วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เที่ยวเมืองตากแบบSlow Travel สุขใจตลอดปี59



เที่ยวเมือง"ตาก" แบบ Slow Travel

พักผ่อนส่งท้ายปี58-วันธรรมดาน่าเที่ยวตลอดปี59


ความสุขส่งท้ายปีเก่า 2558 ต้อนรับปีใหม่ 2559 ชวนไป ตากอากาศ ตากแดดอ่อน ๆ ตากลมเย็น ๆ กับชีวิตช้า ๆ ที่ “จังหวัดตาก” นั่นเอง

สะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์200ปี จุดชมวิวแม่น้ำเมืองตาก
สถานที่พักผ่อนด้วยการใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวแบบช้า ๆ เรียนรู้เรื่องราวที่ตอบโจทก์หลาย ๆ อย่าง ใน “เมืองตาก” ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ มีเสน่ห์ครบเครื่อง เริ่มตั้งแต่ “ตื่นเช้า” ขึ้นมา ออกไปเดินเล่นกับผู้คนเมืองนี้บริเวณ “สะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี” หรือ “สะพานแขวน” เป็นจุดชมทิวทัศน์แม่น้ำที่มีการประดับไฟสวยงามในยามค่ำคืน และ ยังเป็น “สะพานชมดาวบนสายน้ำ” ได้ด้วย
ตรอกบ้านจีน หมู่บ้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมรากเหง้าชาวตากไว้ได้เป็นอย่างดี
 

“กลางวัน” แนะนำให้ไปเดินเล่นที่ “ตรอกบ้านจีน” เป็นอีกสถานที่ต้องห้ามพลาด “วิถีชีวิตชุมชนพื้นถิ่น" ที่ถ่ายทอดรากความหลากหลายของเมืองตาก แต่เดิมเป็นตรอกบ้านจีนแหล่งค้าขาย เรียงรายด้วยร้านขายหนังสือเรียน ขายถ้วยชาม ขายยา ขายผ้า ขายเครื่องอัฐบริขารในการบวชพระ เมื่อความเจริญเข้าไปถึงผู้คนในตรอกแห่งนี้ยังรักษาวิถีดั้งเดิมไว้ พร้อมกับเก็บรักษาสถาปัตยรรมของบ้านเก่าแก่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ไว้เป็นอย่างดี และอาคารหลายหลังกลายเป็นอาคารอนุรักษ์เกือบทั้งหมด

พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ-Night Museum 
“ยามค่ำคืน” พอฟ้ามืดแสงไฟเริ่มสว่างนำทางชวนไปดู “พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งกลายเป็น Night Museum หรือพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนด้วยบรรยากาศย้อนยุค มีกิจกรรมสาธิตงานหัตถกรรมพื้นถิ่นและงานศิลป์แขนงต่าง ๆ ที่หมุนเวียนมาให้ความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสักบาท

“พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ” เดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตากหลังเก่า สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์และความทรงจำของชาวตาก โยใช้เป็นสถานที่รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนพสกนิกร ประกอบพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดตาก รวมทั้งเป็นสถานที่รวบรวมสิ่งของโบราณวัตถุ ศิลปะ ตำนานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ตลาดนั่งยองคล้องย่าม ถนนคนเดินเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์
 
            สำหรับ “วันเสาร์-อาทิตย์” ยามเย็นตั้งแต่ 5 โมงไปแล้ว จะมี “ถนนคนเดิน” อยู่บริเวณจุดเริ่มตั้งแต่หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ทอดยาวเลียบตลอดริมแม่น้ำ จะมีร้านรวงนำของมาวางขายบนแคร่เตี้ย ๆ สูงประมาณเข่า นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนไปก็จะนั่งยอง ๆ ต่อรองราคากับคนขาย จึงกลายเป็นคอนเซ็ปต์เรียกกันติดปากว่า “ตลาดนั่งยอง คล้องย่าม” ด้วยเอกลักษณ์เด่นของตลาดนี้คือรณรงค์ให้คนนำย่ามมาใส่ของเอง เพื่อช่วยลดการใช้พลาสติกป้องกันโลกร้อน

            ในจังหวัดตากยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามอีกหลายแห่ง ได้แก่ “วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน” ในบริเวณพื้นที่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร อยู่ที่ อ.บ้านตาก ทางวนอุทยานฯ ได้ขุดจัดแสดงไว้ 7 ต้น แต่ละต้นคงสภาพความเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ 72.32 เมตร

หรือจะไปยังอ.พบพระและ อ.แม่สอด ก็มี “น้ำตกพาเจริญ” ขนาดลดหลั่นกันมากให้ชมได้มากถึง 92 ชั้น “ต้ำตกป่าหวาย”เป็นน้ำตกหินปูนธรรมชาติ และ “ทุ่งกระเจียวสีส้ม” ที่มักจะบานสะพรั่งให้เห็นปีละเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทุกเดือนมิถุนายนและกันยายนของทุกปี
ออกมาเติมความสุขได้ทุกวันกับการเดินทางพักผ่อนอย่างช้า ๆ ในเมืองตากให้หายเหนื่อยกันเถอะพี่น้อง

ททท.-เทศกาลเที่ยวเมืองไทย2559


ททท.รุกข้ามช็อต“เทศกาลเที่ยวเมืองไทย”

ปี’59แจ้งเกิดโมเดล“ชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน”

 

                                                เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน :rakdeethai@gmail.com
 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เตรียมใช้ศักยภาพงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ระหว่างวันที่ 13-17 มกราคม 2559 ณ สวนลุมพินี ขยายเครือข่ายกลยุทธ์สร้างสมดุลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและทำให้เศรษฐกิจชุมชนคึกคักตลอดทั้งปี โดยจะกระตุ้นคนไทยเดินทางในประเทศและชาวต่างชาติใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นควบคู่กับกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดจากเป้าหมายรวม 2.3 ล้านล้านบาท
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
 

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เตรียมกลยุทธ์ทำให้งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2559 สร้างความคึกคักทำให้ผู้เข้ามาร่วมตามเป้าหมายกว่า 600,000 คน ได้ชมสถานที่จำลองแหล่งท่องเที่ยวเด่น ๆ ของแต่ละภาคทั้ง 77 จังหวัด แล้วรู้สึกรักภาคภูมิใจในความไทยและเกิดการเดินทางสู่สถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นทั่วประเทศต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพิ่มความถี่ เพิ่มการใช้จ่ายเงิน ประการสำคัญสร้างมุมมองใหม่ในเชิงคุณภาพ โดยร่วมมือกันรักษาวัฒนธรรมประเพณีซึ่งเป็นสินค้าท่องเที่ยวชิ้นเอกของประเทศที่มีอยู่ในเมืองหลักขยายไปสู่เมืองรอง

ตามแผนของ ททท.จะเดินหน้าจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดเตรียมชุมชนพร้อมกับทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพิ่มความคึกคักเศรษฐกิจสู่กลุ่มฐานราก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเมืองต้องห้ามพลาด Plus  โครงการเขาเล่าว่า 24 แห่ง และ โครงการ Out Door Fest หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวกลางแจ้ง ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดขายแตกต่างกัน

ผู้ว่าการ ททท.อธิบายว่า จะนำ ททท.เพิ่มความเข้มข้นทำกลยุทธ์สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนระดับท้องถิ่นและจังหวัด จัดหมวดสินค้าของกินของใช้ในท้องถิ่นโดยนำความโดดเด่นสินค้าทางภูมิศาสตร์ (GI) เข้ามาเพิ่มจุดขายและประชาสัมพันธ์ซึ่งมีอัตลักษณ์ตามแหล่งผลิตแตกต่างกัน สามารถเพิ่มมูลค่าราคาขายได้ด้วย

