ททท.จัดเต็มเที่ยวใต้14จังหวัดโกย8แสนล้าน
บูมหน้าฝน“ชีพจรลงSouth”-เมืองเก่าตะกั่วป่า
เรื่องและภาพโดย...เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza #สวท97 #เที่ยวกับกู๋ #ชีพจรลงSouth #ถนนคนเดินเมืองเก่าตะกั่วป่า #TATภาคใต้
ติดตามอ่านได้ในมติชนออนไลน์https://www.matichon.co.th/publicize/news_1555670
ททท.กระหน่ำแคมเปญ ““ชีพจรลง South” 14 จังหวัด เข้าเป้ารายได้ 8 แสนล้าน ลุยเปิดจุดขายเที่ยวหน้าฝน “ถนนคนเดินเมืองเก่าตะกั่วป่า” 8 แหล่งห้ามพลาด ชวนเที่ยวทั่วพังงา ชุมชน ร้านอาหารถิ่นมิชลินไกด์ เตรียมชง TATAP 2020 ปี’63 จัดทัพขาย 4 โซนรุกตลาดคนรวย
นิธี สีแพร ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคใต้ ททท. |
นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าขณะนี้เร่งแคมเปญ “ชีพจรลง South” กระตุ้นการท่องเที่ยวภาคใต้เชิงรุกช่วงฤดูฝนระหว่างมิถุนายน-กันยายน นี้ เพื่อกระจายสู่ชุมชนเมืองหลักและเมืองรองทั้ง 14 จังหวัด ตามเป้าหมายปี 2562 จะต้องทำรายได้รวม 8 แสนล้านบาท จึงได้โหมทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ บล็อกเกอร์ซึ่งเป็นไอดอลนักเดินทาง 5 สาว รีวิวตามสถานที่ต่าง ๆ เชิญชวนคนไทยออกมาเที่ยวโดยมีรางวัลให้ลุ้นรับถึง 2 แสนบาท พร้อมกับระดมผู้ประกอบการนำเที่ยวกว่า 100 บริษัท ผลิตแพกเกจ สามารถจองซื้อได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป โดยโปรโมตผ่านเว็บไซต์ www.ชีhttp://xn--south-x7qg9ovbu.com/ มีให้เลือก 10 รายการ ผู้ที่เข้าไปจอง 1,000 คนแรก รับฟรีผลิตภัณฑ์ถุงเป๋าชีพจรลง South ลดโลกร้อน และยังเข้าไปติดตามในเพจเฟจบุ๊คของ ททท.ภาคใต้และสำนักงานททท.ทั้ง 10 แห่ง
รวมทั้งยังได้นำร่องโครงการ “ถนนคนเดินเมืองเก่าตะกั่วป่า : Takuapa Old Town Walking Street” อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เปิดบริการเป็นครั้งแรกช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว โดยได้รณรงค์ร้านค้าบนถนนเมืองเก่ากว่า 100 คูหาเปิดขายทุกวันอาทิตย์สร้างความคึกคักช่วงหน้าฝนระหว่างมิถุนายน-สิงหาคม นี้ ควบคู่กับการแนะนำสถานที่ต้องห้ามพลาดตะกั่วป่าโดยได้จัดรถสองแถวไม้ ให้บริการฟรีประจำเส้นทาง เขาหลัก-ตะกั่วป่า ออกทุก 1 ชั่วโมง ไป-กลับ ยัง 8 จุด ได้แก่
ศาลเจ้าพ่อกวนอู ถนนคนเดินเมืองเก่าตะกั่วป่า จ.พังงา |
1.ศาลเจ้าพ่อกวนอู-ที่เคารพศรัทธาของชาวตะกั่วป่าและพื้นที่ใกล้เคียง 2.สะพานเหล็กบุญสูง-สะพานข้ามลำธารลำลางเหมืองแร่เป็นร่องรอยความผูกพันอาชีพดั้งเดิม เป็นแลนด์มาร์กจุดแวะถ่ายรูป 3.โรงเรียนเต้าหมิง-โรงเรียนเก่าแก่จีนแห่งแรกของเมืองไทยที่ลูกหลานคหบดีชาวจีนต้องไปเรียน 4.บ้านขุนอินทร์-บ้านคหบดีคนสำคัญที่มาปกครองตะกั่วป่า 5.วัดเสนานุชรังสรรค์-ชาวไทยเชื้อสายพุทธให้ความสำคัญมาก 6.กิจกรรมทำขนมเต้าส้อ-เพื่อเรียนรู้การทำขนมพื้นเมือง 7.แต่งกายบะบ๋า-ผู้หญิงสวมผ้าซิ่นปาเต๊ะกับเสื้อลายดอก ผู้ชายสวมราชประแตน กางเกงสูทคอเต่า 8.ถนนคนเดินตะกั่วป่า มาร่วมกิจกรรม ถ่ายรูปสตรีทอาร์ตสไตล์กราฟิตี้กับภาพหนูน้อยมาร์ดีสามตา
ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ททท.ภาคใต้ได้นำทีมผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม และสื่อมวลชนรวมกว่า 40 คน สำรวจและทดสอบสินค้าการท่องเที่ยว จ.พังงา ตามแหล่งท่องเที่ยวชุมชนไฮไลต์ แห่งที่ 1 “ชุมชนท่าดินแดง” อ.ท้ายเหมือง อดีตเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่ยังมีร่องรอยรางแร่โบราณ การร่อนแร่ให้ชม มีกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ-More Inspire ให้นักท่องเที่ยวร่วมทำอาหารถิ่น อาทิ เมนูน้ำพริก ชมและลงมือทำผักสลัดที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ใช้น้ำน้อย ล่องเรือคะยักท่องป่าโกงกางที่สมบูรณ์แบบ และลงเรือยนตร์ไปยังเกาะบริเวณเขาหน้ายักษ์สัมผัสชายหาดทรายขาว ดูทุ่งหญ้าสะวันนาสีเหลืองทองจะบานเพียง 1 สัปดาห์ช่วงพฤศจิกายนของทุกปี ชุมชนจะคิดค่าทำกิจกรรม 400-800 บาท/คน เป็นการกระจายเม็ดเงินให้เครือข่ายชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเฉลี่ย 2,000-7,000 บาท/ครัวเรือน
แห่งที่ 2 “ชุมชนคลองสังเนห์” อ.ตะกั่วป่า ได้ชื่อว่าเป็น Little Amazon เมืองไทย ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนสังเนห์บริการพายเรือแคนูครั้งละ 1 ชั่วโมง ท่องเที่ยวป่าไทรและป่าจากโบราณอายุนับ 100 ปี ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์น้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ ค่าบริการท่องเที่ยวคิดค่าเรือ 500 บาท/ลำ นั่งได้ 2 คน ส่วนฝีพายฟรี 1 คน จะมีรายได้ 200 บาท/เที่ยว
ส่วนตลาดพื้นบ้านที่น่าท่องเที่ยวก็มี “ตลาดปากถักหรือตลาดในหมอก” บ้านปากถัก ต.ท่านา อ.กะปง สร้างความตื่นตาด้วยสินค้ามากมายให้เลือกลางหมอกหนาตั้งแต่ 6 โมงเช้า และร้านขนมท้องถิ่นดั้งเดิมก็ต้องแวะ “ร้านดวงรัตน์” อ.ตะกั่วป่า ต้นตำรับขนมเต้าส้อสารพัดไส้สืบทอดสูตรลับความอร่อยกันมาถึง 110 ปี “ร้านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปลิง” อ.เมือง เป็นแห่งเดียวที่ทำเต้าส้อสูตรใบเหมียงพืชพื้นถิ่นที่ปลูกอยู่รอบบ้าน ทำให้มีรายได้เสริมตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน
สำหรับร้านอาหารต้องห้ามพลาดในพังงาที่คว้ารางวัลมิชลินไกด์ต้องแวะชิมในอำเภอตะกั่วป่า 3 ร้าน ได้แก่ “ในเหมืองเขาหลัก” เป็นบุฟเฟต์มื้อกลางวันและค่ำ 199 บาท/คน “ร้านครัวน้อง” และ “ร้านครัวใบเตย” เมนูอาหารจะเน้นรสจัดจ้านแบบภาคใต้ มีทั้งแกงส้ม(แกงเหลือง) ผัดสะตอ และอาหารประจำบ้านของคนพังงาคือเมนูหมู อาทิ หมูคั่วเกลือ หมูฮ้อง และอื่น ๆ เมื่อเอ่ยที่พักต้องลองเช็คอิน “เดวาสม เขาหลัก บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า” ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า มีอยู่ 68 ห้อง สนนราคาห้องพัก ช่วงฤดูท่องเที่ยวตั้งแต่ 7,000-100,000 บาท/ห้อง/คืน ช่วงหน้าฝนนอกฤดูท่องเที่ยว 3,500-5,000 บาท/ห้อง/คืน
ก่อนกลับให้แวะแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์อีกแห่ง “เสม็ดบางชีบูติก” ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นจุดชมวิวอ่าวพังงาทะเลอันดามันได้แบบ 360 องศา มีบริการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ห้องพักไล่ระดับตามไหล่เขา 14 ห้อง และลานกางเต็นต์สัมผัสธรรมชาติ มีรถสองแถวฟรีจากพื้นราบขึ้นไปยังจุดชมวิว
