สมคิดขีดเส้นตายการบินไทย 3เดือน
จับตารื้อแผนซื้อฝูงบินใหม่เกินแสนล้าน
“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขีดเส้นตาย 4 ผู้นำรัฐวิสาหกิจ “การบินไทย-ททท.-ทอท.-กรุงไทย” ภายใน 3 เดือน ต้องแสดงพลังพันธมิตร ทำให้แผนลงทุนจัดหาฝูงบินใหม่แสนล้าน บรรลุเป้าหมาย และภายในปี 65 ต้องกลับมายิ่งใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก โดยท่องเที่ยวต้องช่วยหนุน สนามบินต้องจัดเต็ม และแบงก์ต้องพร้อมเป็นถุงเงินปล่อยกู้ ทางด้าน “เอกนิติ” ประธานบอร์ด กับ “สุเมธ” ดีดีบินไทย ประสานเสียงพร้อมทบทวนจัดหาเครื่องใหม่อาจเกิน 1 แสนล้าน และ 23 ลำก็ได้ หลังส่วนแบ่งตลาด 10 ปีหายไป 10 %
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยในระหว่างเป็นประธานการเสวนา “สานพลังพันธมิตร” ว่า มีนโยบายชัดเจนให้ผู้นำทั้ง 4 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท.” และธนาคารกรุงไทย วางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อใช้พลังทั้งหมดดันเศรษฐกิจประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปยืนเป็นผู้นำอาเซียนและเอเชีย และหากภายใน 3 เดือนข้างหน้า ไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมสู่ความสำเร็จได้ก็คงจะต้องให้ผู้นำโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น
โดยเฉพาะการบินไทย มีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ นั่งเป็นประธานกรรมการ (บอร์ด) และทำหน้าที่อยู่ในหลายบอร์ดด้วยกัน กับนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ทุกคนจะต้องช่วยกันปลุกพลัง ส่วนที่ 1 “พลังภายในองค์กร” จะต้องทำให้พนักงานการบินไทยทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ ทั้งเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์ การลงทุนฝูงบินเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างผลผลิตสร้างรายได้ พลิกฟื้นกิจการสายการบินแห่งชาติให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง ส่วนที่ 2 พลังจากพันธมิตร ซึ่งล้วนแล้วแต่มีศักยภาพทั้ง ททท.ผู้รับผิดชอบปลุกตลาดท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่ 55 เมืองรอง และ 22 เมืองหลัก ทอท.กำลังทำแผนลงทุนขยายสนามบินนานาชาติทั้ง 6 แห่ง สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย และธนาคารกรุงไทย ซึ่งพร้อมจะเป็นกระเป๋าเงินสนับสนุนการลงทุนทุกรูปแบบ
ดร.สมคิดย้ำว่าได้ขีดเส้นตายภายใน 3 เดือน หรือไม่เกินธันวาคม 2561 นี้ ต้องส่งการบ้านมาตอบรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ทั้งนายเอกนิติและนายสุเมธจะต้องทำแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ทบทวนการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อฝูงบินใหม่ที่เสนอไปครั้งแรก 23 ลำ กลับมาทำใหม่ให้สอดคล้องกับ 1.ยุทธศาสตร์ 2.เครือข่ายการบิน 3.เที่ยวบินที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า โดยมองไปข้างหน้าถึงศักยภาพของไทย ซึ่งมีความได้เปรียบทุกประเทศในอาเซียน คือ การเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งใหม่ (MOR) บริเวณสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
รวมถึงขอให้ดูต้นแบบของ Japan Airline : JAL ซึ่งใช้เวลา 8 ปีพลิกสถานการณ์จากล้มละลายกลับมามีกำไรได้ โดยอาศัยพลังการร่วมมือของพนักงานการบินทั้งองค์กร การบินไทยเองก็ทำเช่นนั้นให้ได้ ในการนำพนักงานทุกคนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จให้ได้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ด บมจ.การบินไทย กล่าวว่า หลังจากได้รับนโยบายจาก ดร.สมคิด รองนายกรัฐมนตรี วางแผนทำสิ่งแรกคือ จะเดินหน้าทบทวนการแผนการลงทุนฟื้นฟูการบินไทยฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท หรือมากกว่า 23 ลำ ก็เป็นได้ โดยจะต้องนำมาปรับแก้ไขรายละเอียดตามจริงที่จะเกิดขึ้น เพื่อยกระดับให้การบินไทยกลับมาผงาดเป็น 1 ใน 5 ของสายการบินระดับโลก หรือ Premium Airlines ตามที่ได้รับมอบหมายให้ได้ภายในปี 2565