ในช่วงต้นปี 2559 จะนำร่องไฮไลต์เพื่อปลุกอารมณ์ความรู้สึกให้นักท่องเที่ยวเกิดการซื้อ การเดินทางไปกิน และ ออกไปพักผ่อนต่างจังหวัด จึงพร้อมทำ 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย เรื่องแรก จะชูขายสินค้าเอกลักษณ์ไทยโดยใช้ชื่อ  “ข้าว-เตี๋ยว-หวาน”  ชูผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก  3 หมวด ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว และ อาหารหวาน ซึ่งนำมาแปรรูปได้สารพัด อีกทั้งคนไทยและนานาชาติคุ้นเคยกับรสชาติเป็นอย่างดี ส่วนผ้าไทย 4 ภาค ททท.ก็จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการจัดทำเส้นทางค้นหาเสน่ห์ผ้าเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีเรื่องราวบอกเล่าอดีตสู่ปัจจุบันของชุมชนได้ดีมาก

เรื่องที่สอง จะเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวทั่วไทยใน “100 วิว 100 มุม” นำร่องคัดเลือกมุมสวยที่ต้องไปชมตามเมืองต้องห้ามพลาด Plus โครงการเขาเล่าว่า ไปพร้อม ๆ กัน เรื่องที่สาม ใช้พลังเครื่องมือใหม่โดยนำมิวสิค มาร์เกตติ้ง เป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มเป้าหมายวัยต่าง ๆ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยอาศัยจังหวะช่วงสถานการณ์ปีหน้าค่าเงินบาทอ่อนตัว แนวโน้มคนไทยจะไปเที่ยวต่างประเทศลดลงเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนเพิ่มขึ้นมาก

ล่าสุด “ผู้ว่าฯยุทธศักดิ์” ได้นำทีมผู้อำนวยการ ททท.ในประเทศ 37 สำนักงาน พร้อมผู้อำนวยการสำนักงาน 5 ภูมิภาค เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ดูงาน วิธีการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมืออาชีพในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่มีอยู่ดั้งเดิมมาสร้างคุณค่าความน่าสนใจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่ง ททท.สำนักงานทั่วประเทศจะได้นำการพัฒนาชุมชน “ต้นแบบจากญี่ปุ่น” มาประยุกต์พัฒนาการตลาดชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างเหมาะสม
ทำนาขั้นบันได-ชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากญี่ปุ่นที่จะนำมาเป็นต้นแบบพัฒนาในไทย
 

“ผู้ว่าฯ ยุทธศักดิ์” ยืนยันว่าปี 2559 ททท.ทุกสำนักงานรวมพลังกันนำความรู้และการศึกษาดูงานจากญี่ปุ่นมาสร้างโร้ดแมฟการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศไทยให้ปรากฎเป็นรูปธรรม

“ชุมชนในญี่ปุ่นทำอาชีพเกษตรกรรมเหมือนชุมชนในไทย ต่างกันตรงญี่ปุ่นนำหลักบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมาพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรธรรมชาติได้ เช่น การทำนาขั้นบันไดของคุณลุงผู้สูงวัยอายุกว่า 70 ปี ดูแลนาข้าว 100 ไร่ ด้วยการใช้กลยุทธ์เปิดให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและต่างชาติเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยในแต่ละปีให้พื้นที่ปลูกปักดำด้วยตนเองแล้วพอถึงฤดูข้าวออกรวงต้องเดินทางกลับมายังชุมชนเพื่อเก็บเกี่ยวเอง ทำให้มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี”

“รูปแบบวิธีการเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชุมชนท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ โดยปรับให้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นไปได้ ในการให้นักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันหรือต่างชาติมีส่วน ร่วมเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนเองก็จะมีผู้ไปเยือนตลอดทุกปี สามารถวางแผนขายสินค้าท้องถิ่น   จัดระเบียบหมู่บ้านได้ด้วย ประการสำคัญที่สุดเป็นการวางรากฐานสำคัญพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่าง  ยั่งยืนนั่นเอง เพราะถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วย ททท.ทำให้สำเร็จ เพื่อประโยชน์ระยะยาวที่จะกลับคืนสู่คนไทยทุกกลุ่ม หากชุมชนแข็งแรง เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลก็สามารถเดินหน้าเพิ่มขีด ความสามารถประเทศร่วมกับนานาชาติได้เต็มที่ และคนบ้านเมืองก็จะมีความสุข”

