http://www.ryt9.com/s/tpd/2784367
ไทยโหมNew Shadesตลาดญี่ปุ่น
ดึงกิวชู-โตเกียว-ซัปโปโรเที่ยวเมืองรอง
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : บล็อกเกอร์ – gurutourza
เปิดศักราชปีจอเพียงเดือนครึ่ง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) รุกหนักโดยใช้แคมเปญ Open to the New Shades เป็นหัวหอกนำมุมใหม่ของการท่องเที่ยวบุกทะลวงตลาดต่างประเทศ ควบคู่การชูขายแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง นำเสนอความโดดเด่นของอาหารถิ่น วิถีไทย ความหลากหลายในมิติต่าง ๆ มุ่งเจาะกำลังซื้อคุณภาพโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอย่างนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นซึ่งตั้งเป้าภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าจะมาไทยปีละ 2 ล้านคนขึ้นไป พร้อมรายได้เฉียดเข้าใกล้แสนล้านบาท
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ได้นำทีมร่วมคณะไปกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เดินทางไปโร้ดโชว์เชิญชวนนักลงทุนในภูมิภาคกิวชู ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาร่วมพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) ทางด้านโลจิสติกส์ระบบราง และ 10 อุตสาหกรรมดาวรุ่ง โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นประธานสักขีพยาน ในงานของ ททท.ในพิธีร่วมลงนาม LOI -Letter of Intent (LOI) กับนายสุสุมะ อิชิฮาระ ประธานองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคคิวชู (Kyushu Tourism Promotion Organization) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันต่อเนื่อง 2 ปี ตามเป้าภายในปี 2563 จะเพิ่มตลาดญี่ปุ่นเข้าไทยให้ถึงปีละ 2 ล้านคน จากปีนี้ 1.56 ล้านคน ทำรายได้ 70,210 ล้านบาท
รวมทั้งได้เปิดตัว Open to the New Shades กับผู้ประกอบการตัวแทนบริษัทนำเที่ยวและสื่อมวลชนญี่ปุ่น ตั้งเป้ากระตุ้นชาวญี่ปุ่นท่องเที่ยวทั้งกลุ่มเดินทางครั้งแรกและกลุ่มท่องเที่ยวซ้ำหันมาเที่ยวเมืองรองและชุมชนใหม่ ๆ ของไทย นำร่องโปรโมตเมืองรองในญี่ปุ่น 2 จังหวัดแรก คือ น่าน และระนอง ชวนนักท่องเที่ยวจากกิวชูทั้ง7 จังหวัดเที่ยวเมืองไทย ได้แก่ ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฟุคุโอกะ จังหวัดซะกะ จังหวัดนางาซากิ จังหวัดคุมะโมโตะ จังหวัดโออิตะ จังหวัดมิยะซะกิ และจังหวัดคะโงะชิมะ
ส่วนกลุ่มเป้าหมายภาพรวมการเจาะตลาดญี่ปุ่นจะเพิ่มส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวผู้หญิง 50% จากตอนนี้มีเพียง 30% โดยเฉพาะสตรีวัยรุ่นอายุ 20-30 ปี ปีนี้ ททท.ได้แต่งตั้งวงเกิร์ลกรุ๊ป Nogizaka 46 เป็นฑูตประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในญี่ปุ่นด้วยอีกทาง และยังมีกลุ่มนักกีฬาที่ชื่นชอบการลงแข่งขันมาราธอน กลุ่มคุณภาพตลาดนักลงทุนญี่ปุ่นใน EEC ในลักษณะ Business Traveller กระตุ้นการใช้จ่ายเงินเพื่อท่องเที่ยวในไทยปี 2561 เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าคนละ 44,987 จากเดิม 43,460 บาทต่อคนต่อทริป
นางสาวรัญจวน ทองรุต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ตะวันออก ททท.กล่าวว่า ตามสถิติญี่ปุ่นเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยปี 2560 จำนวน 1.5 ล้านคน มาจากแถบเกาะกิวชูประมาณ 10 % แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสินค้าท่องเที่ยวเฉดใหม่ ๆ พร้อมนำเสนอโดยภาพรวมในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ อาหาร ธรรมชาติและชายหาดทะเลเทรนด์ใหม่ อาทิ จังหวัดกระบี่ ระนอง ศิลปะและงานหัตถกรรม อาทิ การทำผ้าย้อมคราม วัฒนธรรมทางด้านงานประเพณวิถีชีวิต วิถีท้องถิ่นไทย อาทิ จังหวัดแพร่ และน่าน
สำหรับแนวโน้มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มความนิยมการเดินทางเข้ามายังไทยเชื่อมโยงไปยังกลุ่มอินโดจีน กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว เติบโตสูงขึ้น และยังมี 3 เซ็กเมนต์ใหม่มากขึ้น ได้แก่ 1.ผู้เกษียนอายุกลุ่มเบบี้บูมเมอร์เข้ามาพำนักระยะยาวในเชียงใหม่และแถบภาคเหนือ 2.กลุ่มสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไปใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 3.กลุ่มนักศึกษาเพิ่งจบมหาวิทยาลัยเดินทางเข้ามาก่อนเริ่มทำงาน
