ททท.เปิดแผนตลาดTATAP2020ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวปี63พุ่งถึง4ล้านล้านบาท-ชัพจรลงSouthพังงา ตะกั่วป่า ชุมชนท่าดินแดงแหล่งเมืองแร่ -สังเนห์ท่องป่าร้อยปีLittle Amazon
ผู้นำททท.จัดทัพใหญ่”TATAP2020”ตั้งเป้าโกยรายได้4ล้านล้าน
ชู4ดีโครงสร้าง-สินค้า-ลูกค้า-แบรนด์”1จังหวัด1เที่ยวรับผิดชอบ
คิงเพาเวอร์เปิดโมเดลซูปเปอร์วินวิน3สัมปทาน4สนามบินทอท.
ททท.จัดคาราวานกระต่ายไฮเทคบูมวันธรรมดานำร่องจันทบุรี
แพร่บุกขายไทยเที่ยวไทยเทแพกเกจทัวร์ราคาเดียว1,192บาท
บางจากเลื่อนนำBBIGเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี63รอความเสถียร
TCEBดันพัทยาฮับไมซ์EEC-จ่อดึงAIRSHOWมาอู่ตะเภาปี’66
ชีพจรลงSouthเที่ยวงพังงา”เมืองเก่าตะกั่วป่า-ชุมชนเหมือง”
มารู้จักขยะกันดีกว่าแล้วช่วยกันแยกให้ถูกวิธีช่วยลดโลกเลอะ
ทอท.ครึ่งปีแรกโกย3.2หมื่นล้านผุดสนามบินไฮเทคฉลอง40ปี
แอร์พอร์ตลิงก์ครบ8ปีลดค่าสินค้าแจกสิทธิ์ผู้โดยสารถึงส.ค.นี้
ชู4ดีโครงสร้าง-สินค้า-ลูกค้า-แบรนด์”1จังหวัด1เที่ยวรับผิดชอบ
ต้อนรับเข้าสู่รายการ “รวยด้วยข่าวเสาร์-อาทิตย์” ในวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2562 เวลา 11.00-12.00 น.พบกับ “เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 97.0 MHz. ฟังได้ทางมือถือ และอ่านได้ทาง www.facebook.com/penroongyaisamsaen และบล็อกเกอร์ #gurutourza #สวท97 #รวยด้วยข่าว #เที่ยวกับกู๋ #วันธรรมดาน่าเที่ยว #ชีพจรลงSouth #ชุมชนท่าดินแดง
ช่วงที่ 1 เกาะติดแผนแม่บทการตลาดกับ “ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี2563 จัดทัพท่องเที่ยวสร้างปาฎิหารย์ทำให้ประเทศมีรายได้แตะ 4 ล้านล้านบาท ฝ่าสถานการณ์ร้อนรอบด้าน รักษาตำแหน่งรายได้อันดับ 7 ของโลก โดย ททท.จะบูรณาการทำงานด้วยอาวุธครบมือตามแผนปฏิบัติการ 4 บวก 4 “4 ดี-โครงสร้างดี-สินค้าดี-ลูกค้าดี-แบรนด์ดี” ยกเครื่องซัพพลายใหม่เน้น “ความปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ครองใจตลาดกลุ่มคุณภาพ “4 เทรนด์มหาอำนาจโลก -Health&Wellness-Wedding&Honeymoon-Sport tourism- Responsible Tourism” งัดโปรเจ็กต์ 1 จังหวัด 1 ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยไม่หวั่นสงครามการค้าหรือค่าเงินบาทแข็ง ยังมีมุมบวกพร้อมขายอีกเพียบ
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. |
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในการจัดประชุมแผนการตลาดประจำปี 2563 :TAT Action Plan 2020 นั้นเป็นไปตามแผนระยะยาว สืบเนื่องจาก ททท.มีแผนวิสาหกิจระหว่างปี 2560-2564 ขณะนี้ขยายไปถึงปี 2565 สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การนำไปใช้จะเริ่มกรอบงบประมาณใหม่ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564 โดยมีกระบวนการรับฟังภาคเอกชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมาปรับปรุงกัน โดยนำพนักงาน ททท.ระดับบริหารตามสำนักงานทั้งในและต่างประเทศมาร่วมหารือกัน การประชุมระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2562 จะจัดทำแผนการตลาดปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การจัดทำโครงสร้างภายในองค์กร 2.พัฒนาสินค้าท่องเที่ยวที่ดี 3.มีตลาดหรือลูกค้าท่องเที่ยวที่ดี และ 4.มีแบรนด์การท่องเที่ยวที่ดี ตรงตามวิสัยทัศน์ของ ททท.ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนตัวชี้วัดจะมีหลัก ๆ การทำรายได้เพิ่มตั้งเป้าจะเติบโตเฉลี่ยอีก 10 % และติดอันดับโลก 1 ใน 7 การทำรายได้จากท่องเที่ยวในปี 2563-2564
สำหรับปีนี้หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นมีหลายสะท้อนปัญหาโดยขอให้ ททท.เข้ามาดูแลทางด้าน Supply Size มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้สำเร็จเข้ามาเที่ยวปีละกว่า 38 ล้านคน และคนไทยเที่ยวในประเทศอีกกว่า 146 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 3 ล้านล้านบาท แต่พอไปถึงจุดหนึ่งแล้วก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจจะทำการท่องเที่ยวไม่ยั่งยืน