ทางด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ภายในปี 2563 จะทำให้การบินไทยพ้นจากวงจรบ่วงหนี้หรือภาระขาดทุนให้ได้ เนื่องจากได้เข้าไปศึกษาข้อมูลทางธุรกิจของการบินไทย ปี 2546 มีส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสาร 37 % แต่ผ่านมาเพียง 10 ปี ลดลงเหลือแค่ 27.3 % เท่านั้น ส่วนแบ่งตลาดที่หายไปนั้นจะต้องดึงกลับคืนมาเป็นของการบินไทยให้เร็วที่สุด พร้อม ๆ กับปรับโครงสร้างการทำงาน และจัดระบบการพัฒนาธุรกิจทั้ในส่วนของการขยายฝูงบิน การวางกลยุทธ์ทำตลาด จะต้องมุ่งทำไม่เฉพาะการเพิ่มอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) กำไรต่อหน่วย (yield) หรือลดต้นทุน เหมือนวงจรเดิม ๆ อีกต่อไป
แต่จะต้องสร้างความแตกต่างโดยนำเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาใช้ มีทั้งเรื่อง Digital marketing การใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าของการบินไทยผนวกรวมเข้ากับ ทอท. ททท.และอื่น ๆ แล้วนำไปเชื่อมโยงเข้ากับแผนการลงทุนจัดหาฝูงบินใหม่ ที่รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการทบทวนแผนเร่งด่วนภายใน 3 เดือนหน้านี้
ขณะเดียวกันก็จะขยายหน่วยธุรกิจโดยเฉพาะ Catering หรืออาหารขึ้นเครื่องที่สามารถให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกสนามบินของ ทอท.ซึ่งมีรวมกันปีละกว่า 100 ล้านคน เรื่อยไปจนถึงการทุ่มทำเรื่องรายได้ของการขนส่งสินค้าทางอากาศ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และอื่น ๆ
สำหรับวิสัยทัศน์ที่นายสุเมธ เตรียมนำมาใช้ผ่าตัดการบินไทย เรียกกว่า แท็กติก A-B-C-D-E ถอดรหัสได้ดังนี้ A-aggressive การทำงานเชิงรุกเร็ว B – Business ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างมีคุณภาพทั้งมูลค่าและคุณค่า C-Customer ให้น้ำหนักความสำคัญกับลูกค้าต้องมาเป็นอันดับแรก D : Digital marketing นำการตลาดดิจิตอลเข้ามาพลิกฟื้นกิจการให้กลับสู่ปกติโดยเร็วและก้าวขึ้นเป็นพรีเมี่ยม แอร์ไลน์ส ภายในปี 2565 และ E -Efficiency เพิ่มประสิทธิภาพในทุกทาง เพื่อความสำเร็จของสายการบินแห่งชาติและการบินไทย 4.0 นำเศรษฐกิจชาติก้าวสู่ผู้นำอาเซียนและเอเชียได้อย่างแท้จริง
ขณะที่ “ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า พร้อมเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับทั้ง 3 รัฐวิสาหกิจ นำรายได้ท่องเที่ยวกระจายสู่ชุมชนทั่วประเทศลดความเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะการปลุกกระแสนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปยังเมืองรอง สถิติ 7 เดือนแรกปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้าไปแล้วกว่า 40 ล้านคน ตลอดปีงบประมาณ 2561 จะสร้างรายได้เข้าเมืองรองได้ตามเป้าหมาย 2.5 แสนล้านบาท
ล่าสุดยังได้ไปทำความตกลงกับทางมณฑลหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำมหกรรมจัดแพกเกจขายเมืองรองเข้ามายังไทย รวมถึงจะใช้ช่องทางที่ ททท.ได้เอ็มโอยูกับเว็บไซต์ระดับโลก Expedia ซึ่งมีผู้ใช้ปีละกว่า 600 ล้านคน เพิ่มช่องทางการเจาะตลาดเข้าถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้หันมาเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยกับการบินไทย
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ยืนยันจะทำภารกิจเคียงข้างการบินไทย ททท.และกรุงไทย โดยมีโครงการไฮไลต์ให้บริการแนวใหม่ในแบบดิจิตอล แพลตฟอร์ม เป็นแอพลิเคชั่น ที่จะนำบิ๊กดาต้าทั้งหมดมารวมศูนย์ไว้ในแอพเดียว เพื่อให้ผู้โดยสาร ลูกค้า ติดตามใช้สนามบินของ ทอท. เที่ยวบิน และบริการทุกชนิด ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ผ่านเข้าออก สนามบินของไทย อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีโครงการประกาศให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็น Cirtifly Cargo Hub ภายในเดือนเมษายน 2562 เป็นข่าวดีต้อนรับการเดินทางท่องเที่ยวช่วงก่อนสงกรานต์ปีหน้า เป็นการเลื่อนเปิดแอพลิเคชั่นใหม่ให้เร็วขึ้นจากเดิมกำหนดเปิดเดือนกรกฎาคม 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น