แหล่งท่องเที่ยวครองใจชาวญี่ปุ่น 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือเมืองรอง เนื่องจากต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในญี่ปุ่นเองก็ยังไม่เสถียรมากนัก โดยยังคงเน้นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความลอดภัยในการเดินทาง ชอบไปเรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะแหล่งมรดกโลกได้รับความนิยมสูงมาก
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท.กล่าววว่าได้นำทีมไปเปิดตัวแคมเปญ Open to the New Shades ที่กรุงโตเกียวเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน นำเสนอใกล้เคียงกับทางกิวชู ขณะเดียวกันก็ยังทีมไทยคว้าแชมป์การแข่งขันแกะสลักหิมะโดยใช้ธีม “ไก่ชน) ในเทศกาลหิมะ Sapporo Snow Festival 2018 ครั้งที่ 69 ณ สวนโอโดริ เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ซึ่งไทยเข้ามร่วมมาถึง 20 ครั้ง และเป็นงานที่มีชาวญี่ปุ่นและนานาชาติเข้าชมกว่า 2 ล้านคน เป็นอีกช่องทางสร้างชื่อเสียงดึงดูดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นได้
นายสวัสดิอาทร์ ปาณิกบุตร ผู้จัดการทั่วไป ประจำภาคใต้(ฟูกูโอกะ) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ได้สนับสนุน ททท.ทำการตลาดเชิงรุกโดยได้ขยายบริการเพิ่มไป-กลับ เส้นทาง ฟูกูโอกะ-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) จะเพิ่มจากสัปดาห์ละ 7 วัน (วันละ 1 เที่ยว) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 12 พฤษภาคม 2561 เปลี่ยนใช้เครื่องขนาดใหญ่เป็นโบอิ้ง B777-200/300ER ขนาด 362 ที่นั่ง จากเดิมใช้ A330-300 ขนาด 299 ที่นั่ง ส่วน กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ใช้เครื่อง A330-300 เริ่ม 25 มีนาคม นี้เป็นต้นไป และกำลังพิจารณาเพิ่มจากสัปดาห์ละ 7 เป็น 10 เที่ยว
ปัจจุบัน มีเที่ยวบินบริการแบบประจำ ไป-กลับ ไทย-ญี่ปุ่น รวมสัปดาห์ละ 194 เที่ยว ประกอบด้วย
การบินไทย บินไป-กลับ เข้าสู่กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สัปดาห์ละ 75 เที่ยว คือ โตเกียว(นาริตะ) 21 เที่ยว โตเกียว(ฮาเนดะ) 14 เที่ยว ฟูกูโอกะ 7 เที่ยว โอซาก้า 14 เที่ยว นาโกยา 12 เที่ยว ซัปโปโร 7 เที่ยว เจแปน แอร์ไลน์ บินไป-กลับ เข้าสู่กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) รวมสัปดาห์ละ 52 เที่ยว คือ โตเกียว(นาริตะ) 14 เที่ยว โตเกียว (ฮาเนดะ) 14 เที่ยว โอซาก้า 7 เที่ยว นาโกยา 7 เที่ยว ออล นิปปอน แอร์เวย์ส บินไป-กลับ เข้าสู่กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) รวมสัปดาห์ละ 28 เที่ยว คือ โตเกียว(นาริตะ) 14 เที่ยว โตเกียว (ฮาเนดะ) 14 เที่ยว
ไทย แอร์ เอเชีย เอ็กซ์ สัปดาห์ละ 28 เที่ยว จาก โตเกียว(นาริตะ) 14 เที่ยว โอซาก้า 14 เที่ยว ไทยเกอร์แอร์ สัปดาห์ละ 11 เที่ยว จาก โตเกียว(นาริตะ) 8 เที่ยว โอซาก้า 3 เที่ยว นกสกู๊ต สัปดาห์ละ 6 เที่ยว โตเกียว(นาริตะ) 6 เที่ยว พีซแอร์ไลน์ จาก โอกินาวา สัปดาห์ละ 7 เที่ยว
ทั้งนี้ทางองค์การส่งเสริมท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization : JNTO) เองก็ได้เข้ามาทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในไทยเพื่อแลกเปลี่ยนนำคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น ปี 2561 ตั้งเป้าจะมีคนไทยไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นปีละ 1 ล้านคน
อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญทางการท่องเที่ยวของไทยต่อเนื่องมาตลอดกว่า 30 ปี และเป็นกลุ่มกำลังซื้อคุณภาพที่ใช้จ่ายเงินและเข้ามาพำนักระยะยาว พร้อมทั้งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทย ทั้ง ททท.ภาครัฐ เอกชน ญี่ปุ่น และไทย จึงพร้อมจับมือกันเดินหน้าการท่องเที่ยวและการลงทุนให้เกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืน เป็นมิตรประเทศที่ดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกตลอดไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น