งานเข้า"พิพัฒน์ รัชกิจประการ"รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่ มาในยุคตลาดขาลง-แถมยุทธศาสตร์ตั้งเป้า2ปีหน้าท่องเที่ยวต้องได7.8ล้านล้านบาท
งานเข้า“รมว.ท่องเที่ยวคนใหม่”โชวืฝีมือแก้ตลาดขาลง
จับตา!!ปี’63-64ต้องดันเป้ารายได้เข้าไทย7.8 ล้านล้าน
คิงเพาเวอร์จัดโปโลการกุศลในอังกฤษรำลึกเจ้าสัววิชัย
ททท.พลิกแผนปี’63ชู5GO-ฉลอง60ปีบูม60เส้นทาง
บางจากลุยซีเอสอาร์ร้านSPARแจกถุงผ้าโรงพยาบาล
TCEBคัด3ทีมสตาร์ตอัพสร้างนวัตกรรมไมซ์ในUFI
MoreFun!ชุมชนบ้านคลองนาเกลือสมุทรปราการ
ดูให้ดีก่อนซื้อผลไม้รถเข็นต้องระวังสารปนเปื้อนต่างๆ
ทอท.แจงยิบแผนงานปี’62-ผลการประมูล4สนามบิน
ททท.บูมเส้นทางเที่ยวใหม่”คูเมืองโบราณ”ในสิงห์บุรี
เร่งเปิดบริการรถโดยสารเขตเศรษฐกิจไทย-เมียนมา
ต้อนรับเข้าสู่รายการ “รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์” ในวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2562 เวลา 11.00-12.00 น.พบกับ “เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 97.0 MHz. ฟังได้ทางมือถือ และอ่านได้ทาง www.facebook.com/penroongyaisamsaen และบล็อกเกอร์ #gurutourza #สวท97 #รวยด้วยข่าว #เที่ยวกับกู๋ #วันธรรมดาน่าเที่ยว #MoreFunตะวันออก #
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา |
ช่วงที่ 1 ฟังบทวิเคราะห์จาก “เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน” ผู้ดำเนินรายการ เกาะติดสถานการณ์งานเข้า “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว คนใหม่ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 จะโชว์ฝีมือผู้นำทัพท่องเที่ยวของประเทศฟันฝ่าวงล้อมเศรษฐกิจขาลงในประเทศและทั่วโลกได้อย่างไรตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องแผนวิสาหกิจการท่องเที่ยว 5 ปี ที่จะสิ้นสุดในปี 2564 ระหว่าง 2 ปีหน้า 2563-2564 ภารกิจใหญ่เรื่องเป้ารายได้ 7.8 ล้านล้านบาท กำลังรออยู่ แต่จะใช้วิธีไหนทำให้ได้ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดกันต่อไป
สถานการณ์ความท้าทายที่กำลังรอต้อนรับ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ จากพรรคภูมิใจในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเข้ามาในจังหวะที่เศรษฐกิจและรายได้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยโดยรวมอยู่ในช่วง “ขาลงหรือตกท้องช้าง” รุนแรงขึ้น นับจากครึ่งหลังปี 2562 และ/หรืออาจต่อเนื่องไปถึงอนาคตอีก 2 ปีหน้า 2563-2564
ขณะนี้ทุกฝ่ายทั้งในประเทศและทั่วโลกส่งสัญญาณกันอุตลุตว่า “เศรษฐกิจขาลงรุนแรง” ย่อมส่งผลถึงการท่องเที่ยวไทยไม่มากก็น้อย ซึ่งตามปกติไทยจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดเอเชียกับยุโรปแทบจะครึ่ง ๆ แต่วันนี้สถานการณ์ในประเทศและทั่วโลกเปลี่ยนทิศทางดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด
เริ่มจาก “ภูมิภาคเอเชีย” เมื่อ ”มหาอำนาจจีน” ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวตลาดขนาดใหญ่ของโลกชะลอตัว และถูกฉุดด้วยสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ส่วนญี่ปุ่นปี 2563 เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 แนวโน้มจะมีแต่คนไหลเข้าไปชมมหกรรมกีฬาระดับโลกรวมกว่า 11 ล้านคน แต่ไทยก็ยังพอมีหวังกับตลาดญี่ปุ่นจะต้องทำได้ปีละ 2 ล้านคนขึ้นไป
“กลุ่มตะวันออกกลาง” 8 ประเทศ อาการหนักต่อเนื่องมากว่า 2 ปี จากเศรษฐกิจภายในและมีบางประเทศอย่างอิหร่านได้รับผลกระทบจากสหรัฐอเมริกาแซงซั่น จึงทำให้การท่องเที่ยวซบเซาต่อเนื่อง ไทยทำได้เพียงแค่ปรับกลยุทธ์ไปตามสถานการณ์เหมาะสม ขณะที่ “สหภาพยุโรป” ทรงกับทรุดสลับกันแถมอังกฤษยังหาทางออกเรื่องปัญหา Brexit ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงประเทศหลัก ๆ ซึ่งเคยเป็นนักท่องเที่ยวตลาดหลักของไทยก็เปลี่ยนพฤติกรรมหันไปเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันเพิ่มขึ้น ในกลุ่มสแกนดิเนเวียรณรงค์ให้ช่วยกันลดโลกร้อนเซฟสิ่งแวดล้อมโดยลดการนั่งเครื่องบินเที่ยวระยะไกลข้ามทวีป
