Thailand Academyชุบวิถีชุมชน
ททท.นำ50ดีไซเนอร์โลกพลิกโฉมผ้าไทย
เรื่องโดย
: เพ็ญรุ่ง
ใยสามเสน : blogger :rakdeethai@gmail.com
โครงการ
“Thailand Academy 2015” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคยุโรป แอฟริกา
ตะวันออกกลาง และ อเมริกา จับมือกับสถานทูตไทยในยุโรป นำทีมดีไซเนอร์หรือนักออกแบบมืออาชีพระดับโลก 50 คน
เข้ามาสร้างความคึกคัก “ปีท่องเที่ยววิถีไทย”
ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรเทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้กับ “ชุมชนต้นแบบ” ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่
“เมืองต้องห้าม...พลาด” 3 เส้นทาง แพร่-น่าน สุรินทร์-บุรีรัมย์ และ
นครศรีธรรมราช
“จุฑาพร เริงรณอาษา” รักษาการ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ภูมิภาคยุโรป
แอฟริกาและตะวันออกกลาง ได้จัดทำโครงการ Thailand
Academy ปี 2558 มีความพิเศษมากกว่าทุกปี เนื่องจากรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ
“ปีท่องเที่ยววิถีไทย” ททท.จึงได้ร่วมกับทีมไทยแลนด์ และสถานทูตไทยในสหภาพยุโรปคัดสรรดีไซเนอร์มืออาชีพระดับโลกในภูมิภาคยุโรป50 คน จากกว่า 10 ประเทศ เข้าร่วมโครงการ
ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี
เยอรมันี เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อิสราเอล
ททท.ได้นำทีมดีไซเนอร์โครงการ Thailand
Academy 2015 เดินทางลงพื้นที่จริงใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนพร้อม ๆ
กับถ่ายทอดประสบการณ์ความคิดสร้างสรรสอนเทคนิควิธีปฏิบัติ (workshop)
การออกแบบผ้าไทยพื้นเมืองทั้งไหมและฝ้ายตามชุมชนต้นแบบที่คัดเลือกเข้าร่วมโครงการมีขีดความสามารถต่อยอดการผลิตสินค้าจำหน่ายในตลาดโลกควบคู่ไปกับการขยายตลาดท่องเที่ยวอย่างเข้มแข็ง
สร้างแบรนด์และสร้างมูลค่าผ้าไทยเทียบชั้นกับผลิตภัณฑ์นานาชาติได้
เป้าหมายของโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ขยายฐานตลาดและรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยเพิ่มจุดขายประสบการณ์ใหม่
ๆ ในสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ “เมืองต้องห้าม...พลาด” และ “วิถีชุมชนท่องเที่ยว” กับกลุ่มตลาดเป้าหมายจากสหภาพยุโรปทั้งกลุ่มเดินทางเที่ยวเมืองไทยซ้ำ
ๆ (re-visit) และ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวเมืองไทยครั้งแรก (first visit) ได้รับประสบการณ์ใหม่ในแบบวิถีไทยมากกว่ามาเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนเพียงอย่างเดียว
“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” ผู้อำนวยการ ททท.ภูมิภาคยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ Thailand Academy กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 20-23 เมษายน 2558 ดีไซเนอร์ระดับโลกได้ลงพื้นที่เวิร์คช็อปแนะนำวิธีคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท่องเที่ยวอย่างสร้างสรร ซึ่งปัจจุบันแต่ละชุมชนมีสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP) ระดับ 5 ดาว แต่ยังมีจุดอ่อนเรื่องแนวคิดสร้างสรรออกมาแล้วไม่ตรงรสนิยมนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ โครงการนี้จะตอบโจทก์ได้ดี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการชาวบ้านในชุมชนจะสามารถสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ด้วยผลงานเชิงสร้างสรรออกวางจำหน่ายในตลาดนานาชาติได้มากกว่าปัจจุบัน