ผู้ว่าการ ททท.กล่าวต่อถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำสำนักงาน ททท.ในประเทศสนุกกับการทำงานเชิงรุก คิดเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกันสร้างวิถีไทยให้เข้มแข็ง ทั้งการจัดเทศกาลเที่ยวเมืองไทย นำสถานที่งดงาม วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน มาจัดแสดงให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ สัมผัส อย่างใกล้ดชิด เรื่อยไปจนถึงการนำต้นแบบชุมชนของญี่ปุ่นไปบูรณาการตามหมู่บ้านท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งทางการท่องเที่ยวตามที่ ททท.ทำหน้าที่มายาวนานถึง 55 ปี เข้าไปเสริมเขี้ยวเล็บให้ชุมชนดำรงอยู่อย่างสมดุล ยั่งยืน และทุกเจนเนอเรชั่นสามารถรับช่วงต่อใช้ชีวิตพัฒนาบ้านเกิด อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขในระยะยาว

สำหรับการเตรียมความพร้อมต้อนรับเศรษฐกิจใหม่ในการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ททท.กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะใช้เวทีงาน Thailand Travel Mart : TTM 2016  ซึ่ง ททท.เป็นเจ้าภาพจัดทุกเดือนมิถุนายนต่อเนื่องกันมาหลายปี ในปี 2559 จะเป็นครั้งแรกที่จะย้ายสถานที่จากกรุงเทพฯ ไปจัดในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ซึ่งมีรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีศักยภาพความพร้อมครอบคลุมทุกด้านในการเป็น “ต้นแบบพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเออีซี”

ทั้งนี้ ททท.พร้อมมอบความสุขตลอดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับศักราชใหม่ปีเปิดประชาคมอาเซียน กับการจัดอย่างยิ่งใหญ่ Thailand Countdown 2016 ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ให้ชมได้ทั้งคนไทยและทั่วโลก โดยมีฉากหลังของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นสัญลักษณ์ โดยจัดการแสดงแสงสีเสียง จุดพลุรวม 5,574 นัด ประกอบด้วย การฉลองปีสากล 2016 นัด ฉลองปีพุทธศักราชใหม่ 2,559 นัด และ 999 นัดสุดยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2558  ททท.ยังได้เติมเต็มความสุขส่งท้ายปีจัดงาน Thailand Countdown 2016 เปิดถนนคนเดินแบบวิถีย้อนยุค บริเวณท่ามหาราช ช่วงสวนนาคราภิรมย์-ถนนเชตุพน จำหน่ายสินค้าจาก 12 เมืองต้องห้าม...พลาด และ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ตลอดทุกวัน

ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2558 -1 มกราคม 2559 เวลา 18.00-00.30 น. ททท.สนับสนุนวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง เชิญชวมร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี นับเป็นอีกไฮไลท์ต้อนรับปีใหม่ อันอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

 ปี 2559 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ททท.ในการนำชุมชนท่องเที่ยวมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทักษิณ-ประยุทธ์ 2ผู้นำต่างขั้วหัวอกเดียวกันไปไม่ถึงเส้นชัยHUBการบิน



10ปีผู้นำต่างขั้วหัวอกเดียวกันประยุทธ์-ทักษิณ

ฝันไทยขึ้นฮับท่องเที่ยว-การบิน-สุขภาพเอเชีย

 เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : (คอลัมนิสต์ และ เจ้าของรายการ "รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์" FM 97.0 MHz.สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และ โซเชียลมีเดีย www.facebook.com/penroong yaisamsen )