ทางด้าน “อเมริกา-แคนนาดา” ถึงแม้ตลาดนักท่องเที่ยวจะมาเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับ “ทวีปแอฟริกา” ถึงแม้จะมีตลาดดาวรุ่งประเทศใหม่ ๆ เลือกมาเที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับต้น ๆ ก็ตาม แต่ฐานตัวเลขมีจำนวนหลักแสนคน ความถี่ในการเดินทางไม่มาก และแทบจะไม่มีเที่ยวบินตรง จึงเป็นข้อจำกัดที่เติบโตได้ไม่มาก
ล่าสุด “โชติ ตราชู” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกตัวแรงสุดหลังออกมาประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ถึงสถานการณ์ “รายได้ท่องเที่ยวปี 2562” มีแนวโน้มจะลดต่ำลงกว่าเป้าหมายมากถึง 1.8 แสนล้านบาท โดยรวมตลอดทั้งปีจะทำได้เพียง 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และในประเทศ 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนครึ่งแรกปี 2562 ระหว่างมกราคม-มิถุนายน ทำไว้ได้แล้ว 1.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากต่างชาติ 1.01 ล้านล้านบาท เพิ่ม 0.3% จากจำนวน 19.6 ล้านคน เพิ่ม 0.7% และตลาดในประเทศ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่ม 5% จากจำนวน 76 ล้านคน/ครั้ง เพิ่ม 2%
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวคาดการณ์สถานการณ์แนวโน้มปีนี้ แตกต่างจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มากถึง 9 เท่า เพราะ ททท.ขอปรับเป้ารายได้ลงเพียง 20,000 ล้านบาท เหลือ 3.38 ล้านล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 3.40 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 % มาจากต่างชาติ 2.22 ล้านล้านบาท และในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท
แต่ข้อมูลประเมินสถานการณ์ปี 2562 ของ ททท.ไปในทิศทางเดียวกับ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ซึ่งพยากรณ์แนวโน้มท่องเที่ยวจะเป็นบวกจากปัจจัยครึ่งปีหลังเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (high season) ตลอดทั้งปีต่างชาติจะเที่ยวไทย 39.0-39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีก 2- 4% ใช้เงิน 1.94-1.97 ล้านล้านบาท จากจำนวน 20.1 ล้านคน เพิ่มกว่า 7.0% ส่วนครึ่งปีแรกทำตุนไว้แล้ว 19.7 ล้านคน เพิ่ม 1.1% โดยสถิติรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปี 2562 เติบโตเปลี่ยนแปลงไป โดยมี4 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.เทรนด์ของต่างชาติมีพฤติกรรมใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวบางรายการลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเติบโตเร็วซื้อทุกอย่างได้ถูกลง
2.จำนวนวันพักเฉลี่ยแต่ละทริปอาจลดลง เพราะยุคใหม่คนนิยมเดินทางแต่ละปีด้วยความถี่หลายทริปกระจายไปยังหลายประเทศมากขึ้น
3.การแข่งขันเรื่องราคาของผู้ประกอบการในประเทศนั้นกับประเทศอื่น ๆ ที่เข้าไปทำตลาดดุเดือดมากขึ้น จึงอาจจะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของไทยที่ต้องการส่งเสริมและเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มคุณภาพให้เข้ามาใช้เงินต่อหัวสูงขึ้น
4.สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน อาจสร้างความท้าทายต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินอนาคตเรื่อง “ความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทย” จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ต้องเร่งวางแผนรับมือ แต่ไทยก็ยังมีความหวังกับตลาดต่างชาติที่จะเติบโตได้ดี ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ส่วนจีนต้องเร่งเครื่องช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมทั้งต้องเกาะติดเรื่องการแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจและค่าเงินด้วย
“ยุโรป” ไทยต้องมุ่งทำการตลาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน จะโหมสร้างจุดขายสถานที่ท่องเที่ยวและตลาดใหม่มาทดแทนตลาดเดิมคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว โดยภาพรวมรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว (Traveller Journey) เป็นหลัก ได้แก่
1.การพัฒนาและการบริหารจัดการระบบการคมนาคมขนส่งในประเทศ การบริหารจัดการบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพ
2.การวางแผนการตลาดนักท่องเที่ยวด้วยการเจาะลึกตามกลุ่ม Segment
