จับตา!!“รมว.ท่องเที่ยวคนใหม่”นำทัพฝ่าตลาดขาลง
หวังพึ่งนโยบายปี’63-64พยุงเป้ารายได้7.8 ล้านล้าน
เรื่องและภาพโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน ; บล็อกเกอร์ #gurutourza #สวท97 #เที่ยวกับกู๋ #พิพัฒน์รัชกิจประการ #กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา #XCITEไทยโพสต์ #จตุรัสทั่วไทย
ติดตามอ่านทั้งหมดได้ใน :หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2562
สถานการณ์ความท้าทายที่กำลังรอต้อนรับ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ จากพรรคภูมิใจในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 นั้น น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเข้ามาในจังหวะที่เศรษฐกิจและรายได้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยโดยรวมอยู่ในช่วง “ขาลงหรือตกท้องช้าง” รุนแรงขึ้น
นับจากครึ่งหลังปี 2562 และ/หรืออาจต่อเนื่องไปถึงอนาคตอีก 2 ปีหน้า 2563-2564 ขณะนี้ทุกฝ่ายทั้งในประเทศและทั่วโลกส่งสัญญาณกันอุตลุตว่า “เศรษฐกิจขาลงรุนแรง” ย่อมส่งผลถึงการท่องเที่ยวไทยไม่มากก็น้อย ซึ่งตามปกติไทยจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดเอเชียกับยุโรปแทบจะครึ่ง ๆ แต่วันนี้สถานการณ์ตลาดโลกเปลี่ยนทิศทางดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด
เริ่มจาก “ภูมิภาคเอเชีย” เมื่อ ”มหาอำนาจจีน” ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวตลาดขนาดใหญ่ของโลกชะลอตัว และถูกฉุดด้วยสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ส่วนญี่ปุ่นปี 2563 เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 แนวโน้มจะมีแต่คนไหลเข้าไปชมมหกรรมกีฬาระดับโลกรวมกว่า 11 ล้านคน แต่ไทยก็ยังพอมีหวังจะดึงตลาดญี่ปุ่นได้ปีละ 2 ล้านคน
“กลุ่มตะวันออกกลาง” 8 ประเทศ อาการหนักต่อเนื่องมากว่า 2 ปี จากเศรษฐกิจภายในและมีบางประเทศอย่างอิหร่านได้รับผลกระทบจากสหรัฐอเมริกาแซงซั่น จึงทำให้การท่องเที่ยวซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งไทยทำได้เพียงแค่ปรับกลยุทธ์ไปตามสถานการณ์เหมาะสม
ขณะที่ “สหภาพยุโรป” ทรงกับทรุดสลับกัน แถมอังกฤษยังหาทางออกเรื่องปัญหา Brexit ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงประเทศหลัก ๆ ซึ่งเคยเป็นนักท่องเที่ยวตลาดหลักของไทยก็เปลี่ยนพฤติกรรมหันไปเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันเพิ่มขึ้น ในกลุ่มสแกนดิเนเวียรณรงค์ให้ช่วยกันลดโลกร้อนเซฟสิ่งแวดล้อมโดยลดการนั่งเครื่องบินเที่ยวระยะไกลข้ามทวีป
ทางด้าน “อเมริกา-แคนนาดา” ถึงแม้ตลาดนักท่องเที่ยวจะมาเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับ “ทวีปแอฟริกา” เป็นตลาดดาวรุ่งประเทศใหม่ ๆ เลือกมาเที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับต้น ๆ ก็ตาม แต่ฐานตัวเลขมีจำนวนหลักหมื่นหรือแสนคน ความถี่ในการเดินทางมีไม่มาก และแทบจะไม่มีเที่ยวบินตรง จึงเป็นข้อจำกัดการเติบโตทำได้ไม่มาก
ล่าสุด “โชติ ตราชู” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกตัวแรงสุดหลังออกมาประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ถึงสถานการณ์ “รายได้ท่องเที่ยวปี 2562” มีแนวโน้มจะลดต่ำลงกว่าเป้าหมายมากถึง 1.8 แสนล้านบาท โดยรวมตลอดทั้งปีจะทำได้เพียง 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และในประเทศ 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนครึ่งแรกปี 2562 ระหว่างมกราคม-มิถุนายน ทำไว้ได้แล้ว 1.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากต่างชาติ 1.01 ล้านล้านบาท เพิ่ม 0.3% จากจำนวน 19.6 ล้านคน เพิ่ม 0.7% และตลาดในประเทศ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่ม 5% จากจำนวน 76 ล้านคน-ครั้ง เพิ่ม 2%
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวคาดการณ์สถานการณ์แนวโน้มปีนี้ต่างจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มากถึง 9 เท่า เพราะ ททท.ขอปรับเป้ารายได้ลงเพียง 20,000 ล้านบาท เหลือ 3.38 ล้านล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 3.40 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 % มาจากต่างชาติ 2.22 ล้านล้านบาท และในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท
แต่ข้อมูลประเมินสถานการณ์ปี 2562 ของ ททท.ยังคงไปในทิศทางเดียวกับ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ซึ่งพยากรณ์แนวโน้มท่องเที่ยวจะเป็นบวกจากปัจจัยครึ่งปีหลังเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว ตลอดทั้งปีต่างชาติจะเที่ยวไทย 39.0-39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีก 2- 4% ใช้เงิน 1.94-1.97 ล้านล้านบาท จากจำนวน 20.1 ล้านคน เพิ่มกว่า 7.0% ส่วนครึ่งปีแรกทำตุนไว้แล้ว 19.7 ล้านคน เพิ่ม 1.1%
โดยสถิติรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปี 2562 เติบโตเปลี่ยนแปลงไป โดยมี 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.เทรนด์ของต่างชาติมีพฤติกรรมใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวบางรายการลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเติบโตเร็วซื้อทุกอย่างได้ถูกลง
2.จำนวนวันพักเฉลี่ยแต่ละทริปอาจลดลง เพราะยุคใหม่คนนิยมเดินทางแต่ละปีด้วยความถี่หลายทริปกระจายไปยังหลายประเทศมากขึ้น
3.การแข่งขันเรื่องราคาของผู้ประกอบการในประเทศนั้นกับประเทศอื่น ๆ ที่เข้าไปทำตลาดดุเดือดมากขึ้น จึงอาจจะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของไทยที่ต้องการส่งเสริมและเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มคุณภาพให้เข้ามาใช้เงินต่อหัวสูงขึ้น
4.สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน อาจสร้างความท้าทายต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินอนาคตเรื่อง “ความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทย” จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ต้องเร่งวางแผนรับมือ
แต่ไทยก็ยังมีความหวังกับ “ตลาดเอเชีย” ยังเติบโตได้ดี ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ส่วนจีนต้องเร่งเครื่องช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมทั้งต้องเกาะติดเรื่องการแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจและค่าเงินด้วย
ส่วน “ยุโรป” แนะให้ไทยต้องมุ่งทำการตลาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน จะโหมสร้างจุดขายสถานที่ท่องเที่ยวและตลาดใหม่มาทดแทนตลาดเดิมคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว โดยภาพรวมรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว (Traveller Journey) เป็นหลัก ได้แก่
1.การพัฒนาและการบริหารจัดการระบบการคมนาคมขนส่งในประเทศ การบริหารจัดการบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพ
2.การวางแผนการตลาดนักท่องเที่ยวด้วยการเจาะลึกตามกลุ่ม Segment
3.พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้คงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
4.การพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาประเทศร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน เช่น จัดการแข่งขันกีฬาเรือใบหรือเรือยอร์ช (Yacht Racing) เพื่อขยายเส้นทางการแข่งขันเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถดึงดูดกลุ่มมหาเศรษฐีของโลกที่มีความชื่นชอบในแต่ละการพักผ่อนแตกต่างกันไป
“ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในการวางแผนตลาดท่องเที่ยวประจำปี 2563 (TATAP2020) ยังต้องปฏิบัติตามแผนวิสาหกิจ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) โดยตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ 3.718 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 % จากตลาดต่างประเทศ 2.431 ล้านล้านบาท ตลาดในประเทศ 1.287 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องปี 2564 ตั้งเป้ารายได้รวมไว้ 4.090 ล้านล้านบาท จากตลาดต่างประเทศ 2.674 ล้านล้านบาท ตลาดในประเทศ 1.416 ล้านล้านบาท
โดยจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวตลอด 2 ปีหน้ารวมกว่า 7.08 ล้านล้านบาท กระจายสู่ท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนทั้งทางด้านการท่องเที่ยว และเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนแนวทางสื่อสารการตลาดปี 2563 ของ ททท.ใน “ตลาดต่างประเทศ” ชูแบรนด์ Amazing Thailand ภายใต้ธีมขาย “Open to the New Shades” มุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาการสร้างประสบการณ์ดี ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจจากการได้สัมผัสจริงและเกินความคาดหมาย โดยจะทำโฆษณาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ส่วน “ตลาดในประเทศ” ชูแบรนด์ amazing ไทยเท่ ภายใต้ธีมขาย “เมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์” เข้าถึงทุกกลุ่มอายุและกลุ่มความสนใจ หรือข้ามกลุ่มลูกค้า กระตุ้นคนไทย สนุก มีความสุข และภูมิใจในออกแบบการท่องเที่ยวด้วยตนเอง
รวมทั้งเตรียม “ฉลอง ททท.ครบ 60 ปี” ด้วยแคมเปญ “ก้าวต่อไป เพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน”
ภารกิจทั้งหมดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองไทย รอว่าที่ “รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” คนใหม่เข้ามานำทัพฝ่าวงล้อมเศรษฐกิจไทยและโลกช่วงขาลงให้เดินไปข้างต่อได้อย่างสง่างาม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนที่จับต้องได้อย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น