TCEBผนึก4บิ๊กเนมปั้นนวัตกรรมไมซ์สตาร์ตอัพ
คัด3ทีมเจ๋งโชว์UFI2019ดันไทยผู้นำอาเซียนไมซ์
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : #gurutourza #สวท97 #TCEB # Thailand’sMICEStartupขอบคุณภาพจาก...ยุภาภรณ์ เลิศศรัทธากิจ
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการTCEBกอดคอ4พันธมิตร โหมทำนวัตกรรมดิจิตอลสตาร์ตอัพไมซ์ |
TCEB กอดคอ 4 พันธมิตรใหญ่วงการนวัตกรรมแถวหน้าของเมืองไทย “NIA-DEPA-NSTDA-GISDA” โหมโปรเจ็กต์ “Thailand’s MICE Startup” คัดธุรกิจพันธุ์ใหม่สตาร์ตงัดไอเดียนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือต่อยอดอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผงาดขึ้นนำอาเซียน 4 ก.ค.นี้ ประกาศผู้ชนะ 3 ทีมได้ไปต่อเตรียมเปิดเวทีให้โชว์ผลงานเด็ดใน UFI 2019 งานระดับโลกที่ไทยเจ้าภาพจัด 6-9 พ.ย.นี้
ผอ.จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ที่2จากซ้าย) อธิบายความเป็นมาโครงการ Thailand’s MICE Startup จัดแข่งขัน |
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ได้รุกเดินหน้ากลยุทธ์การพัฒนาไมซ์ตามยุทศาสตร์ 3 ปี โดยมุ่งนำดิจิทัลเข้ามาเพื่อเพิ่มความขีดความสามารถผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ล่าสุดทีเส็บได้จับมือกับ 4 พันธมิตร ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA ทำโครงการ Thailand’s MICE Startup จัดแข่งขันประกวดการพัฒนานวัตกรรมด้วยการนำดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์ไทย โดยได้รับความสนใจจากนานาชาติลงสมัครตั้งแต่พฤษภาคมปีนี้มากถึง 47 ทีม จากไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเช็ก แต่ละทีมได้นำเสนอแนวคิดด้วยนวัตกรรมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านเข้ารอบ 12 ทีม เป็นโมเดลที่สามารถตอบโจทก์เรื่องการนำนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมาทำให้เกิดผลเชิงบวกกับอุตสาหกรรมไมซ์ครอบคลุมทั้งทางด้าน สังคม สิ่งแวดล้อม การเงินมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน และการสร้างมูลค่าเพิ่ม
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบทั้ง 12 ทีม ต้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีเรื่องธุรกิจไมซ์ให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งในรอบตัดสินเพื่อคัดผู้ชนะไว้เพียง 3 ทีม ได้ไปต่อใน “โครงการบ่มเพาะ Thailand’s MICE Startup” ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายจะต้องพัฒนาไอเดียที่สร้างสรรไว้ให้กลายเป็นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์นักลงทุนและผู้ประกอบการไมซ์ให้นำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ได้ ผู้ชนะจะได้รับโอกาสให้นำผลงานไปเสนอในเวทีระดับโลกซึ่งไทยจะเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงานประชุมสมาคมอุตสาหกรรมและการแสดงสินค้าโลก : UFI Global Congress 2019 ระหว่าง 6-9 พฤศจิกายน 2562 ณ ไอคอน สยาม กรุงเทพฯ จะมีผู้นำการจัดงานแสดงสินค้าระดับโลกเข้าร่วมกว่า 450 ราย ร่วมรับรู้ด้วย
อีกทั้ง TCEB ยังได้ร่วมมือกับ GISTDA โดยให้เข้าร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกสตาร์ต อัพ ต่อเนื่องถึงเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มความรู้และความแข็งแกร่งให้ผู้ชนะตลอดโครงการทั้ง 3 ทีม สร้างความร่วมมือระดับนานาชาติกับสมาคมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของสิงคโปร์ (SACEOS) จัดโปรแกรมแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันในหัวข้อ “การพัฒนานวัตกรรมและ Startups ธุรกิจไมซ์” ระหว่าง 24-26 กรกฎาคม 2562 นี้ ที่สิงคโปร์ จุดประกายความร่วมมือพัฒนาสตาร์ต อัพ ร่วมกันในอนาคต เช่น การแลกเปลี่ยน Startups Exchange Program การแลกเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรม และการเปิดโอกาสให้สตาร์ต อัพ ทั้ง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติต่อไป