ทบาทของ นายกรัฐมนตรีไทย  ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเวลาห่างกัน 10 ปี ซึ่งมีหลักการดำเนินนโยบายทางการเมืองต่างขั้วกัน ระหว่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี  คนปัจจุบัน กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2548   

ทว่าปรากฎการณ์ที่เห็นเด่นชัดของสองผู้นำยุคอดีตและปัจจุบัน ใจตรงกันคือต่างก็ใช้สูตรสำเร็จการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเน้นการพึ่งพาจุดแข็งและจุดขายศักยภาพของประเทศ ภายใต้นโยบายการผลักดันเรื่องเดียวกันในการทำให้ประเทศไทยเป็น HUB” กับ “Cluster” ทางด้านการตลาด การค้า การลงทุน ของภูมิภาคเอเชีย  ด้วย 3  กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยว (Tourism) การขนส่งทางอากาศ (Aviation) และ สุขภาพองค์รวม  (health &  Wellness) ใช้เครื่องมือการลงทุนพัฒนาโครงข่าย ดิจิตอลหรือเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นสะพานเชื่อมสายหลักให้ทั้งสามกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยผงาดขึ้นเป็นฮับเอเชีย

ทั้งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และอดีตนายกฯ ทักษิณ พุ่งเป้าทำแนวเดียวกันคือ จัดระเบียบ หมวดอุตสาหกรรมมัดรวมเป็นกลุ่มเรียก Cluster ไปพร้อมๆ กับการรวมแหล่งสินค้าเป็น ศูนย์กลางเรียก HUB พาประเทศไปสู่จุดหมายเดียวกันคือเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียนและเอเชียเหมือน ๆ กัน 

            เมื่อ 10 ปีก่อนรัฐบาล ทักษิณ ประกาศนโยบายเดินหน้าประเทศไทยเป็น HUB ครบวงจร โดยเท หน้าตักขอใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท ปูพรมสร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project อาทิสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เปิดประตูเศรษฐกิจบานใหญ่เชื่อมโยงการค้าการท่องเที่ยวกับตลาดโลก  และเป็นยุคเปลี่ยนแปลงอุตสากรรมขนส่งทางอากาศครั้งใหญ่จากการให้กำเนิด สายการบินต้นทุนต่ำขายตั๋วโดยสารราคาประหยัด (low cost airlines) ควบคู่กับการเดินหน้าอภิมหาโปรเจ็กต์รื้อโครงสร้างโลจิสติกส์ภาคขนส่งจาก “ทางถนน” มุ่งสู่ ระบบราง ทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคการเกษตร

เป้าหมายขณะนั้นหวังผลเชิงเศรษฐกิจในอนาคต 3-5 ปีนับจากวันเริ่มต้นโครงการ จากรายได้การท่องเที่ยวเพิ่มเฉลี่ยปีละ 8-10 % เพิ่มขีดความสามารถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิให้รองรับนักเดินทางในอนาคตได้ปีละ 60 ล้านคนขึ้นไป และเพิ่มการขนส่งสินค้าทางอากาศกระจายการส่งออกสินค้าและนำเข้า ได้ปีละกว่า 3 ล้านตันขึ้นไป ส่วนระบบรางเมื่อแล้วเสร็จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางการค้าของประเทศจากปีละประมาณ 20-23 % ลงเหลือไม่เกิน 12 % เพื่อสร้างสมดุลราคาขายสินค้าในตลาดแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ผ่านมาถึงปีนี้ พ.ศ.2558 รัฐบาล “พลเอกประยุทธ์” ก็ยังคงประกาศใช้งบประมาณใกล้เคียง 3 ล้านล้านบาท ทุ่มเทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ทั้งระบบทั่วประเทศ โดยยืนหยัดเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันประเทศไทย สร้างความเท่าเทียมลดเหลื่อล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และให้น้ำหนักความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่าน “ตลาดการบริโภค” จากระบบดั้งเดิมแยกส่วนซึ่งไทยมีเพียง 70 ล้านคน ก้าวเข้าระบบใหม่ปรับสู่การรวมศูนย์เป็นตลาดเดียวกันทั้งอาเซียนที่มีกำลังซื้อมากถึง 600 ล้านคน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพลเอกประยุทธ์ ได้สร้างความฮือฮาอีกเรื่อง โดยมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการ “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย” วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย 10 กลุ่ม โดยยึด 3 กลุ่มไว้เป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งและการบิน กลุ่มอุตสาหกรรม  การแพทย์และสุขภาพ ส่วนที่เหลือเป็นอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ อุตยานยนต์แห่งอนาคต กลุ่มอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มอาหารแห่งอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่   กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานเคมี อุตสาหกรรมดิจิตอล  