ดังนั้นจึงขอให้หันมาดูเรื่อง Supply Size 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว ร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง การทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี 2.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความสนใจของตลาดทั่วโลก ตัวอย่างกลุ่มนักท่องเที่ยวสแกนดิเนเวียตระหนักมากเรื่องการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปี 2563 จึงจะบรรจุแผนชัดเจนทั้ง 2 เรื่อง พร้อมกับต้องเดินหน้าบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดูแลภารกิจด้านการดูแลแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
ขณะที่ภารกิจด้านการดูแลตลาดนักท่องเที่ยว (Demand) ททท.ต้องทบทวนการกระจายรายได้จำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าประเทศเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้ช่วยกันส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อจะทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินถึงมือชุมชนจะต้องหาช่องทางขยายผลต่อยอดอย่างไรได้อีกบ้าง รวมถึงการเพิ่มฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพถึงเวลาที่จะต้องเลือกแล้ว เพราะประเทศมีขีดความสามารถทางการรองรับปริมาณคนอย่างจำกัด
สรุปแล้วแนวทางของแผนตลาดการท่องเที่ยวประจำปี 2563 ทางด้าน Supply size เน้นมาตรฐานความปลอดภัยควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนทางด้าน Demand size มุ่งคัดกรองเลือกนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยบูรณาการทั้ง 2 ด้านไปพร้อม ๆ กัน
ดร.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า จะเดินหน้าสร้างพลังเพื่อทำให้เกิดความสนใจหันมาท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เริ่มจากระหว่างเตรียมแผนหารือกันภายในหน่วยงาน คิดตรงกันให้สร้างความเข้มแข็งการห่วงใยสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากคนในประเทศก่อน จะนำร่องทำ โครงการ “1 จังหวัด 1 ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” เพื่อสร้างกระแสรวมทั้งทำเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำร่องทำทันทีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป
ส่วนแม่เหล็กที่จะทำให้รายได้ปี 2563 ให้ทะยานไปถึงเกือบ 4 ล้านล้านบาท จากการเติบโตเฉลี่ย 10 % จะใช้แม่เหล็กเรื่องจุดเด่นของไทยซึ่งมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวตอบสนองผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มตลาด ซึ่งที่ผ่านมาสามารถเพิ่มการเติบโตปีละ 10 % ได้ จากนี้ไป ททท.ยังจะเดินหน้าหันมาเน้นสร้างความยั่งยืนควบคู่การรักษารายได้ท่องเที่ยวให้ติดอันดับ 7 ของโลกนั้น กำลังพิจารณาว่ายังจำเป็นต้องคงเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 10 % ต่อไปหรือไม่ เพราะสถิติปี 2561 ทำเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เกินเป้าที่ตั้งไว้เพียง 3 ล้านล้านบาท ปี 2562 ตั้งไว้ 3.4 ล้านล้านบาท ปี 2563 จะต้องตั้งเป้าหมายอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไร
หลักการตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2563 จึงต้องพิจารณาถึงเนื้อในว่า รายได้หลักมาจากส่วนใดบ้าง ซึ่งจะให้น้ำหนักกับ 4 กลุ่มตลาด ประกอบด้วย 1.กลุ่มตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : Health & Wellness 2.การท่องเที่ยวคู่รัก-คู่แต่งงานWedding & Honeymoon 3.การท่องเที่ยวเชิงกีฬา : Sport Tourism 4.การท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบ :Responsible Tourism จะเริ่มทำตลาดจริงจังเพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่าง กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเดินทางเข้ามาใช้บริการในไทยมีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายอยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท/คน/ทริป หากนำเข้ามาได้ 1 ล้านคน เท่ากับจะตุนรายได้ไว้ในกระเป๋าแล้วถึง 100,000 ล้านบาท เป็นแนวคิดที่จะขับเคลื่อนตลาดท่องเที่ยวปีต่อไป มุ่งเน้น “รายได้กับเจาะเซ็กเมนท์” เป็นภาพรวมที่จะทำอย่างเต็มที่
