4องค์กรเศรษฐศาสตร์ชี้การเงินอนาคตเศรษฐกิจไทย
แนะรัฐบาลบิ๊กตู๋“ผ่าทางตัน-หาทางออก”ครึ่งหลังปี’58
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : rakdeethai@gmail.com
(เจ้าของผู้ดำเนินรายการ "รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์" ทาง FM 97.0 MHz.สวท.กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.)
หลังจาก
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้นำรัฐบาล และ นายกรัฐมนตรี
ออกมาแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 6
เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557-31 มีนาคม 2558
ถึงสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย
โดยพยายามจัดระเบียบทุกเรื่อง
ทั้งเรื่องการเดินหน้าจัดทำโครงสร้างกฎหมายใหม่เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการประเทศ
โดยกำหนดขั้นตอนสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกประเด็น
ควบคู่ไปการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการแก้ปัญหาความตกต่ำทุกเรื่องภายในประเทศ ทั้งการบริโภค
การผลิต การลงทุน การเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อคืนความสุขที่คนไทยตั้งตารอ
รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับนานาประเทศ
ด้วยการเจรจากับเครือข่ายประเทศภาคีพันธมิตรที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าและเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามปกติ การสร้างความมั่นใจเรื่องการใช้มาตรา
44 บริหารประเทศในช่วงรอผ่านร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
หากแต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ
2558 ตั้งแต่ 1 เมษายน - 30 กันยายน 2558 ในมุมมองขององค์กรชั้นนำทางเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของประเทศไทยแล้ว
มองเรื่องนี้อย่างไร มีข้อแนะนำดี ๆ จากฝ่ายต่าง
ๆ ได้วิเคราะห์เหตุและปัจจัยซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปใช้กำจัดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง "ผ่าทางตัน-หาทางออก" ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งมีปัจจัยที่จะต้องดูแลอย่าใกล้ชิดประกอบด้วย
ปัจจัยลบ
1.การบริโภคภายในประเทศลดลง
2.การลงทุนภายในประเทศของภาครัฐช้าเกินไป
ทำให้การจ้างแรงงานขาดประสิทธิภาพ
3.ราคาผลผลิตภาคการเกษตรตกต่ำลง
ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน (เป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งออก 90%)
4.ค่าครองชีพสูงขึ้นจากความผันผวนของราคาสินค้าอุปโภค
บริโภค
5.สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงเกือบ
2 ใน 3 ในขณะที่
“รายได้ภาคครัวเรือน” มีเพียงประมาณร้อยละ 0.6 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ
6.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย
ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเคลื่อนไหวช้าตามไปด้วย
7.ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าติดอันดับต้น
ๆ ของโลก ส่งผลถึงสินค้าและกลุ่มธุรกิจการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก ถดถอย
มีขีดความสามารถทางการแข่งขันกับนานาประเทศลดน้อยลง
ปัจจัยบวก
1.การท่องเที่ยวเติบโตคนไทยหันมาเดินทางเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเติบโตเป็น
2 หลัก รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มเป็น
2 หลักเช่นกัน
โดยจะเติบโตเฉลี่ยเกินกว่า 10
%
2.การผลิตภาคอุตสาหกรรมปี 2558 ขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับปี 2556, 2557
3.ราคาพลังงานภายในประเทศราคาถูกลง
โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันตลาดโลกลดต่ำลง 4.การประกาศพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะก่อให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่ม และ การผลิตขยายการค้าและการลงทุน
5.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
โลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งและการสร้างศูนย์ค้าส่งสินค้าจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
ผนวกกับการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภค เมกะโปรเจ็กต์โครงการน้ำ ที่จะใช้ภาคการเกษตร
ภาคอุตสาหกรรม และ การบริหารจัดการแบบครบวงจร
6.การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
ซึ่งมีผลทั้งสองด้าน คือ ด้านบวก เพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ
และด้านลบเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย
