เที่ยววิถีไทย“เย็นทั่วหล้า
มหาสงกรานต์”
ททท.รณรงค์สืบสานประเพณี-เงินสะพัด1.4หมื่นล้าน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
มุ่งมั่นส่งเสริม “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” สืบสานประเพณีสงกรานต์การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ
ภายใต้ชื่อ “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2558 กระจายตามพื้นที่หลัก 15 จังหวัด
เชิญชวนชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมสัมผัสประเพณีความเชื่อ ความรักสามัคคี ความผูกพัน
ของครอบครัวคนไทยผ่านกิจกรรม เข้าวัดทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย พิธีสรงน้ำพระ
รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และร่วมสนุกกับเล่นสาดน้ำเย็นชุ่มฉ่ำระหว่างวันที่ 11-19
เมษายน 2558
นายศุกรีย์ สิทธิวนิช
รองผู้ว่าด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การจัดงาน
“เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2558 มุ่งเน้นส่งเสริมประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์วิถีไทยงานสงกรานต์ตามประเพณีที่ยึดปฏิบัติครอบคลุมทั้ง
4 ภาค ในพื้นที่หลัก 15 จังหวัด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภาพรวมทั่วประเทศคึกคักตลอดเทศกาลทั้งจากคนไทยเที่ยวไทยและคนต่างประเทศเที่ยวไทย
เล่นสงกรานต์ตามแบบประเพณีไทยโบราณ-ภาพ ททท. |
โดย
ททท.สำนักงานต่างประเทศได้ประสานกับเครือข่ายชุมชนคนไทยในต่างประเทศทั่วโลกช่วยกันรณรงค์จัดงานสงกรานต์โดยเน้นวิถีความเป็นไทยสร้างความรู้ความเข้าใจกับนานาประเทศเข้าถึงประเพณีวัฒนธรรมไทยอย่างถูกต้อง
ในอนาคตอันใกล้นี้ ททท.จะผนวกงานประเพณีสงกรานต์ไว้ในแผนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสมาชิกอาเซียนในโครงการ
ASEAN CONNECTIVITY
เพื่อสื่อถึงไทยเป็นประเทศผู้นำและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี ที่ดีงาม
นายศุกรีย์กล่าวว่าการรณรงค์ส่งเสริมการสืบสานประเพณีอันดีงามตามแบบวิถีไทยซึ่งการจัดงานสงกรานต์แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์วิถีไทยแตกต่างกัน
โดยตั้งเป้าหมายระหว่างวันที่ 11-15
เมษายน นี้ จะมีนักท่องเที่ยวรวมกว่า 2,629,500 คน เพิ่มขึ้น 12 % เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 470,000
คน เพิ่มขึ้น 39 % นักท่องเที่ยวคนไทย 2,159,500
คน เพิ่มขึ้น 8 % และคาดการณ์รายได้รวมมากถึง 14,516
ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากต่างประเทศเที่ยวไทย 7,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52 % และคนไทยเที่ยวในประเทศอีก 7,016
ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 %
ส่วนการส่งเสริมงานประเพณีสงกรานต์ ปี 2558 จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์”
เน้นส่งเสริมเอกลักษณ์ประเพณีไทย ทั้งการทำบุญตักบาตร การแต่งกาย รดน้ำอวยพร การจัดกิจกรรมตามแบบโบราณ
ส่วนที่ 2 “ชุ่มฉ่ำทั่วหล้า
มหาสงกรานต์” เป็นกิจกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เพื่อเป็นตัวเลือกแก่นักท่องเที่ยว 8 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ถนนข้าวสาร
กรุงเทพฯ 2.พื้นที่ถนนสีลม กรุงเทพฯ 3.พื้นที่รอบคูเมือง จังหวัดเชียงใหม่
4.พื้นที่จังหวัดชลบุรี 5.พื้นที่ถนนข้าวเหนียว
จังหวัดขอนแก่น 6.พื้นที่บริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
7.พื้นที่บริเวณรอบเมืองหาดใหญ่ (งานหาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์) จังหวัดสงขลา และ
8.พื้นที่เกาะสมุย “สงกรานต์เกาะสมุย”
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่สงกรานต์วิถีไทย-ภาพ ททท. |
สำหรับการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในกรุงเทพมหานคร
จัดภายใต้แนวคิด “สงกรานต์พระนคร” โดยใช้ชื่องาน “เย็นทั่วหล้า
มหาสงกรานต์ : แสนสนุก แสนขัน
เบิกบานวิถีไทย” ไฮไลต์ของงานคือวันที่ 12 เมษายน มีพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์
จากพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไปประดิษฐาน ณ
มลฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนได้สงน้ำ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวที
โขนกรมศิลปากร หุ่นละครเล็ก ลานวัฒนธรรม นิทรรศการประเพณีสงกรานต์ และ
การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดี 50 เขต และวันที่ 13 เมษายน เชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 189 รูป พร้อมรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ พิธีปล่อยขบวนรถกิจกรรมไหว้พระ 9 วัด ขณะเดียวกัน ได้จัดงานกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ททท.สนับสนุนการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่หลัก
ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี
ชลบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช
นครพนม หนองคาย หาดใหญ่ (สงขลา) ขอนแก่น
สมุย (สุราษฎร์ธานี) ภูเก็ต
ถนนยอดนิยมการละเล่นสาดน้ำ"ชุ่มฉ่ำทั่วหล้า มหาสงกรานต์" -ภาพ ททท. |
สำหรับการสร้างจุดเด่นของ
วิถีไทย-สงกรานต์ไทย “ชุ่มฉ่ำทั่วหล้า มหาสงกรานต์” โดยใช้ชื่อไฮไลต์เป็น "ถนนข้าวต่าง ๆ" ซึ่งเป็นถนนยอดนิยมในการเล่นสาดน้ำทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2558 สำนักงาน ททท.5 ภูมิภาค ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ถนนสายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
กรุงเทพฯ
ถนนข้าวสาร วันที่ 13-15 เมษายน
ถนนสีลม วันที่ 13-15 เมษายน
ภาคกลาง
ถนนข้าวแช่ จังหวัดปทุมธานี หรือ
ถนนเทศปทุม อยู่บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดปทุมธานี
(หลังเก่า) เหตุที่ตั้งชื่อนี้เนื่องจากปทุมธานีเป็นเมืองที่มีชาวมอญอพยพมาเป็นจำนวนมาก
โดยมีอาหารพื้นเมืองคือข้าวแช่เป้นของดีของเด่นชาวมอญที่นำมาใช้ตั้งชื่อ
รวมทั้งจัดกิจกรรมตามประเพณีในการสรงน้ำพระ และ
การเล่นน้ำตามประเพณีสงกรานต์แบบไทย
ถนนข้าวสุก จังหวัดอ่างทอง หรือ ถนนสายชันสูตร-เสนา
เน้นรณรงค์การเล่นสงกรานต์ปลอดเหล้า เพื่อให้เด็กและเยาวชน ประชาชน
ร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่งดงามแบบไทย ๆ ไว้ให้ยั่งยืน
ถนนข้าวต้ม จังหวัดนครนายก
หรือถนนสุวรรณศร เป็นอีกสถานที่เล่นน้ำที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมประเพณีสงกรานต์อย่างสนุกสนาน
รวมทั้งมีการรณรงค์ให้เล่นสงกรานต์ปลอดเหล้า สนุกสนานแบบไร้แอลกอฮอล์
ถนนข้าวโพด จังหวัดชัยนาท
เป็นถนนที่มีระยะทางประมาณ 3 กม.อยู่ที่ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง
เป็นถนนเรียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ละปีช่วงงานประเพณีสงกรานต์จะมีผู้คนจำนวนมาเดินเล่นสงกรานต์ริมฝั่งแม่น้ำ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น
ซึ่งมีชื่อถนนเป็นทางการว่า ถนนศรีจันทร์
ส่วนถนนข้าวเหนียวจะใช้เรียกเฉพาะช่วงสงกรานต์เท่านั้น
เริ่มตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงแยกถนนศรีจันทร์
ตัดกับถนนหน้าเมือง บรรยกาศตลอดแนวถนนจะคล้ายคลึงกับถนนข้าวสารมาก
เพราะบริษัทห้างร้านบริเวณนี้จะพร้อมใจกันปิด พร้อมทั้งตั้งเวทีคอนเสิร์ต และ
จัดกิจกรรมที่หลากหลายมากสีสันเพื่อเชิญชวนเข้ามาเล่นน้ำต้อนรับวันสงกรานต์
ถนนข้าวเย็น จังหวัดศรีสะเกษ หรือ
ถนนขุขันธ์ อยู่บริเวณเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เริ่มต้นจากสำนักงานเทศบาลเมือง
ถึงสี่แยกถนนวันลูกเสือ ในวันงานจะปิดการจราจรเพื่อไม่ให้รถทุกชนิดวิ่งเข้า-ออก
ได้
อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเล่นน้ำอย่างปลอดภัยรับเทศกาลชุ่มฉ่ำด้วยสายน้ำเย็น
ถนนข้าวปุ้น จังหวัดนครพนม เดิมชื่อ
ถนนเลาะริมโขง
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นอีกถนนที่ผู้คนเดินแวะเวียนมาเที่ยวเล่นสาดน้ำสงกรานต์
เข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว เริ่มเล่นกันมาตั้งแต่ปี 2548
ชื่อข้าวปุ้นสะท้อนถึงจังหวัดนครพนมขึ้นชื่อเรื่องขนมจีน
และ มีน้ำยาหลากหลายสูตร
ถนนข้าวเหนียวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด หรือ