โดย ททท.ได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบเข้าร่วมโครงการพร้อมกับนำทีมดีไซเนอร์ลงไปทำเวิร์คช็อปสอนวิธีคิด
วิธีการออกแบบ และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมืออาชีพให้กับชาวบ้าน
ด้วยการผสมผสานแนวคิดสากลกับภูมิปัญญาไทยเข้าด้วยกัน ในพื้นที่ชุมชน 3 เส้นทางหลัก
ได้แก่
เส้นทางแรก
ภาคเหนือ แบ่งย่อยเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ที่
1 “เมืองเก่าแพร่” นำผ้าหม้อห้อมพื้นเมืองจากชุมชนบ้านโฮ้ง
จ.แพร่ มาเป็นต้นแบบ ให้ดีไซเนอร์เดนมาร์กและอิสราเอล ออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดเดรสเทคนิคแนวใหม่
ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแหล่งผลิตผ้าพื้นเมืองในจังหวัดแพร่
เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรี วัดพระธาตุช่อแฮ พิพิธภัณฑ์ผ้าโกมล
บ้านศิลปินแห่งชาติ ผ้าทอแม่ประนอม
พื้นที่ที่ 2 “ตัวเมืองเก่าน่าน” นำผ้าทอยกดอกไทยลื้อ
ของชุมชนบ้านหนองวัว อ.ปัว โดยให้ดีไซเนอร์จากอิตาลีออกแบบผลิตภัณฑ์ของใช้
ไฮไลต์คือแว่นตาพร้อมแพกเกจจิ้งกล่องใส่แว่นตาตกแต่งด้วยผ้ายกดอกไทยลื้อ
ส่วนดีไซเนอร์อังกฤษออกแบบ ชุดเดรสเสื้อแจ๊กเก็ต ปลอกหมอน
ส่วนดีไซเนอร์สวีเดนกับนอร์เวย์ออกแบบชุดเดรสผ้าทอยกดอก
ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน เช่น วัดภูมินทร์
โฮงเจ้าฟองคำ วัดพระธาตุ่แช่แห้ง หอศิลป์ริมน่าน ชุมชนไทยลื้อ วัดหนองบัว
เส้นทางที่สอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ นำผ้าพื้นเมือง
“ไหมมัดหมี่โฮล” ชุมชนท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยให้ดีไซเนอร์ฝรั่งเศส
ออกแบบชุดราตรีผ้าไหม ดีไซเนอร์อังกฤษออกแบบ เสื้อ closet เครื่องประดับผม กระเป๋าสะพาย ดีไซเนอร์เยอรมัน
(นักศึกษา) ออกแบบชุดเสื้อผ้า ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์สำรวจเส้นทางท่องเที่ยว
กลุ่มทอผ้าไหมทองจันทร์โสมา ชุมชนบ้านท่าสว่าง หมู่บ้านช้างตากลาง จ.สุรินทร์ และ
ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
เส้นทางที่สาม
ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำผ้าพื้นเมือง “ผ้ามัดย้อมธรรมชาติคีรีวง”
จากชุมชนคีรีวงศ์
โดยให้ดีไซเนอร์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกแบบเดรสเทคนิคใหม่ในการเขียนสีทองเพิ่มในลายมัดย้อมให้สอดคล้องกับรสนิยมตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม
ควบคู่กับการพาดีไซเนอร์ท่องเที่ยว ย่านชุมชนเก่านครศรีธรรมราช
วัดพระธาตุวรมหาวิหาร ชุมชนทำเครื่องถมเงินถมทอง บ้านหนังตะลุง ชุมชนสานย่านลิเภา
หมู่บ้านคีรีวงศ์ และ หาดขนอม
ธเนศวร์กล่าวว่าตลอดสัปดาห์การจัดทำโครงการ
Thailand Academy 2015 ดีไซเนอร์ระดับโลกทั้งหมดได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน โดยมีชาวบ้านและนักศึกษามาร่วมเป็นลูกมือเรียนรู้สร้างสรรชิ้นงานต้นแบบขึ้นมาแล้วมอบให้ชุมชนใช้เป็นต้นแบบต่อไป
“สุรพิทย์ กีรติบุตร” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม ประเทศอิตาลี กล่าวถึงโครงการ Thailand