3.พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้คงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
4.การพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาประเทศร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน เช่น จัดการแข่งขันกีฬาเรือใบหรือเรือยอร์ช (Yacht Racing) เพื่อขยายเส้นทางการแข่งขันเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถดึงดูดกลุ่มมหาเศรษฐีของโลกที่มีความชื่นชอบในแต่ละการพักผ่อนแตกต่างกันไป
“ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในการวางแผนตลาดท่องเที่ยวประจำปี 2563 (TATAP2020) ยังต้องปฏิบัติตามแผนวิสาหกิจ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) โดยตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ 3.718 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 % จากตลาดต่างประเทศ 2.431 ล้านล้านบาท ตลาดในประเทศ 1.287 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องปี 2564 ตั้งเป้ารายได้รวมไว้ 4.090 ล้านล้านบาท จากตลาดต่างประเทศ 2.674 ล้านล้านบาท ตลาดในประเทศ 1.416 ล้านล้านบาท โดยจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวตลอด 2 ปีหน้ารวมกว่า 7.08 ล้านล้านบาท กระจายสู่ท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนทั้งทางด้านการท่องเที่ยว และเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนแนวทางสื่อสารการตลาดปี 2563 ของ ททท.ใน “ตลาดต่างประเทศ” ชูแบรนด์ Amazing Thailand ภายใต้ธีมขาย “Open to the New Shades” มุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาการสร้างประสบการณ์ดี ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจจากการได้สัมผัสจริงและเกินความคาดหมาย โดยจะทำโฆษณาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ส่วน “ตลาดในประเทศ” ชูแบรนด์ amazing ไทยเท่ ภายใต้ธีมขาย “เมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์” เข้าถึงทุกกลุ่มอายุและกลุ่มความสนใจ หรือข้ามกลุ่มลูกค้า กระตุ้นคนไทย สนุก มีความสุข และภูมิใจในออกแบบการท่องเที่ยวด้วยตนเอง
รวมทั้งเตรียม “ฉลอง ททท.ครบ 60 ปี” ด้วยแคมเปญ “ก้าวต่อไป เพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน” ภารกิจทั้งหมดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองไทย รอว่าที่ “รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” คนใหม่เข้ามานำทัพฝ่าวงล้อมเศรษฐกิจไทยและโลกช่วงขาลงให้เดินไปข้างต่อได้อย่างสง่างาม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนที่จับต้องได้อย่างแท้จริง
ฟังข่าวต้นชั่วโมง
ข่าวที่ 1 ““คิง เพาเวอร์”จัดโปโลคัพรำลึกเจ้าสัววิชัยมอบ1ล้านปอนด์15องค์กร”
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ พร้อมครอบครัว นางเอมอร ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ นายอภิเชษฐ์ นางวรมาศ และนางสาวอรุณร่ง ศรีวัฒนประภา ได้ร่วมสนับสนุน The King Power Royal Charity Polo Cup 2019 For The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy การแข่งขันโปโลการกุศลแห่งปี ณ ประเทศอังกฤษ ย้อนรำลึกถึงคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา บุรุษผู้ก่อตั้งสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาขี่ม้าโปโลไทยให้ทัดเทียมสากล สานต่อเจตนารมณ์ที่ต้องการยกระดับกีฬาขี่ม้าโปโลไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก
ซึ่งทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ร่วมผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันโปโลการกุศลแห่งปีของประเทศอังกฤษโดยระดมทุนบริจาค 1 ล้านปอนด์ มอบให้กับมูลนิธิ และองค์กรการกุศลในประเทศอังกฤษจำนวน 15 แห่ง การจัดThe King Power Royal Charity Polo Cup 2019 For The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจ และความมุ่งมั่นของ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และผู้ก่อตั้ง และอดีตนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย ที่ต้องการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับมาตรฐานกีฬาขี่ม้าโปโลของประเทศไทยไปสู่มาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลกนั้น ก่อเกิดเป็นงาน The King Power Royal Charity Polo Cup 2019 for The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy
การแข่งขันโปโลการกุศลสุดยิ่งใหญ่แห่งปี จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนทรัพย์ (โดยไม่หักค่าใช้จ่าย) มอบให้องค์กรการกุศลในประเทศอังกฤษ และเพื่อร่วมรำลึกถึงคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ซึ่งมีคุโณปการต่อวงการกีฬาขี่ม้าโปโล งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ร่วมการแข่งขัน โดยมีแขกผู้มีเกียรติทั้งจากไทย และอังกฤษร่วมงานอย่างอบอุ่น ณ บิลลิ่งแบร์ เอสเตท ประเทศอังกฤษ
นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และอุปนายก สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย หนึ่งในนักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทยด้วย กล่าวว่า การเชื่อในศักยภาพของคนไทย เชื่อในพลังคนไทย และเชื่อว่าคนไทยทำได้ เป็นหัวใจของคิง เพาเวอร์เสมอมา การก่อตั้งสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2541 หรือ 21 ปีที่ผ่านมา โดยคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ซึ่งรักกีฬาขี่ม้าโปโลเป็นชีวิตจิตใจ จากความรัก แปรผันเป็นความตั้งใจ สู่ความมุ่งหวังให้กีฬาประเภทนี้เป็นที่รู้จัก และยอมรับมากขึ้นทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อยากเห็นนักกีฬาไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ทัดเที่ยมกับสากล และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในที่สุด ที่ผ่านมานักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทยเคยได้รับเหรียญ และถ้วยรางวัลจากการแข่งขันหลายรายการ อาทิ Thailand Polo King's Cup ที่ได้รับพระราชทานจากพระบามสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, Cartier Queen’s Cup ที่ได้รับจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ, Jaeger-LeCoultre Gold Cup และการแข่งขันซีเกมส์ เป็นต้น
ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคุณวิชัยได้เป็นอย่างดี โดยคิง เพาเวอร์ จะยังคงเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ของคุณวิชัย สนับสนุนนักกีฬา และกีฬาขี่ม้าโปโลไทยในทุกมิติให้ก้าวไกลสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืนต่อไป ในการแข่งขันรอบการกุศลครั้งนี้ได้รับเกียรติจากดยุกแห่งเคมบริดจ์เป็นประธานเปิดงาน โดยมีครอบครัวศรีวัฒนประภาทุกคนตามที่ได้กล่าวข้างต้น พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ให้การต้อนรับ เป็นการพบกันะระหว่างทีม King Power นำโดยดยุกแห่งเคมบริดจ์ และอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และทีม Tarmac นำโดยดยุกแห่งซัสเซกซ์ และอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา ใช้เวลาในการแข่งขัน 4 ชักก้า ผู้ชนะได้แก่ ทีม King Power ด้วยคะแนน 7 ต่อ 6 และได้ครองถ้วย The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy 2019
ข่าวที่ 2 “ททท.ลั่นพลิกกลยุทธ์ใหญ่5GO-60ปีดึงรายได้ไทย-เทศปี’63
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 วางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกหนักมากขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งประเทศที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก สร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% คิดเป็น 3.71 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป้าหมายการสร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว โดยจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากปริมาณคนมาก (Mass Tourism) เป็นจุดหมายปลายทางคุณภาพรณรงค์ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) เติบโตให้ได้เกินครึ่งของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
