“TCEB”ผนึกประกันสังคมเปิดเยียวยาอุตฯไมซ์คุมเข้ม 29 จังหวัด นายจ้างรับ3พัน/คน-ลูกจ้างรับ2.5พัน-เฮเพิ่มสิทธิ์5อาชีพไมซ์ทัวร์
“TCEB”ผนึกประกันสังคมเปิดเยียวยาอุตฯไมซ์คุมเข้ม 29 จังหวัด
นายจ้างรับ3พัน/คน-ลูกจ้างรับ2.5พัน-เฮเพิ่มสิทธิ์5อาชีพไมซ์ทัวร์
เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza #รายการรวยด้วยข่าวเสาร์อาทิตยFM97 #TCEB #ประกันสังคมเยียวยาไมซ์29จังหวัด
“TCEB” กอดคอ “สำนักงานประกันสังคม” กระทรวงแรงงาน เปิดสัมมนาออนไลน์ “จ่ายเยียวยา” ภาคอุตสาหกรรไมซ์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ม.33/39/40 “เจ้าของกิจการ” ได้ 3,000 บาท/คน/กิจการขนาดไม่เกิน200คน “ลูกจ้าง” ได้ 2,500 บาท/คน เพิ่มพิเศษ 5 กลุ่มอาชีพเฮเข้าข่ายได้สิทธิ์ด้วย “ธุรกิจท่องเที่ยว/มัคคุเทศก์/จัดแสดงสินค้า/จัดประชุม/กิจการหลายสาขาย่อย” เอกชนแห่ฟังพร้อมหน้ากว่า 240 ราย จากตัวแทน 10 องค์กรหลัก
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผยว่า ทีเส็บร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้จัดกิจกรรม “ไมซ์คลินิก” จัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เพื่อเป็นเวทีสื่อกลางประสานงานให้หน่วยงานภาครัฐ ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการไมซ์ถึง “นโยบายและแนวทางดำเนินงานสำคัญของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์” แก่นายจ้างและลูกจ้างในอุตสาหกรรมไมซ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ได้สอบถามข้อมูลเชิงลึก สร้างความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามมาตรการเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างถูกต้อง โดยมีผู้เกี่ยวข้องร่วมฟังสัมมนาออนไลน์กว่า 240 ราย
การเปิดสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการไมซ์ เพราะมาตรการดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของแต่ละฝ่าย ทีเส็บในฐานะหน่วยงานรัฐหลักที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์พร้อมเดินหน้าประสานงานและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไมซ์ ได้รับความรู้ความเข้าใจมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาอย่างถูกต้องต่อไป
นายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ทางสำนักงานประกันสังคมทำโครงการ “จ่ายเงินเยียวยาแก่นายจ้างและผู้ประกันตน” ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เป็นกิจการ 9 ประเภท ครอบคลุมถึง “กิจการจัดการประชุมและจัดการแสดงสินค้า” 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการเยียวยาฯ นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33
2.โครงการเยียวยาฯ ผู้ประกันตนมาตรา 39
3.โครงการเยียวยาฯ ผู้ประกันตนมาตรา 40
อีกทั้งประกันสังคมยังพร้อมจ่าย “ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย” เนื่องจากรัฐสั่งปิดเพิ่มเติมด้วย
สำหรับโครงการจ่ายเงินเยียวยา “นายจ้าง” และ “ผู้ประกันตน” ตามมาตรา 33 ทางสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือดังนี้คือ
ประเภทแรก - นายจ้างบุคคลธรรมดา “รับเงินผ่านพร้อมเพย์” เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น
ประเภทที่สอง -นายจ้างนิติบุคคล “รับเงินผ่านบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้กับสำนักงานประกันสังคม” โดยนายจ้างจะต้องแจ้งความประสงค์ขอรับการเยียวยาและยื่นเอกสารให้ครบผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th
“ลูกจ้าง/ผู้ประกันตัน” แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้ “รับเงินช่วยเหลือ” 2,500 บาท /คน (สัญชาติไทย) ผ่าน “พร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน” เท่านั้น
กลุ่มที่ 2 ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้ “รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ” 5,000 บาท/คน
สำหรับกรณี “ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากรัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว” ลูกจ้างร้านอาหารและผู้ประกอบการที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลาก่อนว่างงาน 15 เดือน จะได้รับเงินชดเชย 50 % ไม่เกิน 90 วัน
นายสุรสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มธุรกิจที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์เยียวยาที่เกี่ยวข้อง ก็มี 1.ธุรกิจนำเที่ยว 2.มัคคุเทศก์ 3.ผู้จัดงานแสดงสินค้า และ 4.การจัดประชุม และ 5.ธุรกิจที่มีสำนักงานหลายสาขา สาขาย่อยสามารถไปแจ้งข้อมูลกับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ได้โดยตรง
โดยมีกลุ่มที่ “ไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์” คือ “ธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่รัฐประกาศ 9 ประเภท และธุรกิจที่ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิด แต่ยุติการดำเนินงานเอง
หากผู้ประกอบการหรือผู้ประกันตนมีข้อสงสัยหรือต้องการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิ์รับการเยียวยา สามารถติดต่อ สำนักงานประกันสังคม ได้ทางสายด่วน 1506 เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ที่เข้าร่วมฟังเป็นผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ กว่า 240 ราย ประกอบด้วย สมาคมด้านไมซ์ ท่องเที่ยว และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน อาทิ 1.สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) 2.สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA) 3.สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) 4.สมาคมโรงแรมไทย (THA) 5.สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA)
6.สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT) 7.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) 8.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ADT) 9.สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) 10.สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA)
ตลอดการสัมมนาออนไลน์ หรือ Webinar ที่ทีเส็บกับสำนักงานประกันสังคม จัดขึ้นนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ที่ร่วมเข้าฟังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยส่งคำถามล่วงหน้าเพื่อสอบถามข้อมูล และส่งคำถามสอบถามช่วงเวลาสัมมนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการทำความเข้าใจในหลากหลายประเด็นที่เป็นคำถามยอดนิยม ได้แก่
1.ขอบข่ายการได้รับสิทธ์เยียวยาของธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ งานแสดงสินค้า และงานประชุม
2.แนวทางการสนับสนุนกรณีเมื่อธุรกิจถูกสั่งปิดเกิดความเสียหายมากกว่าเงินเยียวยาที่ได้รับ
3.แนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมของภาครัฐ
4.วิธีดำเนินการกรณีที่ไม่เข้าข่ายอยู่ในกิจการ 9 ประเภท ที่ได้รับสิทธิ์การเยียวยา
5.การช่วยเหลือกรณีธุรกิจไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดแต่จำเป็นต้องยุติการดำเนินงาน
6.กรณีที่สำนักงานมีหลายสาขา สำนักงานใหญ่ได้รับสิทธิ์เยียวยาแล้ว แต่สาขายังไม่ได้รับการเยียวยา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น