TCEBดันครึ่งหลังปี’62อุตฯไมซ์ไทย-อินเตอร์โตแรง “อาเซียน/จีน/อินเดีย”พุ่ง-ชูโมเดลใหม่BtoBนวัตวิถี
เรื่องโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza #สวท97 #เที่ยสกับกู๋ #TCEB #อุตสาหกรรมไมซ์ ติดตามอ่านได้ในมติชนออนไลน์https://www.matichon.co.th/publicize/news_1592395
TCEB บุกหนักตลาดครึ่งหลังปี’62 ฝ่ากระแสร้อนสงครามการค้า ค่าเงินบาท งัดสารพัดโปรเจ็กต์เพิ่มรายได้ไมซ์อินเตอร์ “จีน-อินเดีย-อาเซียน” เสริมทัพใหญ่ด้วยแพกเกจ ASEAN Maxi MICE โกยอินเซ็นทีฟทั่วโลก ปูพรมจัด2งานระดับโลก “UFI WORLD CONGRESS 2019” 6-9 พ.ย.62 ที่ไอคอนสยาม กับ “Women Davos 2020 “ ชวนกลุ่มสตรีแถวหน้าของโลกกว่า 500 คน เฮมาไทย ด้าน “ไมซ์ประเทศ” ผนึกกรมการพัฒนาชุมชนบูมโปรเจ็กต์นวัตวิถี เพิ่มเซ็กชั่นใหม่ปั้นโมเดลนำร่องเปิดเจรจาธุรกิจ B ot B ในงานโอท็อปทุกรายการ ดันสินค้าชุมชนขายกระหึ่ม มั่นใจตลอดปี’62ไมซ์ฉลุยเข้าเป้า 1 แสนล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ได้วางกลยุทธ์โหมทำรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ท่ามกลางสถานการณ์ท้าทายของสงครามการค้าอาจส่งผลกระทบเล็กน้อยบางงานจากต่างประเทศ โดยได้ชูแคมเปญ ASEAN Maxi MICE เพราะกลุ่มตลาดอาเซียนในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้รับแรงหนุนจากตลาดไมซ์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ขณะนี้ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์เสริมเข้าอีก 3 ประเภท ได้แก่ Silver-Gold-Platinum โดยให้งบประมาณสนับสนุนตามเงื่อนไขแก่ผู้ประกอบการที่นำลูกค้าที่ได้รับรางเดินทางนักท่องเที่ยวฟรี (incentive) เข้ามาไทยพักครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 คืน เลือกใช้โรงแรมที่มาตรฐาน THAILAND MICE VENUE STANDARD :TMVS ซึ่งเป็นโครงการของ TCEB ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องมาแล้ว 6-7 ปี ปัจจุบันมีสถานประกอบการได้รับมาตรฐานห้องประชุมราว 300 แห่ง
ปี 2562 TCEB จะต้องทำรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ตลาดต่างประเทศเข้าไทยตามเป้า 1.3 ล้านคน สร้างรายได้1 แสนล้านบาท ตลอด 8 เดือนนี้ทำรายได้ใกล้ แต่จะเพิ่มเน้นงานพัฒนามากขึ้น เพราะงานขนาดใหญ่ที่ไปประมูลชิงมาจากคู่แข่งได้มากพอสมควรแล้ว จึงต้องหันมาดูแลเรื่องสถานที่ต่าง ๆ ต้องพร้อมด้วย สิ่งที่สำคัญสุดของเทรนด์จากนี้ไปการจัดทำ Green Meeting มีหลายหน่วยงานสามารถจัดงานลักษณะนี้ได้แล้ว อีกทั้งบริษัทต่าง ๆ สนใจเข้าร่วมในโครงการไมซ์สู่ความยั่งยืน ตั้งแต่การเลือกไปจัดงานในชุมชน การทำงานร่วมกับไมซ์ ซิตี้ 5 เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ขอนแก่น ทาง TCEB พยายามหางานมาให้ได้มากสุด
โดยเดินหน้าเชิงรุกต่างประเทศ 3 ตลาดหลัก ประกอบด้วย ตลาดแรก “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งหรือเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ดังนั้น TCEB เตรียมแต่งตั้งตัวแทนการตลาดและการขาย (Representative) เพิ่มในเมืองทางฝั่งตะวันตกของจีน จากเดิมมีอยู่ 2 แห่งในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เพื่อรองรับตลาดที่มีขนาดใหญ่สำคัญมาก โดยเฉพาะอินเซ็นทีฟจากจีนมาไทยปี 2562 เติบโตแบบก้าวกระโดด แผนงานสนับสนุนช่วงครึ่งปีหลังพุ่งเป้าเพิ่มกลยุทธ์เสริมโดยให้การสนับสนุนใหม่กลุ่มอินเซ็นทีฟพรีเมี่ยม ซึ่งต้องการสนับสนุนแพกเกจพีอาร์กับซีเอสอาร์ตั้งเป้าเพิ่มทั้งจำนวนและวันพักเป็นหลัก