ส่วนการกระจายรายได้สู่เมืองรอง ทำได้ 2 อย่าง ประกอบด้วย 1.กระจายในเชิงพื้นที่ เร่งกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไรซึ่งหากมองเห็นประโยชน์ชัดเจนก็ควรจะดำเนินการส่งเสริมต่อเนื่องต่อไป 2.กระจายในเชิงเวลา ปลุกกระแสคนออกมาท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินจัดกิจกรรมวันธรรมดา เช่น กลุ่มเจนวาย ผู้หญิง ผู้สูงวัย เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เข้ามาเป็นฤดูกาล จะต้องทำการตลาดนอกฤดูกาลอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวตอนโลว์ซีซัน กลยุทธ์การบุกเจาะตลาดต่างประเทศก็ต้องขยายแนวไปในพื้นที่เมืองรองตามประเทศต่าง ๆ ด้วย เช่น อังกฤษ ก็จะเปิดตลาดแมนเชสเตอร์ เบอร์มิ่งแฮม เข้ามาเพิ่มด้วยเช่นกัน
ดร.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เตรียมรับมือกับสถานการณ์ซึ่งถูกจับตาอาจจะมีผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาไทย เรื่องแรก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะพยายามมองมุมบวกทำให้การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยที่ 5 ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องการพักผ่อนหรือให้รางวัลตัวเอง หากถูกจำกัดที่จะเดินทางระยะไกล ต่อไปนักท่องเที่ยวจีนอาจจะหันมาไทยเพิ่มขึ้นเพราะถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ครองใจจีนได้ กำลังเตรียมทำแคมเปญ “คนไทยจีนครอบครัวเดียวกัน” ตอกย้ำความสัมพันธ์มองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ตอนนี้ ททท.ในจีน 5 สำนักงาน ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว คุนหมิง เฉินตู เริ่มเจาะกลุ่มตลาดบน เพราะตอนนี้ชาวจีนนิยมส่งลูกหลานไปศึกษายังประเทศไกลเริ่มหันมามองไทยซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่แพง จึงทำให้เห็นโอกาสการเติบโตของจีนมาไทยเติบโตดีต่อไป
เรื่องที่ 2 ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็สร้างความวิตกกังวล โดยได้รับรายงานจาก ททท.สำนักงานแถบยุโรป ระบุขณะนี้ค่าเงินบาทเริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุนการให้บริการของบริษัทตัวแทนนำเที่ยวเพิ่มขึ้น 10-20 % ไทยจึงต้องเผชิญความกดดันเรื่องแข่งขันกับอีกหลายประเทศที่พร้อมใช้มาตรการราคาเข้ามาสร้างความได้เปรียบ เช่น ตุรกี รัสเซีย ค่าเงินถูกลง ราคาท่องเที่ยวจึงถูกลงโดยอัตโนมัติ แต่จากการประเมินของ ททท.ตอนนี้ค่าเงินบาทอาจไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจไม่เลือกมาเที่ยวเมืองไทย จะมาแต่ระวังเรื่องการใช้เงินมากขึ้นเพราะแลกเงินได้น้อยลง อาจลดเวลาพักในไทยแบ่งเวลาไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทนด้วยค่าใช้จ่ายต่ำกว่า หรือประหยัดโดยหันไปซื้อสินค้าตามร้านสะดวกนอกโรงแรมมากขึ้นก็เป็นได้
ซึ่งทางฝ่ายแผนของ ททท.