โดยจะนำเสนอสินค้าและบริการเอกลักษณ์วิถีไทยที่ทรงเสน่ห์ ด้วยกระบวนการพัฒนา ต่อยอด เพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านการใช้นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับเรื่องเล่าเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น กับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่รักและต้องการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง ให้มีการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ท้องถิ่นต้องการเพื่อสืบสานและส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป และจะเพิ่มการออกแบบสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายหรือกิจกรรมที่ดึงให้นักท่องเที่ยวอยู่นานวันขึ้น เล็งเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงและที่ให้ความสำคัญกับคุณค่ามากกว่าราคา
โดยภาพรวม จะเร่งทำ “ตลาดต่างประเทศ” เจาะลูกค้าคุณภาพรายกลุ่ม (Segment) โดยชูจุดขายด้วย 5 Go ประกอบด้วย 1.Go high-เจาะและขยายกลุ่มกำลังซื้อสูง มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม 2.Go New Customer-ขยายตลาดเดินทางครั้งแรกหรือ First Visit จากกลุ่มลูกค้าใหม่ในพื้นที่เดิมและหาเพิ่มในพื้นที่ใหม่ ๆ 3.Go Local คือ เจาะกลุ่มสนใจการท่องเที่ยววิถีถิ่น 4.Go Low Season-กระตุ้นการเดินทางเข้ามาประเทศไทยช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และ 5.Go Digital เป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการเข้าถึงเป้าหมาย
จะชูธีมสื่อสารการตลาดด้วย Amazing Thailand คงไว้ในธีม “Open to the New Shades” เนื้อหามุ่งเน้นนำเสนอประสบการณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจจากประสบการณ์จริงและเกินความคาดหมาย ที่นักท่องเที่ยวมีต่อประเทศไทย โดยจะจัดทำชุดโฆษณาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ไฮไลต์หลัก ๆ จะเน้น “Amazing Thailand Week” ผ่านการทำงานของ ททท. ทุกสำนักงานต่างประเทศทั่วโลก ร่วมกับพันธมิตร กระตุ้นความสนใจนักท่องเที่ยวให้อยากเดินทางมาเมืองไทยเพิ่มเติม ผ่านการดำเนินงานรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ทุกประสบการณ์มีเรื่องราวที่ดีเกี่ยวกับประเทศไทยตลอดทั้งสัปดาห์
ส่วน “ตลาดในประเทศ” แบ่งกลุ่มเป้าหมายในหลายมิติ แบ่งตามลักษณะ (Profile) ได้หลากหลายกลุ่ม : Gen X / Gen Y /Family and Millennial family /Silver age / Lady / First Jobber /Multi-Gen / Corporate ลุยขยายคนไทยทุกภูมิภาค เพื่อขยายฐานตลาดใหม่ ๆ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดกรุงเทพฯ มากจนเกินไป รวมทั้ง แก้ปัญหาเรื่องการแย่งตลาดกันเอง อีกด้วย ภายใต้แคมเปญ amazing ไทยเท่ ในธีม “เมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์” ดึงดูดทุกกลุ่มอายุและกลุ่มความสนใจ หรือข้ามกลุ่ม กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคนไทยมีความสนุก ความสุข และความภูมิใจในออกแบบการท่องเที่ยวของตัวเอง ต้องการส่งต่อวิธีเที่ยวของตนให้กับผู้อื่นให้เกิดแรงบันดาลใจเที่ยวในแบบของตนเอง
พร้อมทั้งเตรียมทำ “โครงการ 60 เส้นทางความสุข @ เมืองไทย เดอะ ซีรีส์” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ภายใต้แรงบันดาลใจของ 3 ฤดูกาลที่แตกต่าง โดยเส้นทางที่สร้างสรรค์จะใช้ระบบการขนส่งของภูมิภาคและพาหนะท้องถิ่นเป็นเครื่องมือส่งต่อการท่องเที่ยวทั่วประเทศใน 60 เส้นทางความสุข เชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวหลักและรอง ไปจนถึงชุมชน อีกทั้งปี 2563 ททท. จะครบ 60 ปี จะชูจุดขายเพิ่มในโครงการ “ก้าวต่อไป เพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน” ควบคู่กับแคมเปญทางการตลาด มุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือพนักงาน ททท. ประชาชนทั่วไป และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับประเทศต่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบอันหมายรวมถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ
ข่าวที่ 3 “บางจากรณรงค์ช้อปในร้านSPAR หันใช้ถุงผ้าลดพลาสติก