ตลาดที่ 2 “อินเดีย” เน้นจัดแฟมทริปเชิญตัวแทนไมซ์รายใหญ่เข้าไปเจาะกลุ่มกำลังซื้อคุณภาพเข้ามาไทย โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา TCEB เคยนำร่องทำไว้บ้างแล้วโดยนำคอร์ปอเรตกลุ่มพรีเมี่ยมอินเดียเดินทางมาประมาณ 200-300 คน ตั้งแต่กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไปจะให้ตัวแทนขายรุกตลาดพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตลาดที่ 3 “อาเซียน” ซึ่งเป็นพันธมิตรของไทยทั้ง 9 ประเทศนั้น TCEB มุ่งเจาะฐานลูกค้าไมซ์หลัก ๆ เช่นเดียวกับจีนและอินเดีย คือ กลุ่มอินเซ็นทีฟและจัดการประชุม (Incentive & meeting) หากเป็นกลุ่มจัดนิทรรศการแสดงสินค้า (Exibition) ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่นิยมเข้าร่วมงานมหกรรมการขายเครื่องจักรขนาดใหญ่มูลค่าสูง ก็เป็นอีกตลาดที่มีอัตราการเติบโตในทิศทางบวกมากขึ้นทุกปี
นายจิรุตถ์ย้ำว่า ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2562 เป็นต้นไป วางแผนดึงงานไมซ์ตลาดต่างประเทศรายการสำคัญใหม่ ๆ เข้ามาจัดในไทย ไฮไลต์ตอนนี้มีงาน “วูเม่น ดาวอส 2020” เป็นการประชุมผู้นำสตรีทั่วโลก ระดับนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี เจ้าของกิจการ และอดีตผู้บริหารจากประเทศต่าง ๆ ตอบรับเข้าร่วมกว่า 500 คน ตอกย้ำถึงศักยภาพของประเทศมีความพร้อมจัดงานระดับโลกได้ เมื่อครั้งที่ผ่านมามีอดีตประธานาธิบดีทางแอฟริกา และบางส่วนจากอเมริกา งาน UFI World Congress 2019 เตรียมจัดระหว่าง 6-9 พฤศจิกายน 2562 TCEB ณ ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ จะมีกลุ่มผู้นำโลกด้านการจัดงานเอ็กซิบิชั่น เจ้าของศูนย์ประชุม ศูนย์เอ็กซิบิชั่น ออร์กาไนเซอร์ รวมกว่า 800 ราย งานนี้สำคัญต่ออุตสาหกรรมไมซ์ไทยในการยืนยันกับนานาชาติถึงความเป็นมืออาชีพและความพร้อมรองรับงานใหญ่ระดับโลก ผนวกกับเป็นช่วงไอคอนสยามจะเปิดบริการศูนย์ประชุมจะได้ใช้โอกาสนี้โชว์เคสต์ประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน
และจะใช้จังหวะนี้เชิญผู้นำที่เดินทางมาร่วมงาน UFI World Congress 2019 ไปสำรวจสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ส่วน TCEB ได้จับมือกับสมาคมจัดแสดงนิทรรศการไทย (TEA) ร่วมสนับสนุนสมาชิกสมาคม กลุ่มผู้ประกอบการห้องประชุม และผู้จัดออร์กาไนเซอร์ ให้ค่าใช้จ่ายการเข้าไปในงานจำนวน 80 ราย เพื่อเข้าไปรับเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ กลยุทธ์ใหม่ทางการตลาด การจัดงาน และการสร้างเครือข่าย เพื่อดึงงานใหญ่มาจัดในไทยเพิ่มขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ TCEB ได้เดินหน้าแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์เชิงรุกในบริเวณ พื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor : EEC เตรียมดึงงาน AIRSHOW ขนาดใหญ่ของโลกมาจัดในไทยช่วงปี 2563/2564 ระหว่างนี้ก็มีกลุ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ เครื่องบิน จ้างทำการศึกษาแล้วพบข้อมูลเบื้องต้นเกินกว่า 80 % ของกลุ่มเอ็กซิบิเตอร์หรือผู้ที่นำสินค้าการบินมาขายในงานแอร์โชว์สนใจมาไทย ส่วนปัจจัยที่เจ้าของงานจะเลือกมาจัดหรือไม่ต้องทำงานร่วมกันต่อไป เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบินอู่ตะเภาสามารถดีไซน์จัดกลางแจ้งหรือในอาคารก็ได้
ส่วน “ตลาดไมซ์ในประเทศ” จะเพิ่มความเข้มข้นขยายเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตร ประกอบด้วย “กลุ่มแรก-กรมส่งเสริมสหกรณ์” ทำต่อเนื่องมากว่า 1 ปี เชิญชวนให้เลือกไปจัดการประชุมตามสหกรณ์ที่มีความพร้อม กลุ่มที่ 2-กรมการพัฒนาชุมชน” กระทรวงมหาดไทย โดยใช้โครงการนวัตวิถีได้ร่วมลงนามความร่วมมือเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562 เรียบร้อยแล้ว ทาง TCEB เลือกใช้พื้นที่นำร่อง “เชียงใหม่” โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) “TICA” เพิ่มการนำสินค้าชุมชนมาขายให้แก่ลูกค้าที่เข้าร่วมไมซ์ในประเทศ รวมทั้งได้รับงบบูรณาการจัดเก็บข้อมูลทำ Big DATA รวบรวมชุมชนที่มีความพร้อมรองรับการจัดประชุมทั้งจากต่างประเทศและในประเทศที่จะเข้ามายังไทย พุ่งเป้ากระตุ้นตลาดส่งเสริมการขายทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีรายได้ใหม่พ่วงเข้าไปด้วย
โดยมีงานใหญ่ที่ TCEB กับกรมการพัฒนาชุมชน จัดไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน คือ “โอท็อปนวัตวิถี” เป็นครั้งแรกได้เริ่มเพิ่มเซ็กชั่นพิเศษใหม่ในงาน คือ บริษัท โอท็อป เปิดให้เจรจาธุรกิจระหว่างกัน หรือ Business to Business : B to B ของผู้ขายซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนผู้ขายกับผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่มาพบปะแลกเปลี่ยนการค้ากัน ผลปรากฏกว่ามีบริษัทน้ำมันรำข้าวสั่งซื้อจากงานนี้ล็อตเดียวสูงถึง 3 ล้านบาท ตลอดงานมีมูลค่าการขาย B to B รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท
ดังนั้นจะนำต้นแบบแนวทางดังกล่าวไปใช้ในอนาคตต่อไป เน้นใช้วิธีคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนเกรดคุณภาพมาร่วมขายตามงานไมซ์ต่าง ๆ และจะเปิดเซ็กซั่นขนาดเล็กไว้สร้างโอกาสเจรจาการขายไว้ด้วย แนวทางสร้างโมเดลต้นแบบเปิดตลาดการขายสินค้าชุมชนตามงานต่าง ๆ นั้น TCEB ต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถการผลิตของแต่ละชุมชนด้วย โดยเลือกหมวดสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการในปริมาณมากอย่าง พืชผลเกษตร และอื่น ๆ
นายจิรุตถ์กล่าวว่า ช่วงไตรมาสที่ 4 ระหว่างกันยายน-ธันวาคม 2562 จะเห็นสถิติตลาดไมซ์นานาชาติมาไทยสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้รวม 1.3 ล้านคน ตามภารกิจหลักการนำรายได้เข้าประเทศ 3 ส่วน 1.ทำการตลาดดึงไมซ์ทั่วโลกเข้ามาใช้จ่ายเงิน 2.พัฒนามาตรฐานห้องประชุม และบุคลากร 3.กระจายการจัดงานไปยังทั้งเมืองหลักและเมืองรองครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น