กำลังติดตามประมวลผลการเปลี่ยนแปลงการใช้เงินของนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด หรือคนไทยอาจจะหันไปเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเมื่อเงินบาทแข็งค่าก็จะกระทบกับเป้าหมายกระตุ้นคนไทยเที่ยวในประเทศด้วยอีกทาง เพราะเป้าหมายตอนนี้ต้องการส่วนแบ่งรายได้คนไทยแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 33 % ของรายได้ทั้งหมด ดังนั้นตลาดต่างประเทศระยะใกล้จากอาเซียนและเชียจึงเป็นตัวแปรสำคัญ ปี 2563 จะทุ่มทำวางกลยุทธ์แรก “บริหารความเสี่ยง” กระจายความสำคัญให้เท่า ๆ กัน แต่จีนก็ยังเป็นเบอร์ 1 ซึ่งกำลังชะลอตัว แต่อาเซียนก็มีบทบาทสำคัญด้วยความใกล้ชิดมีพรมแดนติดกัน วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้เดินทางเข้ามามากขึ้นปีละกว่า 10 ล้านคน รวมถึงเอเชียตะวันออกก็ต้องรักษาฐานไว้ ด้วยการเจาะเซ็กเมนท์ได้แก่ เกาหลีใต้มุ่งขยายฐานนักกอล์ฟ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับตลาดผู้หญิงมากขึ้น ส่วนเอเชียใต้อย่างอินเดียได้อานิสงจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA ON ARRIVAL :VOA เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ต่อไปจะบุกกลุ่มครอบครัว และโอเชเนีย คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เริ่มฟื้นตัวกลับมาเสริมตลาดที่หายไป แม้แต่อเมริกาตอนนี้ส่งสัญญาณเติบโตอย่างน่าแปลกใจเพราะเดินทางระยะไกลและไม่มีเที่ยวบินตรง
ส่วนยุโรปกลางสถานการณ์ค่อนข้างดีถึงแม้ฐานจะต่ำบ้าง แต่ ปราก-สาธารณรัฐเช็ค ฮังการี โปแลนด์ จะเป็นดาวรุ่งของไทยในอนาคต อย่างไรก็ตามในการตั้งเป้าหมายปี 2563 ที่จะทำรายได้ให้เข้าเป้าเฉียด 4 ล้านล้านบาท นั้น ททท.ต้องฝ่าฟันความท้าทายในข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างให้ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันถูกมองเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวด้านปริมาณหรือจำนวนมาก (mass tourism) แต่นับจากนี้ไปจะเติบโตในเชิงปริมาณแทบจะไม่ได้แล้ว แต่ ททท.นำเสนอรัฐบาลพยายามจะย้ำ “รายได้” จะไม่น้อยกว่าเดิมจากปี 2562 ตั้งไว้ 3.4 ล้านล้านบาท ปี 2563 ก็ต้องเกือบ 4 ล้านล้านบาท ความสำเร็จของไทยที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้เพราะ ททท.ทำงานเชิงบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างเจ้าของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีกหลากหลายหน่วยงาน จึงขอให้ยกระดับความตื่นตัวถึงมาตรการความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แทนการมองเพียงรายได้เพียงมิติเดียว โดยเพิ่มกลยุทธ์สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยวจะมีมูลค่าเพิ่มช่วยการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ดังนั้นตอนนี้ ททท.กำลังคิดจะทำตัวชี้วัดใหม่คือ Return on Experience :ROX เพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกบูรณาการความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะคงไม่ใช่รายได้แต่ขยายผลเรื่องประสบการณ์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการทำตลาดท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ททท.นั่นเอง
ฟังข่าวต้นชั่วโมง
ข่าวที่ 1 ““คิง เพาเวอร์”โชว์พลังธุรกิจทศวรรษหน้าปี’63-74”
อนาคตของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ภายใต้การนำของ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีก 10 ปีข้างหน้านั้น ได้รับความสนใจต่อเนื่องจากหลาย ๆ ฝ่าย ถึงการเดินหน้า “พลังพัฒนาธุรกิจ” หลังชนะงานประมูลโดยทำคะแนนเทคนิคนำโด่งส่วนเรื่องราคาก็เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำทิ้งคู่แข่งแบบขาดลอย ทำให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท.” ต้องตัดสินให้เป็นผู้ชนะได้รับสิทธิประกอบกิจการดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 สัมปทานสัญญา ใน 4 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ภายใต้สัญญาใหม่ 10 ปี 6 เดือน ระหว่าง 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2574 ด้วยมูลค่าผลตอบแทนขั้นต่ำใหม่ต้องจ่ายให้ ทอท.ปีละรวมกว่า 23,548 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20 %ของรายได้หรือยอดขายหมุนเวียนแต่ละปี
