สตาร์ตอัพ !การบินแห่งชาติยุคใหม่ คสช.
จับตาแผน“การบินไทย” รัก “แอร์เอเชียเท่าฟ้า”
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : rakdeethai@gmail.com
ประโยคบอกเล่าพร้อมกับการเดินหน้าเชิงสัญญลักษณ์ของ
“ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องนโยบายพัฒนา “ยุทธศาสตร์การบินแห่งชาติ”
สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเข้าสู่กระแสการลงทุนตามรูปแบบสายพันธุ์ใหม่ในลักษณะ
Start up ที่กำลังได้รับความสนใจ

โดยอ้างอิงเหตุผลที่มีแรงจูงใจอันดีว่ารัฐบาล คสช.จะสามารถมีชัยชนะ (Win Win)
ร่วมกันทุกฝ่ายตามเป้าหมายทางด้านการพัฒนาประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินเอเชีย”
(Asia Aviation Hub) 3 เรื่อง
ประกอบด้วย
เรื่องแรก ยกระดับไทยเป็น
“ชุมทางเที่ยวบินต้นทุนต่ำ”
ระดับประเทศและนานาชาติในอนาคตอันใกล้นี้
หากรับการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มแอร์เอเชียซึ่งพร้อมจะร่วมทุนกับการบินไทยในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่ก็ได้
เรื่องที่สอง “สร้างการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโลยีการตลาดดิจิตอลทางการบิน”
เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงผลสำเร็จในนโยบายที่จะทำให้ “ไทย” เป็นประเทศ “เชื่อมโยงเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนครบวงจร”
(ASEAN
Economic Community Conncetivity) ทั้งอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว เป็นยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเป็นผู้นำรายได้ซึ่งเติบโตจากการลงทุนอนาคตของนักลงทุนในตลาดโลกกำลังเคลื่อนย้ายมาปักหลักยังภูมิภาคเอเชีย
เรื่องที่สาม
“ตอกย้ำไทยเป็นประเทศน่าลงทุนในสายตาต่างชาติ” โดยผู้บริหารกลุ่ม Air Asia
Berhad เติมยาหอมระหว่างเข้าพบผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า
คสช.ด้วยข้อเสนอจะย้ายฐานกลุ่มแอร์เอเชียจากแอร์เอเชียอินโดนีเซียมาผนวกรวมกับไทยแอร์เอเชีย
ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนถูกต้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
หากพิจารณาการ “ผนึกรวมยุทธศาสตร์การบิน” ระหว่างกลุ่ม Air Asia Berhad กับ “การบินไทย”
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับสายการบินแห่งชาติ ในปี 2559 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 56 ด้วยสภาพธุรกิจสะบักสะบอมจากผลการดำเนินงาน “ขาดทุน”
ต่อเนื่อง 2 ปี ระหว่าง 2557-2558
มูลค่ารวมกันกว่า 4 หมื่นล้านบาท อีกทั้งในช่วงไตรมาสแรก ปี 2559 (มกราคม-มีนาคม)
ก็ยังประกาศได้ไม่เต็มปากเรื่องการพลิกสถานการณ์จากขาดทุนมาทำ “กำไร” หรือไม่ ?