Academy 2015 เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรผลิตภัณฑ์ผ้าไทย โดยคิดนอกกรอบให้เป็นมากกว่าเสื้อผ้า
จึงได้ร่วมกับสถาบันแฟชั่นชื่อดังในอิตาลี Institute
Europeo di Design คัดเลือกจนได้ผู้ชนะเป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการนี้
เน้นการออกแบบได้หลากหลายผลิตนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับของใช้ เช่น
ชิ้นส่วนประกอบแว่นตาแฟชั่น โพสการ์ด และ อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผ้าไหมไทยไปใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์
โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนไทยมีโอกาสสัมผัสดีไซเนอร์ระดับโลก โดยได้เห็นทั้งวิธีคิด
การประดิษฐ์ และวิธีตัดเย็บออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป สิ่งสำคัญที่สุดชุมชนยังได้เรียนรู้เทคนิคความรู้
เป็นไปตามวัตถุประสงค์สูงสุดคือชุมชนสามารถออกแบบสินค้าจากผ้าไทยพื้นเมืองซึ่งนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
“ทางสถานทูตไทยในกรุงโรมเข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่ ปีแรก 2556 เน้นออกแบบเสื้อผ้า
ปีที่สอง 2557 เน้นออกแบบภัตตาคารไทย ปีที่สาม 2558
ออกแบบเป็นของใช้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านโครงการนี้
ได้นำไปเผยแพร่และจัดแสดงตามงานต่าง ๆ ที่สถานทูตจัดขึ้นในโรมและยุโรป
ปีที่แล้วนำเสื้อผ้าที่ออกไปจัดแสดงได้รับความสนใจจากนานาประเทศเข้ามาชื่นชมและถ่ายภาพอย่างคับคั่ง
ส่วนการเปิดตลาดเต็มรูปแบบนั้นคงจะต้องอีกขั้นตอนต่อไป เนื่องจากมีเรื่องการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
ขณะนี้เป็นขั้นตอนต้นเกี่ยวกับต้องทำให้ชุมชนเข้าใจการออกแบบให้มีแบรนด์เป็นเอกลักษณ์
ผลิตสินค้าได้ตรงกับควาต้องการของตลาดก่อนจะวางจำหน่ายทั่วโลก” นายสุรพิธกล่าว
“จิตติมา สุขผลิน” ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานโรม ประเทศอิตาลี เปิดเผยว่า
ได้นำดีไซเนอร์จากอิตาลี และ อิสราเอล ลงไปทำเวิร์คช็อปช่วยชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง
จังหวัดแพร่ ออกแบบผ้าหม้อห้อม
ชาวบ้านตื่นเต้นมากเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสเรียนรู้การออกแบบจากนักออกแบบมืออาชีพระดับโลก
ตั้งแต่การเลือกลายผ้า วางโครงผ้า การตัดเย็บ
ความต้องการของชาวบ้านคือการเรียนวิชาทุกอย่าง
ส่วนดีไซเนอร์ก็ต้องการดึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้านออกมาให้ได้มากที่สุด
ผลที่ออกมาสำเร็จเกินคาด เพราะดีไซเนอร์และอาจารย์สอนออกแบบผ้าที่ร่วมเดินทางมากับคณะครั้งนี้
ได้เรียนรู้จดจำลักษณะพิเศษของผ้าไทยแต่ละชุมชนไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์รุ่นต่อๆ ไป
อีกทั้งยังเกิดความประทับใจวิถีชุมชนไทย ซึ่งทางดีไซเนอร์และอาจารย์จากประเทศอิตาลี
อิสราเอล รับปากกับชาวบ้านแล้วว่าจะใช้ทุนส่วนตัวนำทีมนักออกแบบอีกรุ่นกลับมาสอนอีกครั้งช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้
โครงการ Thailand Academy 2015 ได้จุดประกาย “ชุมชนท่องเที่ยว”
พลิกโฉมความคิดสร้างสรรชาวบ้านหันมาผลิตผ้าไทยอย่างมีสไตล์ให้นานาประเทศรับรู้ว่า
“วิถีไทย” มีคุณค่าต่อสังคมโลกอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น