นัยสำคัญที่ได้จากการประมูลรอบนี้ถือเป็น “ซูเปอร์ วิน วิน” อันเกิดจาก กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทำให้ ทอท. สามารถเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ครั้งใหญ่ 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องแรก “ยกระดับรายได้ Non Aero” จากกิจการพาณิชย์สนามบินที่ไม่ได้มาจากการบิน ปรับสัดส่วนสูงขึ้นได้เร็วกว่าเป้าหมายไปอยู่ในเกณฑ์สากลสนามบินโลกที่ 50 % เรื่องที่สอง “ปรับสัดส่วนรายได้ Aero” จากกิจการสนามบินได้อย่างเหมาะสมมาอยู่ที่ 50 % ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก เพราะที่ผ่านมาเจ้าของสนามบินส่วนใหญ่ต้องแขวนอนาคตการเติบโตทางรายได้ไว้กับค่าธรรมเนียมปริมาณเที่ยวบินขึ้น-ลง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าออกสนามบินแต่ละปี นอกจากเรื่องสัดส่วนรายได้ Non Aero จะเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปแล้ว
ยังมีอีกนัยเรื่อง “ผลกำไรสุทธิรายปี” ของ ทอท.ช่วง 10 ปีหน้าจะเติบโตแตะปีละ 50,000 ล้านบาทเพิ่มเป็นเท่าตัวด้วยหรือไม่ ? จะต้องรอลุ้นกันต่อไป จากปี 2561 สามารถทำกำไรไว้ได้ถึง 25,000 ล้านบาท
ถึงแม้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จะใส่ตัวเลขผลตอบแทนหน่วยงานรัฐน้อยหรือมาก ก็ยังโดนจับจ้องและ/หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างนั่นเอง ส่วนความจริงที่ปรากฏนั้นมีความชัดเจนอยู่ในตัว คือได้เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำโดยทำประเมินตามปัจจัยแวดล้อมหลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สร้างความเป็นธรรมโดยไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ได้แก่
1.การเดินทางของคนในประเทศและทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การเพิ่มความถี่เข้าออกมีมากขึ้น
2.ขนาดพื้นที่ประกอบกิจการภายในสนามบินขยายการลงทุนมากขึ้นจากอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ (Midfield Satllite Terminal)
3.ทักษะและประสบการณ์ที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ สั่งสมมา 30 ปี ทำให้มีความชำนาญในธุรกิจสูง ปัจจุบันสามารถนำดิวตี้ฟรีของไทยทำยอดขายติด 7 ของโลก
4.มีเครือข่ายพันธมิตรสินค้าแบรนด์เนมแถวหน้าของโลกสนับสนุนเลือกให้นำผลิตภัณฑ์แบบใหม่ล่าสุดมาวางขายในดิวตี้ฟรีไทยเป็นพื้นที่แรก ๆ ของภูมิภาคเอเชีย และปัจจัยปลีกย่อยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง 5.มีสินค้าพลังชุมชนเข้ามาเสริมทัพในจังหวะที่เทรนด์ผู้บริโภคในตลาดโลกโหยหามากขึ้น การที่ “กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์” เสนอจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแต่ละโครงการสูงกว่าคู่แข่งเท่าตัวทิ้งห่างคู่ต่อสู้แบบไม่เห็นฝุ่น ทำให้รัฐวิสาหกิจ ทอท.ได้รับประโยชน์ต่อเนื่องไปอีก 1 ทศวรรษหน้า ประกอบด้วย
1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (duty free) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในพื้นที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังที่ 1 และอาคารเทียบเครื่องบิน (Midfield Satellite terminal) พื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 30,000 ตารางเมตร โดยได้เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) สูงสุดปีละ 15,419 ล้านบาท
2.บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้รับสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (commercial area) ภายในอาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นรวมกว่า 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป จึงได้เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) สูงสุดปีละ 5,798 ล้านบาท
3.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ได้เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) สูงสุดปีละ 2,331 ล้านบาท