            มติ ครม.ครั้งนี้รับลูกต่อหลังเหตุการณ์ “พลเอกประยุทธ์” ขึ้นเวทีเป็นประธานปาฐกถาในงาน “อนาคตไทยก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเจ้าภาพจัดพร้อมกับระดมผู้ประกอบการไทยและตัวแทนนักลงทุนนานาชาติรวมกว่า 2,000 คน มานั่งฟังคำอธิบายจากปากผู้นำประเทศโดยตรงถึง “ของขวัญส่งท้ายเก่าต้อนรับปีใหม่” จากรัฐบาลไทยถึงนักลงทุนทุกกลุ่มหากตัดสินใจยื่นขอรับการลงทุนภายในปี 2559 และสามารถทำรายได้ครั้งแรกภายในปี 2560 จะได้รับ “แพกเกจยกเว้นและลดหย่อนภาษี” เพิ่มอีกมโหฬาร

ภายใต้เงื่อนไขการลงทุน 3 แบบ ประกอบด้วย แบบที่ 1 การลงทุนใน “ซูเปอร์ คลัสเตอร์” หมวด อุตสาหกรรมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทำเลที่ตั้งต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตชั้น 9 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แล้วยังได้ท็อปอัพลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 50 % ต่อไปอีก 5 ปี รวมกับรับยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร อีกทั้งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มให้กับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง อาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี และ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ

แบบที่ 2 การลงทุนใน “คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ” ในหมวดอุตสาหกรรมกิจการ เช่น เกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตชั้นนอกรอบบริเวณ 9 จังหวัดเดียวกับกลุ่มซูเปอร์ คลัสเตอร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดหลั่นลงไป ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3-8 ปี และลดหย่อน 50 % เพิ่มเติมอีก 5 ปี

            แบบที่ 3  การลงทุนใน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” 10 จังหวัด 23 อำเภอ 90 ตำบล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เฟสสอง อีก 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เชียงราย กาญจนบุรี นครพนม นราธิวาส โดยรัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีและลดหย่อน 50 % อีก 5 ปี กับ 13 กลุ่มอุตสาหกรรม หนึ่งในกลุ่มนี้มี “กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว” รวมอยู่ด้วย ประกอบด้วย 8 กิจการ คือ1.เรือเฟอร์รี่หรือเรือท่องเที่ยวหรือให้เช่าเรือท่องเที่ยว 2.บริการที่จอดเรือท่องเที่ยว 3.สวนสนุก 4.ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมหรือศูนย์หัตถกรรม 5.สวนสัตว์เปิด 6.พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ 7.ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ 8.ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ

            การที่ “รัฐบาลพลเอกประยุทธ์” เร่งอัดยาแรงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีโดยยอมงัด “แพกเกจภาษีลดแลกแจกแถม” เพื่อ “กระตุ้นเม็ดเงินลงทุน” เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด โดยยังคงยึด “การท่องเที่ยว-การบิน-สุขภาพ” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจประเทศซึ่งปัจจุบันทำรายได้เติบโตตามกลไกธรรมชาติรวมปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท การทุ่มทุนยอมเทหน้าตักออกมาแลกครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลเองก็มีความหวังว่าในอนาคตอันใกล้ตั้งปี 2559 อาจจะทำเงินจากทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท

            ถึงแม้ช่วงเวลาการบริหารของทั้ง 2 รัฐบาลจะห่างกันถึง 10 ปี โดยต่างฝ่ายต่างมีวิธีบริหารและคำอธิบายประชาชนดูเสมือน “ต่างขั้ว” แต่มี “หัวอกเดียวกัน” นั่นคือพยายามดันฝันสุดตัวที่ทุกรัฐบาลพากเพียรทำมานานแต่ยังไม่ผู้นำรัฐบาลคนไหนพาประเทศไปถึงเส้นชัยสักที

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เที่ยววันธรรมดาอนุสาร อ.ส.ท.พาเซอร์ไพรส์ธันวา5แห่ง



ธันวาคมเดือนแห่ง “ประชาไทยเทิดไท้”

ความสุขส่งท้ายปี 2558 เป็นของขวัญที่ “อนุสาร อ.ส.ท.” เตรียมนำมามอบให้โดยจะพายังสถานที่แห่งความทรงจำของปวงชนชาวไทย ตลอดเดือน “ธันวาคม” นี้ ในชื่อเก๋ ๆ ว่า “ประชาไทยเทิดไท้” ซึ่งไม่ว่าจะร้อนหรือฝน คนไทยก็ยังมีชีวิตที่น่ารักด้วยวิถีชุมชนอันเก่าแก่จากเหนือจดใต้ และต้นไม้ใบสนบนเส้นทางภูเขาที่เล่าต่อกันถึงความงามหนักหนา ทั้ง 5 แห่ง

ไปขี่ “Segway เชียงใหม่” พาหนะน้องใหม่คล้ายจักรยานแต่ทันสมัยมากกว่า คล้ายจักรยานแต่มีล้อเดียวหากสามารถพานักท่องเที่ยวขึ้นไปยืนแล้วแล่นด้วยพลังงานไฟฟ้าพาลัดเลาะชมเมืองเก่าแก่ได้ทั่วเชียงใหม่

 

หรือจะไปสัมผัสความสดชื่นของผืนป่าอันสลับซับซ้อนของ 3 ภูผา จาก “ภูทับเบิก สู่ ภูลมโล และ ภูหินร่องกล้า ตามไปจับสายหมอกที่ฟุ้งกระจายบนเส้นทางแห่งขุนเขาสองจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์

ขึ้นเหนือไปใช้ชีวิตอยู่กับ “ชุมชนคนต้นน้ำ” ท่าวังผา จังหวัดน่าน สูดอากาศในหมู่บ้านโบราณอายุกว่า 800 ปี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเมืองน่าน ตั้งอยู่กลางหินผาและวังน้ำ เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาวิถีการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขมานานนับกว่า 8 ศตวรรษ

จากนั้นไปพิสูจน์ตำนานชาติพันธุ์เก่าแก่ของ “ไทยลื้อเชียงคำ เชียงม่วน” จังหวัดพะเยา ชนเผ่าที่มีเสื้อผ้าหน้าผม ความเป็นอยู่ท่ามกลางการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ใช้ชีวิตห้อมล้อมด้วยวัดวาอารามอันงดงาม
 

ปิดท้ายด้วยการล่องใต้ไป “คลองร้อยสาย” สุราษฎร์ธานี จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าเกาะเยอะ ทว่ามีลำคลองน้อยใหญ่มากพอ ๆ กับเกาะ นักท่องเที่ยวนิยมไปพายเรือดูวิถีชีวิตริมน้ำของชาวบ้าน ส่วนจำนวนคลองจะมีถึงร้อยสายสมชื่อหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์กัน

จับตา!!ต่างชาติเที่ยวไทยแผ่ว3เดือนแรกไม่ถึง10ล้านคน

  นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 1 ม.ค.-31 มี.ค.2568 ได้แค่ 9.5 ล้านคน จับตา !! ต่างชาติเที่ยวไทยแผ่ว 3 เดือนแรกไม่ถึง 10 ล้านคน เม.ย.นี้ร...