ถนนเพลินจิต ตั้งอยู่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ กลางเมืองร้อยเอ็ด
จัดสงกรานต์เข้าสู่ปีที่ 9 เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549
เน้นส่งเสริมประเพณี
วัฒนธรรมท้องถิ่น
รวมถึงร้อยเอ็ดเป็นดินแดนแห่งการปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิที่มีชื่อเสียงติดอันดับของประเทศ
ถนนข้าวเปียก จังหวัดอุดรธานี หรือ
ถนนเทศาภิบาล หน้าหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเทศบาลอุดรธานี จัดงานสงกรานต์ขึ้น
เพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันเก่าแก่และประชาชนนิยมเดินทางมาเล่นสาดน้ำตรงบริเวณหนองประจักษ์
ถนนข้าวโพด จังหวัดนครราชสีมา ชาวเมืองโคราชจะร่วมกันปิดถนนตั้งแต่ด้านหน้าสวนสาธารณะเขาแคนในเขตเทศบาล
ปิดถนนคู่ขนานยาวเป็นกิโลเมตร
เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวเข้ามาเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
ภาคเหนือ
ถนนข้าวแต๋น จังหวัดน่าน หรือ
ถนนสุมนเทวราช ทางเทศบาลเมืองน่านนำร่องจัดให้เป็น “ถนนวัฒนธรรมปี๋ใหม่เมือง”
ปิดถนนเป็นปีแรก ระยะทางยาว 500 เมตร
บริเวณถนนสุมนเทวราช พร้อมทั้งรณรงค์เป็นเทศกาลปลอดเหล้าเบียร์
โดยได้ทางเทศบาลได้ให้การสนับสนุนจัดซุ้ม ถังน้ำ
พร้อมให้รถนำน้ำออกไปเติมให้ผู้เล่นได้ตลอดทั้งวัน
ถนนข้าวแคบ จังหวัดตาก ตั้งอยู่บริเวณหาดทรายทอง
ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก หรือ เชิงสะพานบ้านตาก-ท่าน้ำสุขาภิบาล ซึ่งเป็นหาดทรายน้ำจืดในแม่น้ำปิง
ส่วนชื่อ “ข้าวแคบ” ในจังหวัดตากเป็นชื่อของข้าวเกรียบรสชาติเค็ม ๆ
ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าหรอจข้าวเหนียว ทำเป็นแผ่นบางและตากแห้ง
ระหว่างสงกรานต์ทางจะจัดกันตรงบริเวณลานเอนกประสงค์ริมแม่น้ำปิด ฝั่งตะวันออก
เชิงสะพานอำเภอบ้านตาก มีกิจกรรมรดน้ำดำหัวตามประเพณีแบบไทย
ถนนยอดข้าว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นอีกถนนสายเฉพาะกิจ
ตั้งอยู่บนถนนบายพาส เป็นถนนเศรษฐกิจและร้านอาหารสำคัญในอำเภอแม่สอด
เพราะอยู่ติดชายแดนพม่า
ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งชาวไทยและพม่าก็จะมาร่วมสนุกเล่นสาดน้ำด้วยกัน
ถนนข้าวปุก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดที่อำเภอปาย
บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอปาย
โดยมีกิจกรรมรื่นเริงในเทศกาลสงกรานต์ในบรรยากาศที่เปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย
อาจจะได้เห็นบรรยากาศเก่า ๆ แบบพื้นเมืองน้อยลงบ้าง
สำหรับข้าวปุกเป็นขนมพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่
ซึ่งบางคนก็เรียกว่า “ข้าวปุกงาดำ” นั่นเอง
ด้วยชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จึงได้นำมาตั้งชื่อให้เข้ากับเทรนด์สงกรานต์
ถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ ทุกปีจะได้เห็นบรรยากาศสงกรานต์เมืองเชียงใหม่
ที่เล่นกันอย่างสนุกสนานรอบบริเวณคูเมือง
ภาคใต้
ถนนข้าวหมาก จังหวัดนราธิวาส หรือ ซอยภูธร
ได้ปรับชื่อให้สอดับกับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์
โดยจะปิดซอยให้เล่นน้ำกันอย่างจุใจ
เริ่มต้นจากบรรยากาศยามเช้าจะจัดพิธีทำบุญตักบาตร
การเล่นพื้นบ้านส่งเสริมเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนไปพร้อม ๆ
กัน
ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี หรือ ถนนมะกรูด
เป็นถนนสายเดิมซึ่งเป็นตลาดสด ตามปกติชาวบ้านจะมาจับจ่ายซื้อของกันตามปกติ
พอเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์คนในพื้นที่ได้เติมเต็มเพิ่มสีสันโดยนำรถมาตั้งป้อมเล่นน้ำกันจนกลายเป็นที่มาของฉายาถนนข้าวยำ
ถนนหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต สงกรานต์ริมชายหาดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ถนนนิพัทธ์อุทิศ
3, ถนนเสน่หานุสรณ์ และ วัดมหัตตมังคลาราม
จัดสงกรานต์มิดไนต์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ปีท่องเที่ยววิถีไทย ทำให้สงกรานต์ปี 2558 จะคึกคักกว่าทุกปี
ตอบลบ