ททท.ควงมิชลินไกด์จุดพลุเพิ่ม3รางวัลใหม่ในไทยแจกปลายปี’63 ชูท่องเที่ยวเชิงอาหารโกยรายได้ไฮเอนด์หนุนอุตสาหกรรมยั่งยืน
ททท.ควงมิชลินไกด์จุดพลุเพิ่ม3รางวัลใหม่ในไทยแจกปลายปี’63
ชูท่องเที่ยวเชิงอาหารโกยรายได้ไฮเอนด์หนุนอุตสาหกรรมยั่งยืน
เรื่องและภาพโดย…เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน :บล็อกเกอร์ #gurutourza www.facebook.com/penroongyaisamsaenอ่านทั้งหมดในมติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/publicize/news_2364072
ททท.ควง มิชลิน ไกด์ สร้างความฮือฮาในเมืองไทยปลายปี’63 ลุยประกาศเพิ่ม 3 รางวัลใหม่ “MICHELIN Guide Young Chef Award- MICHELIN Guide Service Award- MICHELIN green star” ดันอาหารไทยปลุกกระแสตลาดท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ ต่อจาก 3 ปีที่ผ่านมา ปูพรมสร้างการรับรู้ได้ทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน “ผู้ว่าฯ ยุทธศักดิ์” ย้ำพร้อมใช้มิชลิน 3 รางวัลใหม่ต่อยอดรายได้ท่องเที่ยวปี’64 ควบคู่สร้างแรงบันดาลเชฟหน้าใหม่ ร้านอาหารรักษ์โลก รวมพลังกันปั้นอุตสาหกรรมอาหารไทยยั่งยืน
นายมานูเอล มอนตานา ประธานกลุ่มภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย เปิดเผยว่า
ทางทีมผู้บริหาร มิชลิน ไกด์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณจัดทำมิชลินไกด์ในประเทศไทย
ร่วมกันเปิดตัวรางวัลใหม่ที่จะประกาศในปี 2563 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 เพิ่มอีก
3 รางวัล ประกอบด้วย 1.รางวัล MICHELIN
Guide Young Chef Award จะมอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ของร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่มีทักษะความสามารถโดดเด่น
2.รางวัล MICHELIN Guide Service Award จะมอบให้กับสุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การทานอาหารที่ยอดเยี่ยม
และ 3.รางวัล MICHELIN green star หรือ
“ดาวมิชลินรักษ์โลก” 0tมอบให้กับร้านอาหาร 1 แห่ง หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นร้านที่ดำเนินกิจการและมีแนวปฏิบัติประจำวันด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อาทิ การรีไซเคิล การลดขยะอาหาร การจัดหาวัตถุดิบในท้องถิ่นและตามฤดูกาลด้วยความรับผิดชอบเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
และอื่น ๆ
ส่วนการมอบทั้ง
3 รางวัลใหม่ดังกล่าว จะพิจารณาคัดเลือกจากข้อมูลที่สืบหาและจัดเก็บจากการลงพื้นที่โดยผู้ตรวจสอบของ
‘มิชลิน ไกด์’ ตามพื้นที่ต่าง ๆ
ในประเทศไทย
นายมอนตานาย้ำว่ามิชลิน ไกด์
ได้เข้ามาประเทศไทยต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปี มีความมุ่งมั่นจะทำให้กิจกรรมด้านอาหารเป็นแรงกระตุ้นการท่องเที่ยว
ควบคู่กับการสะท้อนถึงสถานการณ์แนวโน้มของอาหารในมุมใหม่ ๆ
โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก เมื่อปี 2562
ร้านอาหารไทยระดับท้องถิ่นได้สร้างปรากฎการณ์มิชลิน 2 ดาว โด่งดังไปทั่วโลก 2 ร้าน ปี 2563 ก็เช่นกันได้มีโอกาสประกาศเพิ่มใหม่อีกถึง 3 รางวัล
เป็นการส่งพลังบวกอาหารไทยไปยังตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อม ๆ
กับการส่งเสริมผู้คนออกการเดินทางอย่างไม่หยุดนิ่งตามวิถีใหม่
ขณะที่ มร.เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก ได้กล่าวผ่านวิดีโอคอลข้ามประเทศในงานเปิดตัว 3 รางวัลใหม่มิชลิน ไกด์ ในประเทศไทย ว่า รางวัลใหม่เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ใส่ใจแต่เพียงคุณภาพของอาหารเท่านั้น ผู้ตรวจสอบของ ‘มิชลิน ไกด์’ ยังให้ความสำคัญกับคุณสมบัติที่โดดเด่น ทักษะความชำนาญ ตลอดจนความมุ่งมั่นทุ่มเทของบุคลากรและทีมงานร้านอาหารในการรังสรรค์ประสบการณ์การทานอาหารที่น่าประทับใจในทุกมิติควบคู่กันไปด้วย
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า มิชลิน ไกด์ เข้ามาประเทศไทยเป็นปีที่ 3 ได้สร้างการรับรู้อาหารไทยอย่างแพร่หลายในตลาดโลกกว่า 500 ล้านคน สามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายด้านอาหารในไทยกว่า 30 % ของรายได้ท่องเที่ยวรวมของประเทศในปี 2562 ที่ทำได้กว่า 3 ล้านล้านบาท ดังนั้นการพัฒนาเรื่องอาหารร่วมมิชลิน ไกด์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy) ในกลุ่มกำลังซื้อคุณภาพสูง และสามารถเป็นอีกช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มช่วยนำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปได้ ส่วนการเพิ่ม 3 รางวัลใหม่ ยิ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้เชฟ บุคลากร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมร้านอาหาร มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและดำเนินงานด้วยความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม กระตุ้นวงการอาหารและธุรกิจร้านอาหารเกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนไปในทิศทางสู่ความเป็นเลิศบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแบบไทย และนั่นคือความแตกต่างเฉพาะตัวที่จะช่วยสร้างจุดเด่นให้ประเทศไทยครองความเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
นางทิพวรรณ นิธิเจษฎาวงศ์ ผู้อำนวยการมลิน ไกด์ ประเทศไทย กล่าวว่า รางวัลใหม่ไฮไลต์ที่มีความพิเศษมากคือ
“มิชลิน สตาร์” เน้นเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกิดความยั่งยืน
ซึ่งสะท้อนจากร้านอาหารในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
เริ่มจากการเลือกวัตถุดิบโดยเคารพธรรมชาติ
ต่อด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงมุ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ร้านอาหารทั่วเมืองไทยร่วมมือกันช่วยสร้างอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน
ส่วนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็ต้องยอมรับมีผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้มิชลิน บางร้านต้องปิดกิจการถาวร เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย แต่อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายก็พยายามช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ เพราะรางวัลต่าง ๆ ที่มอบให้ร้านอาหารในไทยนั้นมีคุณค่าเป็นจุดแข็งการสร้างรายได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวตลาดในประเทศและนานาชาติได้
ขณะเดียวกันทางสถาบัน Thailand Culinary Academy ได้ทุ่มเทส่งเสริมผลิตเชฟไทยกระจายตัวไปอยู่ตามร้านอาหารในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกตลอดกว่า 10 ปี รวมแล้วกว่า 500 คน เป็นเครือข่ายเสริมพลังการนำวัฒนธรรมอาหารไทยไปสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังทั่วโลกในอนาคตต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น