิธีการเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชุมชนท่องเที่ยวในเมืองไทยได้
โดยปรับให้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นไปได้
ในการให้นักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันหรือต่างชาติมีส่วน ร่วมเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว
ชุมชนเองก็จะมีผู้ไปเยือนตลอดทุกปี สามารถวางแผนขายสินค้าท้องถิ่น จัดระเบียบหมู่บ้านได้ด้วย
ประการสำคัญที่สุดเป็นการวางรากฐานสำคัญพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่าง ยั่งยืนนั่นเอง
เพราะถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วย ททท.ทำให้สำเร็จ
เพื่อประโยชน์ระยะยาวที่จะกลับคืนสู่คนไทยทุกกลุ่ม หากชุมชนแข็งแรง
เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลก็สามารถเดินหน้าเพิ่มขีด ความสามารถประเทศร่วมกับนานาชาติได้เต็มที่
และคนบ้านเมืองก็จะมีความสุข”
ผู้ว่าการ
ททท.กล่าวต่อถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำสำนักงาน
ททท.ในประเทศสนุกกับการทำงานเชิงรุก คิดเชิงสร้างสรรค์
ร่วมกันสร้างวิถีไทยให้เข้มแข็ง ทั้งการจัดเทศกาลเที่ยวเมืองไทย นำสถานที่งดงาม
วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน มาจัดแสดงให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ สัมผัส
อย่างใกล้ดชิด
เรื่อยไปจนถึงการนำต้นแบบชุมชนของญี่ปุ่นไปบูรณาการตามหมู่บ้านท่องเที่ยวในประเทศไทย
โดยใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งทางการท่องเที่ยวตามที่ ททท.ทำหน้าที่มายาวนานถึง 55 ปี เข้าไปเสริมเขี้ยวเล็บให้ชุมชนดำรงอยู่อย่างสมดุล
ยั่งยืน และทุกเจนเนอเรชั่นสามารถรับช่วงต่อใช้ชีวิตพัฒนาบ้านเกิด
อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขในระยะยาว
สำหรับการเตรียมความพร้อมต้อนรับเศรษฐกิจใหม่ในการเปิดประชาคมอาเซียน
(AEC) ททท.กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะใช้เวทีงาน “Thailand Travel Mart : TTM 2016” ซึ่ง
ททท.เป็นเจ้าภาพจัดทุกเดือนมิถุนายนต่อเนื่องกันมาหลายปี ในปี 2559
จะเป็นครั้งแรกที่จะย้ายสถานที่จากกรุงเทพฯ ไปจัดในจังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่ซึ่งมีรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
มีศักยภาพความพร้อมครอบคลุมทุกด้านในการเป็น
“ต้นแบบพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเออีซี”
ทั้งนี้ ททท.พร้อมมอบความสุขตลอดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับศักราชใหม่ปีเปิดประชาคมอาเซียน
กับการจัดอย่างยิ่งใหญ่ Thailand Countdown 2016 ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม
2558 ถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ให้ชมได้ทั้งคนไทยและทั่วโลก
โดยมีฉากหลังของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นสัญลักษณ์ โดยจัดการแสดงแสงสีเสียง
จุดพลุรวม 5,574 นัด ประกอบด้วย การฉลองปีสากล 2016
นัด ฉลองปีพุทธศักราชใหม่ 2,559 นัด และ 999
นัดสุดยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2558 ททท.ยังได้เติมเต็มความสุขส่งท้ายปีจัดงาน Thailand
Countdown 2016 เปิดถนนคนเดินแบบวิถีย้อนยุค
บริเวณท่ามหาราช ช่วงสวนนาคราภิรมย์-ถนนเชตุพน จำหน่ายสินค้าจาก 12 เมืองต้องห้าม...พลาด และ 12
เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ตลอดทุกวัน
ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม
2558 -1 มกราคม 2559
เวลา 18.00-00.30 น. ททท.สนับสนุนวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 10,000
แห่ง เชิญชวมร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี นับเป็นอีกไฮไลท์ต้อนรับปีใหม่ อันอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ปี
2559 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ
ททท.ในการนำชุมชนท่องเที่ยวมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น