ปัจจัยภายนอกประเทศ
ปัจจัยลบ
1.กำลังซื้อและการบริโภคทั่วโลกลดต่ำลงจากสภาพเศรษฐกิจถดถอย
กระทบภาคการส่งออก2\ระหว่างประเทศของไทยเติบโตแบบติดลบหรือเฉลี่ยทั้งปีนี้อาจจะเป็น
0 หรือไม่เกิน 1 %
2.ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED รับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงครึ่งปีหลังปีนี้
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินแถวหน้าของประเทศจาก 4 แห่ง วิเคราะห์ตัวแปรซึ่งเป็นดัชนี้ชี้วัดเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปพิจารณาประกอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยมีสาระที่น่าสนใจดังนี้
แห่งที่ 1 ธนาคากรุงเทพ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ วิเคราะห์ว่า ตอนนี้
เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงเติบโตไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ผนวกกับยังมีปัญหาเรื่องรายได้จากภาคการส่งออก
และความอ่อนแอของการบริโภคภายในประเทศ
ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังคงไม่น่าจะราบรื่น
เนื่องจากยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน ได้แก่ 1.เงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดติดอันดับโลก
2.ยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 3.การเบิกจ่ายของภาครัฐก็ไม่ได้ตามเป้าหมาย
การพลิกสถานการณ์ : ดร.กอบศักดิ์แนะนำว่ารัฐบาลจะต้องใช้ช่วงเวลาที่เหลือของปีบริหารจัดการสิ่งต่าง
ๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยและปลุกภาคเอกชนลุกขึ้นมายืนได้ รวมถึงผลักดันนโยบายที่ดีช่วงครึ่งปีหลัง
2 นโยบาย ได้แก่ นโยบายแรก การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องใช้เวลากว่าเม็ดเงินจริงจะลงสู่ระบบ หรือ นโยบายที่สอง
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึงจะประกาศชัดเจน แต่กว่าเม็ดเงินจะลงไปในระบบได้จริงต้องใช้เวลาอีกกว่ากว่า
9 เดือน อย่างเร็วประมาณต้นปี 2559 หรืออาจจะช้ากว่านี้หรือไม่ต้องรอดูวิธีบริหารจัดการของรัฐบาลที่มีบทเรียนจากการบริหารประเทศมาแล้วถึง
10 เดือน
แห่งที่ 2 สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
และหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สะท้อนมุมมองช่วงที่เหลือของปีนี้
ยังมองไม่เห็น “ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจน” โดยยังดูไม่ค่อยออกว่าจะมีตัวใดที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักกว่านี้
เครื่องจักรขับเคลื่อนสำคัญ ตัวแรกคือ “การบริโภคของภาคเอกชน”
ซึ่งเป็นความหวังหลักที่จะให้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศ พบว่าช่วงนี้ต่อเนื่องถึงปลายปีอ่อนแรงมาก
จากข้อจำกัดคือรายได้จากสินค้าเกษตรตกลงมาก
และภาระหนี้ของครัวเรือนยังสูง
ตัวที่สองคือ
“การส่งออก” ตัวเลขสองเดือนแรกปีนี้ก็ติดลบ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จึงตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า
ตอนนี้เศรษฐกิจโลกไม่ได้แย่มากเหมือนปี 2557 แต่เหตุใดส่งออกไทยจึงไม่ดีขึ้น
ดร.เศรษฐพุฒิอธิบายว่า อาจมีคนพูดเรื่อง “ค่าเงินบาทแข็ง”
ทำให้ส่งออกไม่ดี แนวคิดนี้ประเมินถูกในมุมของ “ส่วนต่างกำไรจากรายได้” หรือ margin ที่ลดลง แต่ในมุมของ “ยอดขายหรือปริมาณการส่งออก” ต้องตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงยังติดหล่ม
ทั้งๆ ที่ประเทศคู่ค้าไทยกับหลายประเทศนั้นสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับไม่ได้ตกต่ำเหมือนเมื่อ
1-2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องกลับมาดู “การส่งออก”
ให้ละเอียดเป็น “รายอุตสาหกรรม”
ตัวที่สาม คือ
“การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ” ที่หลายฝ่ายฝากความหวังไว้กลับถูกนำมามาใช้ได้ช้ากว่าที่คาด
ทั้งนี้มีภาคอุตสาหกรรมเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี
2558 คือ “การท่องเที่ยว”
โดยเฉพาะจากตลาดนักท่องเที่ยวจีน
ดร.เศรษฐพุฒิฉายภาพว่าโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว
แต่ด้วยอัตราเร่งที่ช้ามาก ๆ ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป
ก็ไม่ดี จึงเสนอให้รัฐบาลใช้วิธีปลุกความเข้มแข็ง
“ภาคเอกชน”
เนื่องจากปัจจุบันเอกชนไทยจำนวนมากยังมีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำ
รวมทั้งจะได้รับอานิสงส์จาก 1.ภาวะดอกเบี้ยต่ำ 2.ผนวกกับค่าเงินยูโรและเงินเยนที่อ่อนค่าหนุนให้ราคาเครื่องจักรนำเข้าถูก
แล้วถ้าเป็นลูกค้าชั้นดีสถาบันการเงินหรือธนาคารทั้งหลายก็พร้อมจะปล่อยเงินกู้อย่างแน่นอน
