CEA”เปิดโลกใหม่ดึงNFTเมืองไทยเข้าสู่ตลาดศิลปะดิจิทัล ปี’65บุกปั้นคนวงการ“ภาพถ่าย-อาร์ต-คาแรกเตอร์-ดนตรี”
“CEA”เปิดโลกใหม่ดึงNFTเมืองไทยเข้าสู่ตลาดศิลปะดิจิทัล
ปี’65บุกปั้นคนวงการ“ภาพถ่าย-อาร์ต-คาแรกเตอร์-ดนตรี”
เรื่องโดย...#เพ็ญรุ่งสามเสน #gurutourza #รายการรวยด้วยข่าวเสาร์อาทิตย์FM97 #CEA #NFT #ศิลปะดิจิทัล
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “CEA”
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “CEA” เปิดเผยว่า ในอนาคต NFT (Non-fungible Token) กำลังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลก และถือเป็นโอกาสใหม่ของนักสร้างสรรค์ไทยและอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในการก้าวสู่ “ตลาดศิลปะดิจิทัล” หรือ “ตลาด NFT” ด้วยการแปลงผลงานของตนเองให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากการขาย
เนื่องจาก NFT มีอิทธิพลต่อหลายวงการของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งศิลปะ ดนตรี ทรัพย์สินทางปัญญา โฆษณา รวมถึงวงการอินฟลูเอนเซอร์ ที่มองหาความเป็น Original โดย NFT จะช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนจากผลงาน โดยการทำสิ่งที่เคยเป็นสาธารณะให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัว
อีกทั้งยังทำให้การซื้อขายงานศิลปะไร้ขอบเขตสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสีสันในวงการศิลปะและนักลงทุน รวมถึง Creative
Economy ในประเทศไทย
CEA จึงพร้อมนำ NFT เข้าสู่ตลาดศิลปะดิจิทัล ดังนั้นนักสร้างสรรค์ไทยจำเป็นต้องเข้าใจระบบทำงานของ NFT เป็นอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ CEA และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จึงได้เล็งเห็นถึงโอกาสในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นทักษะแห่งอนาคตจึงได้จัดทำกิจกรรมและโครงการ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้นักสร้างสรรค์ ได้แก่
1. โครงการ สรรสร้างโอกาสในตลาดดิจิทัลอาร์ตไปกับ NFT : ส่งเสริมความรู้และสร้างทักษะการจัดการ Non-Fungible Token (NFT) แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จำนวน 4 สาขา ได้แก่ ภาพถ่าย ดิจิทัลอาร์ต การออกแบบคาแรกเตอร์ และดนตรี มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 6 ราย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทักษะการบริหารจัดการ NFT พร้อมให้ข้อมูลเบื้องต้นและข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจกระบวนการทำงานในภาพรวมของ NFT ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน การตั้งค่ากระเป๋าเงินเพื่อการเก็บสินทรัพย์อย่างปลอดภัย การแลกเปลี่ยนอีเธอร์ (Ether) และวิธีการสร้าง (Mint) NFT ด้วยเนื้อหากิจกรรม ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
1.1 การตลาด
(การตั้งราคา การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และการสร้างแบรนด์)
1.2 การบริหารและการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
Hardware wallet
1.3 การเปิดใช้งานตลาด
NFT (OpenSea)
1.4 การตั้งเป้าหมาย และการสร้างสรรค์ผลให้มีประสิทธิภาพ
2. กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ NFT สำหรับนักสร้างสรรค์ : เป็นกิจกรรมสัมมนาเพื่อสนับสนุน (สนับสนุนค่าใช้จ่าย) การเข้าตลาด NFT และสร้างความตระหนักถึงตลาด NFT ให้เป็นที่รับรู้แก่นักสร้างสรรค์ศิลปินจากกลุ่มสาขาทัศนศิลป์ ภาพถ่าย กราฟิก การออกแบบคาแรกเตอร์ เสริมสร้างความเข้าใจต่อเทคโนโลยีบล็อกเชนและ NFT สร้างทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล และการบริหารจัดการหน้าร้านบนตลาด NFT รวมไปถึงการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล NFT ให้ปลอดภัย
ปี 2565 CEA เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมรายได้ให้ นักร้อง
นักดนตรี นักแต่งเพลง โดยสร้างผลงานในกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายไร้พรหมแดน เพื่อเปิดขายผลงานในรูปแบบ
NFT กำหนดเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมในเดือนมกราคม 2565
โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับอบรมเรียนรู้ ทำความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบ NFT
จากผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ ที่ตอบรับตลาด NFT ซึ่งทีมงานจะคัดเลือก
10 ผลงานของผู้เข้าร่วม เพื่อให้เงินสนับสนุนพัฒนาผลงานเพลงดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น
และนำผลงานทั้ง 10 เปิดขายในตลาด NFT เป็นครั้งแรก
คอยดูแลและให้คำแนะนำเรื่องการขายแก่ผู้เข้าร่วม
จนสามารถสร้างรายได้จากการขายผลงานชิ้นดังกล่าว
นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง
Bitcast กล่าวว่าในอดีตโลก Internet of
Information หรือยุคของการส่งข้อมูลข่าวสาร
เคยสร้างปัญหาให้ครีเอเตอร์ และปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จนก้าวเข้าสู่ยุค Internet
of Value ครีเอเตอร์เริ่มมองเห็นหาช่องทางรักษาสิทธิที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้แล้วด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน
ทำให้งานศิลปะทุกชิ้นมีความแตกต่าง ด้วยการพัฒนามาตรฐานที่เรียกว่า Non-Fungible
Token หรือ NFT ขึ้นมา
โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนนับเป็นดาต้าเบสประเภทหนึ่งที่เก็บ Single of Truth หรือความจริงหนึ่งเดียวที่แก้ไขยาก จึงนำคุณสมบัตินี้มาก่อให้เกิดประโยชน์
เช่น ปกติไอเท็มในเกมมีความหลากหลาย
มีทั้งไอเท็มธรรมดาใช้แทนกันได้เหมือน Fungible แต่ก็มีบางไอเท็มที่หายาก
มีอยู่แค่ 2-3 ไอเท็มในโลก
ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ไอเท็มเหล่านี้มันมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub
กล่าวถึง NFT ว่า อนาคตวงการศิลปะดิจิทัลผ่านกิจกรรมเสวนาออนไลน์ Creative
Weekend ที่ CEA ร่วมกับ The Standard
Pop นั้น ตลอดที่ผ่านมา 20 ปี เราเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นดิจิทัล
โดยมี “ข้อดี” คือทุกอย่างรวดเร็วในการส่งถึงกัน แต่ “ข้อเสีย” คือมันถูกกอปปี้ไว้ได้ทุกอย่างไม่อั้น
แต่พอโลกมีสิ่งที่เรียกว่า “บล็อกเชน” เกิดขึ้นมา เพื่อทำสิ่งที่ตรงข้ามกับอินเทอร์เน็ต
เราสามารถตรวจสอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้
และอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนไปเร็วมาก
เร็วกว่าที่ทุกคนคิดเยอะมาก
ทุกคนอย่าประมาทความเปลี่ยนแปลงของโลกดูจากภาพรวมหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการมาของเทคโนโลยี
5G, Big Data, AR, VR, IOT, AI รวมถึงบล็อกเชน
จะเปลี่ยนแปลง Digital Economy มาแน่นอน
ไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลก การมาของบล็อกเชนมันคือโอกาสและความเสี่ยง
สำหรับคนกล้าเปลี่ยนแปลงและคนยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม ๆ เราไม่จำเป็นต้องเก่งมากแต่เราจะต้องลงมือทำ ถ้าเราเข้าใจเทคโนโลยีประเทศไทยของเราจะหลุดกับกับดักรายได้ปานกลาง
นางวรินดา เธียรอัจฉริยะ
นายกสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT)
กล่าวเสริมว่า ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
แต่ละปีคนไทยจ่ายเงินเกี่ยวกับศิลปะประมาณ 12,000 ล้านบาท และมีแนวโน้เติบโตได้อีกมาก
แต่กลับเป็นอุตสาหกรรมที่ภาคส่วนต่าง ๆ ให้การสนับสนุนค่อนข้างน้อย
จำนวนผู้เข้าชมงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไม่ได้มีมากพอจะสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้เท่าที่ควร
สมาชิกจึงมารวมตัวกับสมาคมฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ภัณฑารักษ์ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ กลุ่มผู้จัดงานศิลปะร่วมสมัย เห็นร่วมกันว่าควรมารวมกันเพื่อให้มีตัวแทนประสานงานภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้น เป็นกระบอกเสียงที่ดังขึ้น และสามารถสร้างพลังการต่อรองเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อทำให้ศิลปะยั่งยืน
ทั้งนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์มีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางที่ดีต่อเนื่องมาตลอด
ตั้งแต่ช่วงปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 18,021 ล้านบาท กระทั่งปี
2561 เพิ่มสูงถึงกว่า 23,091 ล้านบาท
เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เริ่มเห็นสัญญาณเติบโตดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น