นายจิรุตถ์กล่าวย้ำว่า TCEB มุ่งเดินหน้านำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ตามยุทธศาตร์เป้าหมายหลัก 3 ด้าน คือ 1.สร้างรายได้ 2.พัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และ 3.สร้างความเจริญกระจายรายได้ สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศซึ่งขณะนี้แต่ละปีเติบโตเฉลี่ย 5-10 % หากมีเครื่องมือทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมได้ถึงปีละ 20% จึงต้องเร่งหาพันธมิตรใหม่ที่แข็งแกร่งควบคู่กับขยายฐานในกลุ่มสตาร์ทอัพหรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งใช้ไมซ์เป็นแพลทฟอร์ม ร่วมมือกันเพิ่มช่องทางสร้างธุรกิจใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ต่อยอดการจัดงานไมซ์ให้ดียิ่งขึ้น และแข่งขันในเวทีนานาชาติได้อย่างยั่งยืน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) “NIA” กล่าวว่า NIA ให้ทุนสนับสนุนผ่านโครงการบ่มเพาะเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพให้เข้มแข็งสตาร์ทอัพ จึงร่วมกับ TCEB ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation) โดยทำทุกรูปแบบทั้งการส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน ให้ทัดเทียมมาตรฐานโลกและก้าวสู่ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์อาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรทุกระดับในอุตสาหกรรมไมซ์ จัดกิจกรรมการประกวดการแข่งขันไอเดียนวัตกรรมให้ตอบโจทก์ได้ในระดับประเทศและนานาชาติ
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน (กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ผลผลิตจากการจัด Thailand’s MICE Startup นอกจากจะได้สินค้าและบริการไอเดียใหม่ๆ ไปต่อยอดให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยแล้วยังแจ้งเกิดสตาร์ตอัพหน้าใหม่ ซึ่งทาง depa พร้อมผลักดันส่งเสริมให้เครือข่ายเหล่าใช้เครื่องมือต่าง ๆ ผ่านโครงการที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ 1.depa Accelerator x Techsauce-โครงการบ่มเพาะ Startup 2.Tech Tycoon -เน้นสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการโดยสนับสนุนเงินทุนผ่านมาตรการ Startup Fund แบ่งเป็น ระยะเริ่มต้น 1 ล้าน และระยะเติบโต 5 ล้านบาท
3.ส่งเสริมผ่านคูปอง Internationalization Voucher สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยต่อยอดขยายตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลในต่างประเทศ 4.มาตรการ Digital Transformation Funds-สนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป้าหมายโดยรวมต้องการให้สตาร์ตอัพเป็นทัพหน้ายกระดับไมซ์ไทยเป็นผู้นำอาเซียนไมซ์ในอนาคตอันใกล้นี้
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) กล่าวว่า โครงการ Thailand’s MICE Startup จะเป็นเวทีเฟ้นหานวัตกรรมดี ๆ เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้นักพัฒนาและสตาร์ตอัพได้เรียนรู้แนวทางการออกแบบและพัฒนาผลงาน เพื่อตอบโจทย์ และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงต่อยอดไปสู่การร่วมลงทุน ผ่านโปรแกรมการเตรียมความพร้อมและกิจกรรมบ่มเพาะของโครงการ โดยมีหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีความพร้อมด้านต่าง ๆ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มทีร่วมกัน อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน นำประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไมซ์อาเซียนได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น