ผอ.นิธี กล่าวว่า นอกจากโหมโปรโมตเที่ยวหน้าฝนแล้ว ยังเตรียมเสนอแผนการตลาดเทรนด์ใหม่การท่องเที่ยวภาคใต้ปี 2563 ในเวทีTAT Action Plan 2020 (TATAP 2020) เป็นการประชุมของ ททท.ทั้งในประเทศและทั่วโลกที่จะนำผลสรุปจากการหารือร่วมกับเอกชนท่องเที่ยวมาพูดคุยกันเพื่อจัดทำแผนตลาดประจำปี 2563 ระหว่าง 1-4 กรกฎาคม นี้ ที่จังหวัดอุดรธานี โดย ททท.ภาคใต้จะพุ่งเป้าการเจาะกำลังซื้อตลาดคุณภาพเทรนด์ท่องเที่ยวหรูเพื่อเพิ่มรายได้จากการใช้ต่อคนมากขึ้น โดยมีแหล่งท่องเที่ยวพร้อมขายทั้ง อาหารการกินสด อาหารถิ่นรสชาติอร่อย ผสมผสานกับวัฒนธรรมแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ไฮไลต์ 4 โซนหลัก ได้แก่ 1.กินสบาย 2.ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3.ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาเที่ยว และ 4.กินหลากหลาย 5 จังหวัดชายแดนใต้
โซนแรก สุราษฎร์ธานี ระนอง เน้นการกินแบบสบาย ๆ มีทั้งสวนผลไม้ ท้องทะเลสดใหม่ ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง มีฉลาม วาฬ ภูเขา แม่น้ำ เหมาะกับกลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้หญิง
โซนที่ 2 นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ชูจุดขายกินแบบดั้งเดิม เสริมความเชื่อ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอาหารถิ่นหลากหลาย ไปไหว้พระธาตุเมืองนคร แห่ผ้าขึ้นธาตุ ชักพระ โนราห์ลงครู อาบน้ำว่าน ตรัง-จะมีเทพธาโรขึ้นชื่อ
โซนที่ 3 เมืองหลัก ภูเก็ต-กระบี่-พังงา-เกาะสมุย เป็นพื้นที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาท่องเที่ยว หรือในช่วงเวลาพิเศษต้องมากับคนพิเศษ ซึ่งเน้นความหรูหราอยู่สบาย แล้วยังมีกิจกรรมอีเวนต์ การท่องเที่ยวเชิงดนตรี กีฬา ทำให้เกิดเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น
โซนที่ 4 เมืองชายแดน สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กินหลากสไตล์หลายวัฒนธรรม ซึ่งมีความผสมผสานไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีน โดยมีสงขลากับสตูลเป็นจุดเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้ เน้นเจาะกลุ่มหรูหรา วัยทำงาน พร้อมใช้จ่ายเงินเต็มที่ท่องเที่ยวได้จริง
ส่วนแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ภาคใต้ที่จะเพิ่มรายได้เงินใช้จ่ายต่อคนมากขึ้น คือนำผลิตภัณฑ์สินค้ามูลค่าสูง เช่น แหลมสัก ชูการขายท่องเที่ยวล่องเรือหรูไปทำกิจกรรมดูฟาร์มกุ้งมังกร หรือดำน้ำแถวชุมพร สุราษฎร์ธานี ฝั่งกระบี่ ภูเก็ต พังงา มีที่พักหรู ล่องเรือยอร์ช นครศรีธรรมราช พัทลุง เน้นสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เตรียมทำโปรโมชั่นดึงวัยรุ่นกลุ่มแฟนคลับ “ไลลา” ต้นตำรับแบรนด์ของขลังยอดนิยมชวนคนเที่ยวดินแดนของขลัง และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างมูลค่าเพิ่มมาให้ได้มากที่สุด
ททท.ภูมิภาคภาคใต้จะทำให้แคมเปญ “ชีพจรลง South” สร้างแรงบันดาลใจ-More Inspire สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2563 อีกกว่า 10 % ต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น