นายวิบูลย์ วงสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ในเครือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้นำทีมผู้บริหารมอบถุงผ้าที่ลูกค้าบริจาคจากร้านร้านสพาร์ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด "Let's Save Nature Together" จึงได้นำถุงผ้าดังกล่าวมอบต่อให้นางสาวเพชรลดา อ้อชัยภูมิ ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำไปส่งต่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มารับการรักษา และใช้ใส่ยากลับบ้าน แทนการใช้ถุงพลาสติก
เป็นการช่วยรณรงค์งดการใช้ถุงพลาสติก และลดปริมาณขยะ การส่งมอบโครงการถุงผ้าครั้งนี้ ได้ดำเนินการ ส่งมอบกันที่ ร้านสพาร์ สาขา M-Tower ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลุกจิตสำนึกลดการใช้พลาสติกให้น้อยลงต่อเนื่องในระยะยาว
ข่าวที่ 4 “TCEBได้3ทีมสตาร์ตอัพนวัตกรรมไมซ์โชว์ในUFI2019”
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ได้จัดโครงการแข่งขันประกวดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์ ขึ้นโดยแนะนำและส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีแก่ธุรกิจไมซ์เชื่อมต่อเครือข่ายเหล่าผู้นำในสตาร์ทอัพ ecosystem ของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อคัดเลือกสตาร์ทอัพที่โดดเด่นเข้าโครงการบ่มเพาะ Thailand’s MICE Startup โดยได้รับความร่วมมือจากอิมแพ็คเทค (ไทยแลนด์) ด้วย
สำหรับการแข่งขันดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562 มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลก 47 ทีม ทั้งจากไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเช็ก และอินเดีย โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมได้คัดเลือกผู้เข้ารอบ 12 ทีม เพื่อให้แต่ละทีมนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีแก่ธุรกิจไมซ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาในรอบตัดสินเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562 ให้เหลือเพียง 3 ทีม
ขณะนี้ได้ทีมผู้ชนะในโครงการ Thailand’s MICE Startup ซึ่งทีมสตาร์ตอัพของไทยชนะเข้ารอบทั้งหมด 3 ทีม กำลังเตรียมตัวนำเสนอโครงการโดยการแปลงแนวคิดไปสู่การปฏิบัติได้จริงในงานการประชุมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก 86th UFI Global Congress ระหว่างวันที่ 6-9 นี้ได้แก่
อันดับ 1 ทีม SNEAK เป็นสตาร์ทอัพผู้จัดทำแพลทฟอร์มวางแผนการท่องเที่ยวด้วยรูปภาพ
อันดับ 2 ทีม Mindstree สตาร์ทอัพที่มุ่งให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือกระจายรายได้สู่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว จะทำเป็นระบบฐานข้อมูลพร้อมจะเชื่อมต่อกับทุกหน่วยงานของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนในลักษณะของ Freemium model เน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพและกลุ่มนักเดินทางไมซ์
อันดับ 3 ทีม Potioneer (โพชั่นเนียร์) กลุ่มสตาร์ทอัพจัดทำระบบช่วยให้ผู้หลงใหลในอาหารและเครื่องดื่มค้นพบงานกินดื่มสุดเอ็กซ์คลูซีฟได้ง่ายยิ่งขึ้น และจะช่วยให้ผู้จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นเชฟ บาร์เทนเดอร์ หรือ เจ้าของโปรดักส์ต่างๆ เพิ่มช่องทางขายตั๋วเข้างานผ่านช่องทางออนไลน์สะดวกสบายขึ้นด้วย
ช่วงที่ 2 ออกเดินทางไป More Fun สนุกสนานกับการท่องเที่ยวชุมชน “บ้านนาเกลือ” สมุทรปราการ ดูอาชีพคนทำวัง (ประมง) เรียนวิธีตกปลาแบบบ้าน ๆ ล่องเรือไปชมปากอ่าว เดินชมตลาดเสาร์-อาทิตย์ แต่ละกิจกรรมสนุกต่างกัน ส่วนการ “ซื้อผลไม้รถเข็น” ต้องระวังสารปนเปื้อนให้มาก และข่าวน่ารู้ “ทอท.แจงยิบ” แผนงานปี’62 “ททท.บูมเที่ยวแหล่งใหม่” คูเมืองโบราณ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และ “กรมขนส่งทางบก” เร่งเปิดบริการรถโดยสารและขนส่งสินค้าเขตเศรษฐกิจไทย-เมียนมา
@More Fun เที่ยวชุมชนบ้านคลองนาเกลือ สมุทรปราการ
ในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ อย่าง “สมุทรปราการ” ก็มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนคุณภาพดีที่จะมาชวนไปเยี่ยมชม หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของ “กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านคลองนาเกลือ” ที่มีความโดดเด่นในหลายมิติ วิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้เขาเรียกตัวเองว่าคนทำวังจากรุ่นสู่รุ่น (คนพื้นเพเรียกขานในอาชีพการทำประมง) และอาชีพตัดจาก – เย็บจาก จนเมื่อปี 2554 – 2555 มีโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ชาวบ้านได้ฝึกอาชีพ และในห้วงเวลาคาบเกี่ยวกันก็มีโครงการประชารัฐของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริม แนะนำ และอบรมวิชาชีพให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งเช่นกัน จึงได้ก่อเกิดประโยชน์ใน 3 มิติ คือ