ตามที่ “จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท
การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกได้แต่เพียงกำลังจะมี “ข่าวดี”
จากหลายปัจจัยดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหนี้สิน ทรัพย์สิน และการจัดทัพ
“เส้นทางการบินระหว่างประเทศ”
ครั้งใหญ่อีกระลอกเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเวทีโลก
เมื่อสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาฟื้น “เอเชียแปซิฟิก” และ “ประชาคมอาเซียน”
ติดปีกการเดินทางทั้งทางด้านการลงทุน การท่องเที่ยวและการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน
ขณะที่ภาพรวม “การบินไทย”
ยังคงทำรายได้จากยอดขายตั๋วโดยสารได้เฉลี่ยค่อนข้างจะทรงตัวมาหลายปี เฉลี่ยปีละ 1.8-2.0 แสนล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารใช้บริการ 16-18 ล้านคน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศจำนวนหลายเมือง
ตัวอย่างในเมืองไทย “ไทยแอร์เอเชีย” สามารถใช้ “สนามบินนานาชาติดอนเมือง”
เป็นศูนย์กลางการบินในกรุงเทพฯ บินสู่ทุกภาคของประเทศ และสู่ทุกเมืองเศรษฐกิจ
ควบคู่กับการขยายจุดบินทั่วอาเซียน จีนและเอเชีย
อีกทั้งยังเข้าไปยึดฐานการบินตามหัวเมืองหลัก “4
สนามบินนานาชาติ” ภูเก็ต
เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และหัวเมืองรอง อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี
อู่ตะเภา (ชลบุรี) เปิดเส้นทางบริการบินตรงเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดย่อยในภาคต่าง ๆ
ทั้ง ๆ ที่ “การบินไทย” มีสายการบินลูกทั้ง “ไทยสไมล์” และ
“นกแอร์” ที่การบินไทยมีหุ้นมากเป็นอันดับต้น ๆ ทำหน้าที่เป็น Flighting Brand
ค้ำยันการต่อสู้ทางการตลาดอันร้อนระอุมาตลอด ถึงจะผนวกรวมถึง
3 พลัง
แต่ด้วย “โครงสร้างองค์กร” รูปแบบบริหาร ของการบินไทย ไทยสไมล์ และนกแอร์
ซึ่งต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะ “โตเดี่ยว” ในแบบฉบับเฉพาะตัว จึงทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไม่เร็วเท่าที่ควร
แตกต่างสวนทางจากกลุ่ม “Air Asia Berhad”
ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์แตกแล้วโตด้วยวิธีรวมเป็นหนึ่งเดียวกันขยายฐานลูกค้า
โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่ใช้บริหารฐานการบินในมาเลเซียและไทย ซึ่งใช้แนวทางลงทุนตั้ง
“แอร์เอเชีย” เป็นหัวหอกเปิดบริการเส้นทางบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง
และลงทุนตั้ง “แอร์เอเชีย เอ็กซ์” ทำหน้าที่บุกทะลวงจุดใหม่ในเส้นทางบินเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป
“ดาโต๊ะ โทนี เฟอร์นานเดส”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กลุ่มแอร์เอเชีย
กล่าวมาตั้งแต่วันแรกการเปิดสายการบินว่า หัวใจการทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำคือ
“ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์รอบด้าน” ระบบบริหารจัดการทำงานรวดเร็ว คล่องตัว
คัดสรรทีมบริหารรุ่นใหม่ทำงานแบบมืออาชีพ
เลือกใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นเครื่องมือการตลาด การขาย
และการบินปฏิบัติมาตรฐานความปลอดภัยสากล สร้างคุณภาพบุคลากร
มองเห็นโอกาสทางการตลาดก่อนใคร
ส่งผลให้กลุ่ม “แอร์เอเชีย”
เติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น
และในอนาคตก็ยังจะเพิ่มแรงส่งร่วมกับเครือข่ายสายการบินในแต่ละประเทศต่อไป
ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายประเทศใน “รัฐบาล
คสช.” ของไทย ซึ่งยังต้องพึ่งพา
“รายได้หลักจากการเดินทาง” เพื่อการท่องเที่ยว การเข้ามาแลกเปลี่ยนธุรกิจ ประชุม
สัมมนา การลงทุน และอื่น ๆ จากในและต่างประเทศ
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนจึงต้องให้ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”
ประกาศนโยบายปลุกภาครัฐและเอกชนหันมาร่วมมือกันสนับสนุนอีก 1 นโยบายใหม่
คือ “เร่งสร้างเครือข่ายเส้นทางบินเปิดใหม่ในอาเซียน : Aviation ASEAN Connecitivity” และ ASEAN LINKs ควบคู่กับ ASEAN
PLUS
เปิดเครือข่ายจุดบินใหม่รอบอาเซียนเชื่อมโยงกับอินเดียให้ได้อีกอย่างน้อย 42 จุด
นโยบายที่ปรากฎต่อสาธารณะเรื่องนี้สอดรับกับที่รัฐบาลเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับผู้บริหารกลุ่ม
Air Asia Berhad มาเลเซีย พอดี
จึงนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ Start up ที่น่าจับตา
นโยบายการบินแห่งชาติในยุค คสช.กับเส้นทางการนำพา “การบินไทย” รัก
“แอร์เอเชียเท่าฟ้า” จะราบรื่นสมหวังหรือไม่อย่างไร
ภายในปี 2559
คนไทยจึงต้องติดตามชนิดห้ามกระพริบตาและห้ามพลาดนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น