ข่าวดี !ไทยคว้าเจ้าภาพจัดโคราชเอ็กซ์โป2029
นำอีสานขึ้น”ฮับนวัตกรรมพืชสวนเกษตรยั่งยืน”
เรื่องโดย...#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza
#รายการรวยด้วยข่าวเสาร์อาทิตย์FM97 #TheJournalistclub #TAT #365วันมหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน
#
อ่านใน website TheJournalistclub…
“ไทย”เฮได้สิทธิ์เจ้าภาพจัด “โคราช เอ็กซ์โป 2029" มหกรรมพืชสวนโลกปี’72 ดึงนานาชาติเปิดประตูอีสานผงาดขึ้น “ฮับนวัตกรรมและความยั่งยืนอุตสาหกรรมพืชสวน” จัด 10 พ.ย.72-28 ก.พ.73 คาดเงินสะพัด 18,942 ล้านบาท สร้างงาน 36,003 อัตรา
นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เปิดเผยว่า
ไทยได้รับข่าวดีจากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The
International Association of Horticultural Producers – AIPH) ประกาศวันนี้
6 มีนาคม 2567 ให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก
หรือ International Horticultural Expo : โคราช
เอ็กซ์โป 2029” งานนี้จะช่วยยกระดับนครราชสีมาขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวน
ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของไทย
ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทย ยืนยันรัฐบาลไทยมุ่งมั่นอย่างเต็มที่จะผลักดันความสำเร็จจัดมหกรรมพืชสวนโลกปี
2572 ที่นครราชสีมา ถือเป็นงานมหกรรมระดับโลก
ประเภท A1 ที่พร้อมจะเปิดประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์
ความชำนาญด้านเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการแสดงพลังจัด โคราช
เอ็กซ์โป 2029” หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา 2572 ขึ้นที่อำเภอคง ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572
-28 กุมภาพันธ์ 2573 คาดจะมีผู้เข้าร่วมชมงานมากถึง 2.6 – 4 ล้านคน
ส่วนผลการคัดเลือกครั้งนี้ ทางสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ได้จัดการประชุมประจำปีขึ้นที่กรุงโดฮา ในวันที่
6 มีนาคม 2567 โดยผู้แทนจากทีมประเทศไทยเข้าร่วมประชุมและนำเสนอความพร้อมรอบสุดท้าย
ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB”
ขั้นตอนลำดับต่อไปไทยจะต้องเสนอตัวต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ
หรือ BIE (Bureau International des Expositions)
เพื่อให้ได้รับพิจารณารับรองเป็น Certified License Host ของงาน
เนื่องจากมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานระดับ A1 ตามเกณฑ์ของ BIE
ทั้งนี้เมื่อปี 2549 ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก
ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานครั้งนั้นอีกด้วย
ตลอดระยะเวลาจัดงานโคราช
เอ็กซ์โป 2029 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 9,163 ล้านบาท ทำรายได้จากการจัดเก็บภาษี
3,429 ล้านบาท และสร้างงานได้มากถึง 36,003 อัตรา
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
หนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกโคราช 2572 กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์เรื่องการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและพืชสวนของไทย
ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทางยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะใช้งานโคราช เอ็กซ์โป 2029 เป็นเวทีนานาชาติ
นำเสนอแนวทางการทำพืชสวนผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม
มุ่งสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นต่อไป
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
กล่าวว่า ในฐานะเมืองเจ้าภาพ ทางจังหวัดนครราชสีมาพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก
เพื่อสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศผสานกับวิสัยทัศน์การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน และจะเป็นการพลิกโฉมเมืองโคราชยกฐานะสู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสีเขียวได้ด้วย
นายจิรุตถ์
อิศรางกูร ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการประมูลสิทธิ์การจัดงานพืชสวนโลกโคราช 2572 ยืนยันว่า ทีเส็บย้ำเน้นการสร้างมรดกที่ยั่งยืนและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ตอบสนองต่อพันธกิจหลักของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH)
ส่งเสริมความสำเร็จอุตสาหกรรมพืชสวน ผ่านการปลูกพืชเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
ร่วมพัฒนาสังคม สร้างความยั่งยืนให้โลกกับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป
อีกทั้งทีเส็บต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีบทบาททำงานร่วมกันจนนำประเทศไทยคว้าสิทธิ์จัดงานครั้งนี้ได้สำเร็จ มีทั้ง สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และภาคีเอกชนในจังหวัด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น