หมัดเด็ดที่รัฐควรนำมาใช้เพื่อปลุกภาคเอกชน ในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วคือ ควรเพิ่มมาตรการลดหย่อนทางภาษีชั่วคราว ซึ่งมาตรการนี้กรมสรรพากรเคยใช้แล้วเมื่อคราวน้ำท่วมปลายปี
2554 ถึงจะไม่ได้ผลเต็ม 100 % ก็ยังจะดีกว่าปล่อยเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวไปตามยถากรรม ซึ่งยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ามากขึ้น
แห่งที่ 3 สำนักงานวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ดร.อมรเทพ
จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สะท้อนความเห็นในมุมบวกว่า
ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1/2558 น่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3-3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดูแล้วอาจเป็นตัวเลขที่เติบโตค่อนข้างดี แต่แท้จริงเป็นเพราะไตรมาส 1/2557
ตัวเลขไม่ค่อยดีนักโดยหากเทียบกับไตรมาส 4/2557 ก็อาจติดลบ 0.8% ด้วยซ้ำ
ปัจจัยที่ยังเป็นโอกาสของไทยในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไปที่จะมาจากความชัดเจนในเรื่อง
1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ
3.รายได้จากการท่องเที่ยวและ
4.ยอดรายได้จากการค้าชายแดน
แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็อาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงดึงจีดีพีให้ต่ำ 3%
ได้
สำหรับข้อดีของเศรษฐกิจไทยตอนนี้คือแม้จะไม่มีแรงส่ง
แต่เราก็ไม่ได้มีแรงฉุดที่รุนแรงมากนัก แล้วยังมีเรื่องน่าเป็นห่วงอีกอย่างว่า หากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวล่าช้า
จนทำให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนนิ่งสนิทได้
ส่วนเรื่อง”ความเสี่ยง” ดร.อมรเทพให้น้ำหนักมากสุดที่
"ภาคส่งออก" เพราะปัจจุบันการส่งออกของไทยมีสัดส่วนถึง 60% ของจีดีพี แต่เวลานี้อยู่ในภาวะตกต่ำจากความต้องการในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้น
โดยเฉพาะตลาดจีน
ขณะเดียวกันไทยก็ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเน้นผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นต่ำ
ที่แม้ว่าความต้องการในตลาดโลกกลับมาก็อาจไม่ต้องการบริโภคสินค้าไทย
และน่าจะทำให้การส่งออกของไทยตกต่ำไปอีกนาน
สำหรับประเด็น
“หนี้ครัวเรือน” นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่
“กดดันการบริโภค” มานาน และน่าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อไปอีกสักระยะ
ขณะที่ปัญหาใหม่ของปีนี้ คือ “รายได้ภาคเกษตรย่ำแย่” กระทบต่อการบริโภคของคนมีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก
ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอทาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) จะแถลงกลางเดือน พ.ค.ถ้าสรุปออกมาไม่ดี ในการประชุม กนง.วันที่ 10 มิถุนายน 2558 ก็อาจได้เห็น กนง.
ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง
ผลที่จะตามมานั่นคือ ก็อาจทำให้เงินทุนไหลออกมากขึ้นในช่วงกลางปี
และเงินบาทอาจทยอยอ่อนค่าลงจนถึงระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
แห่งที่ 4 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร
แห่งที่ 4 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร
เบื้องต้นช่วงครึ่งปีหลังเพียงแค่สามารถรักษาระดับไม่ให้แย่ลงไปกว่าครึ่งปีแรกก็น่าจะดีแล้ว
เพราะหลังสงกรานต์ทางสถาบันการเงินคงต้องปรับประมาณการส่งออกและจีดีพีอีกครั้ง
เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติสอบถามเป็นจำนวนมากถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเมื่อใด
ยิ่งปล่อยไว้นานความน่าสนใจในการลงทุนก็จะลดลง ดังนั้นถ้าครึ่งปีหลัง
หากตัวเลขเศรษฐกิจเช่นการลงทุนไม่ชัดเจน ก็น่ากังวล
ก่อนจะต้องเผชิญความท้าทายใหม่ในการเปิดประชาคมอาเซียนหรือ
AEC 1 มกราคม 2559
หน้าที่ของคนไทยคือตอนนี้ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ
“หาทางออก-แก้ปัญหา-ผ่าทางตัน” เศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าอย่างราบรื่นต่อไป เพราะ
“ตัวแปรทางเศรษฐกิจ” ไม่ได้พิสดารไปกว่าในอดีต เพียงแต่ที่ผ่านมา “ขาดการป้องกัน”
เมื่อเข้าสู่กระบวน “การแก้ไข” จึงค่อนข้างยุ่งยากและต้องอาศัยการเลือกใช้เครื่องมือแก้ให้ถูกจุด
โดยมี “เงื่อนเวลา” จี้คอรัฐบาลปัจจุบันและอนาคต
ผนวกกับความพึงพอใจและไม่พึงพอใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้มาตลอดทุกยุคทุกสมัย
ขอขอบคุณภาพประกอบ - จากเว็บไซต์ต่าง ๆในแสดงอยู่ใน www.google.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น