การสร้างคุณค่าในตัวตนของชาวบ้าน การรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาพัฒนาและผลิตเป็นสินค้า หรือ อาหารจำหน่าย และส่วนหนึ่งของเปิดตลาดท่องเที่ยวให้กับจังหวัดสมุทรปราการมากขึ้น กิจกรรมการท่องเที่ยว ทางจังหวัดได้กำหนดสถานที่และกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวไว้ คือ
กิจกรรมแรก นักท่องเที่ยวลองลงวังชมดูกุ้ง หอย ปู ปลา หรือผู้สูงวัยจะมาเรียนรู้และนั่งตกปลากับชาวประมงก็ได้
กิจกรรมที่ 2 ล่องเรือชมวิวปากอ่าวชายทะเล เพื่อไปสักการะเจ้าพ่อปากอ่าว และอีกเส้นทางเพื่อมุ่งไปยังหลักเขต ตรงไปยังพระสมุทรเจดีย์ ชมป้อมผีเสื้อสมุทร กองเรือทุ่นระเบิด และกราบหลวงพ่อโต
กิจกรรมที่ 3 เที่ยวตลาดสาวนาเกลือทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เลือกซื้อขนมและอาหารแห้งต่างๆ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดได้รับการสนับสนุนอาชีพจากหน่วยงานรัฐและโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของ รัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดการผลิตขนมต่างๆ และของใช้ภายในครัวเรือน และสินค้าทั่วไป ซึ่งใช้ลูกจากเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปังไส้ลูกจาก ขนมเปี๊ยะไส้ลูกจาก ข้าวต้มมัดที่ใช้ใบจากเป็นวัสดุห่อ น้ำลูกจาก ขนมย่างใส่ลูกจาก น้ำยาล้างจาน
กิจกรรมที่ 4 นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การทำเปลผ้าร่มซึ่งเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของชาวประมง ตะกร้าเครื่องจักรสาน การทำดอกไม้ทิพ ดอกไม้จัน ส่วนเรื่องอาหารการกินหายห่วง ทั้งเมนูคาว - หวานที่กำลังได้รับความนิยม ได้แก่ อาหารสดและแห้งจากทะเล ห่อหมก ปลาเค็มแร่ ยำชะคราม กุ้งเหยียด ลูกจากลอยแก้ว และขนมต่างๆตามที่กล่าวข้างบน
สนใจท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองนาเกลือ ติดต่อคุณซ่อนกลิ่น บุญแช่ม ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านคลองนาเกลือ หมู่ 2 จ.สมุทรปราการ โทร : 084 – 644 - 5228
@ดูให้ดีก่อนซื้อผลไม้รถเข็นต้องปลอดสารปนเปื้อน
ทางออกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลไม้รถเข็น สังเกตง่ายๆ ดังนี้
1.ผู้ค้าต้องใส่ใจความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นมือที่ไปหยิบจับผลไม้ หรือจะเป็นสุขภาพของผู้ขาย รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องให้ความใส่ใจในการประกอบอาชีพด้วย นอกจากนี้ตัวรถเข็นต้องสะอาด ตู้กระจกใส ไม่มีคราบฝุ่นละออง หรือรอยแตกร้าว อุปกรณ์ที่ใช้สะอาด น้ำแข็งสะอาด มีดและเขียงสะอาด มีการทำความสะอาดก่อนหรือหลังหั่นผลไม้ ผ้าเช็ดอุปกรณ์ต้องสะอาด และแยกประเภทตามการใช้งาน
2. ควรเลือกผลไม้ที่สดใหม่และตามฤดูกาล เพราะจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องสารปนเปื้อน รวมทั้งรอดพ้นจากสารกันบูดอย่างแน่นอน และที่สำคัญการกินผลไม้สดจะทำให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งสารอาหารจากผลไม้ได้มากกว่าผลไม้ดอง โดยเฉพาะวิตามินซี ที่มีในผลไม้สดมากกว่าผลไม้ดองหลายเท่า ที่สำคัญพยายามอย่ากินผลไม้ซ้ำกันทุกวัน ควรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยกินให้หลากหลายชนิด เพื่อจะได้รับสารอาหารที่หลากหลายด้วย
3. หลีกเลี่ยงผลไม้หมักดอง เพราะจะได้คุณค่าทางโภชนาการน้อยมาก นายสง่า อธิบายว่า ผลไม้ดองส่วนใหญ่มักใส่สารเคมี เช่น สารโลหะหนัก สารกันบูด บอแร็กซ์ หรือสารเพิ่มความกรอบ เสี่ยงต่อการได้รับสารปนเปื้อนสูง การกินผลไม้ดองบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายมีโอกาสได้รับโซเดียมสูงไปด้วย อาจเป็นความดันโลหิตสูง และไตทำงานหนัก
4. ระมัดระวังเครื่องจิ้มผลไม้ต่างๆ แม้เครื่องจิ้มเหล่านี้จะช่วยให้มีรสดีขึ้น แต่ผลร้ายจะตามมาคือ ทำให้ร่างกายได้รับเกลือและน้ำตาลมากเกิน เพราะเครื่องจิ้มผลไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผงบ๊วย พริกกะเกลือ น้ำปลาหวาน หรืออื่นๆ มักมีส่วนผสมของน้ำตาล เกลือ กะปิ ผงชูรส จึงควรกินแต่น้อย วิธีที่ดีควรลองกินผลไม้ที่ไม่มีเครื่องจิ้ม แล้วเราจะพบว่า ฝรั่ง มะม่วง มะกอก และผลไม้ต่างๆ มักมีรสเปรี้ยว หวาน มัน กรอบ อร่อยอยู่ในตัว โดยไม่ต้องใช้เครื่องจิ้มเลย ขณะเดียวกันควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่ใส่สี เพราะบางครั้งสีสวยๆ ที่เห็นนั้น ไม่ใช่สีผสมอาหารแต่เป็นสีย้อมผ้า รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่ใส่สารแทนความหวาน ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง คือหากกินแล้วมีรสขมติดในคอ แสดงว่าใช้สารแทนความหวานปริมาณมาก ถ้ากินติดต่อกันนานๆ จะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ข่าวท้ายชั่วโมง
ข่าวแรก “ทอท.แจงผลงานและแผนพัฒนาสนามบินปี’62”
นายพัฒนพงศ์ สุวรรณชาต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ได้นำพนักงาน ทอท.เข้าพบผู้จัดการกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เพื่อชี้แจงข้อมูลผลการดำเนินงานของ ทอท.ในปัจจุบัน และแผนงานอนาคต ได้แก่ การให้สิทธิประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร แนวโน้มปริมาณผู้โดยสาร และการเติบโตของผู้โดยสารแบ่งตามสัญชาติและประมาณการจำนวนผู้โดยสาร ปี 2562 การปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge) แผนการพัฒนาท่าอากาศยาน
แผนการพัฒนารายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินในอนาคตของ ทอท. เช่น Digital Platform, Certify Hub และ Airport City รวมทั้งตอบข้อซักถามต่าง ๆ ซึ่งจะให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจสนามบินนานาชาติของประเทศ
ข่าวที่สอง “ททท.บูมทัวร์เมืองโบราณบ้านคูเมืองสิงห์บุรี”
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี ชวนร่วมงาน “ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองโบราณบ้านคูเมือง” 12 – 14 กรกฎาคม 2562 ณ เมืองโบราณบ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยมีกิจกรรมรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ทั้งการเดินชมหมู่บ้านย้อนยุค ดูวิถีคนเมืองโบราณบ้านคูเมือง เส้นทางเที่ยวเมืองโบราณบ้านคูเมือง การแสดงแสง สี เสียง ผ่านสื่อผสม สาธิตการประกอบอาหารย้อนยุค การแสดงอาวุธคันกระสุน การแสดงจำลองเสียงจักจั่น และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น โทร. 036 – 770096 – 7
ข่าวที่สาม “กรมขนส่งเร่งเปิดรถโดยสาร/สินค้าเขตเศรษฐกิจไทย-เมียนมา”
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้ากรมการขนส่งทางบก คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งได้ครบ 100 ฉบับตามโควตาแล้ว ขั้นต่อไปเตรียมหารือเมียนมากำหนดวันเริ่มเดินรถ เป็นการเดินหน้าต่อหลังจากที่ไทยและเมียนมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา (ณ จุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี) และบทเพิ่มเติม (Addendum)
ในคราวการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี (JC GMS CBTA) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ กัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ให้สิทธิแต่ละฝ่ายในการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ไทย-เมียนมา จำนวนฝ่ายละ 100 ฉบับ โดยเส้นทางในการเดินรถได้มีการกำหนดไว้แล้วคือ
เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (เมาะลำไย-เมียวดี-แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร) รวมถึงเส้นทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในเมียนมา เมืองย่างกุ้ง กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังในไทย (ผ่านเส้นทางกอกะเร็ก-กอนโด-ซาทาพิน-ท่าตอน และ/หรือ กอกะเร็ก-กอนโด-พะอัน-ท่าตอน)
ติดตามฟังรายการได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11,00-12.00 น.ทาง สวท.FM97.0
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น