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เปิดเผยว่า ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้จะเริ่มทำสัญญากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ได้รับสิทธิประกอบกิจการทั้ง 3 โครงการ จะได้ทยอยวางแผนการลงทุนใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่เตรียมเปิดบริการภายในเมษายน 2563 เพราะเมื่อทำสัญญากับเอกชนผู้ชนะสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีและเชิงพาณิชย์เสร็จเรียบร้อย จะได้เข้าไปพัฒนาควบคู่กับอีกบริษัทที่ได้รับงานวางระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในอาคารดังกล่าว โดยจะมีพื้นที่การค้าเพิ่มอีก 9,000-24,000 ตารางเมตร และมีหลุมจอดเครื่องบินรองรับเที่ยวบินมากขึ้นอีก 28 หลุม
ทำให้ผู้ชนะการประมูลเล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ใช้สอยซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อรายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดตามไปด้วย จึงเสนอราคาผลตอบแทนสูงตามจริง
ข่าวที่ 2 “ททท.ส่งทัพกระต่ายไฮเทคบูมเที่ยววันธรรมดานำร่องที่จันท์”
นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้เดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยววันธรรมดาน่าเที่ยว@จันทบุรี ตั้งเป้าเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยววันธรรมดา จันทร์-พฤหัสบดี เพิ่มทั้งจำนวนและรายได้มากขึ้นตลอดทั้งปี ล่าสุดได้จัดพิธีปล่อยขบวนรถโมเดล “กระต่ายหมาย..จันท์” มุ่งหน้าสู่จันทบุรี เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารด้วยไฮเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ Gen Y และสาวกโซเชียลวัยต่าง ๆ สามารถสแกน QR Code จากโมเดลกระต่าย ซึ่งจะนำไปติดตั้งตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วจันทบุรีที่เข้าร่วมกิจกรรม เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าของที่ระลึก พร้อมใจกันมอบรับส่วนลดและโปรโมชั่นพิเศษอย่างต่อเนื่องช่วงวันธรรมดา วันจันทร์–วันพฤหัสบดี ตั้งแต่15 กรกฎาคม - 15 กันยายน 2562
เป็นอีกกลยุทธ์ที่จะช่วยปลุกกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวผู้ที่ชื่นชอบถ่ายภาพพร้อมทั้งแชะแชร์ส่งต่อชวนกันมาเที่ยวเพิ่มขึ้นตลอดปีนี้
ระหว่างวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2562 ในจันทบุรีเชิญชวนนักท่องเที่ยวไปพบกับกิจกรรมส่งเสริมการเดินทาง“วันธรรมดาน่าเที่ยว @จันทบุรี” บริเวณด้านหน้าอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อำเภอเมือง พร้อมกับโมเดลกระต่ายหมาย...จันท์ ทั้ง 40 ตัว มาจัดแสดงด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพความประทับใจ รวมทั้งจัดให้ชมมินิคอนเสิร์ตจาก โต๋- ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร และทอม- อิศรา กิจนิตย์ชีว์
ภายในงานจะได้รวมร้านค้าที่มีชื่อเสียงทั่วจันทบุรีมาไว้ให้ได้ช้อปกันอย่างจุใจ มีทั้ง ร้านอาหารถิ่นชื่อดัง ร้านค้าชุมชน OTOP กิจกรรมสาธิตสินค้าชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์สนุกสไตล์ More Fun ตะวันออก อย่างเต็มที่
นายวิบูลย์ นิมิตวานิช ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก ททท.กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการโครงการ “วันธรรมดา น่าเที่ยว” เล็งเห็นถึงศักยภาพจันทบุรีเป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง มีจุดขายหลากหลายมุมทั้งสวนผลไม้ ธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งกลุ่มโรงแรม ชุมชน ร้านอาหาร หน่วยงานดูแลแหล่งท่องเที่ยว มีความเข้มแข็ง และพร้อมจะผนึกความร่วมมือกับ ททท.กระตุ้นทั้งจำนวนและรายได้ให้คนเดินทางตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อเข้าไปพักผ่อนช่วงวันธรรมดา วันจันทร์-พฤหัสบดี ของทุกสัปดาห์ ซึ่งจะได้รับความสะดวกในราคาสบายกระเป๋า จากส่วนลดที่จัดเตรียมไว้มากมายตลอด 60 วัน ระหว่าง 15 กรกฎาคม -15 2562
ปัจจุบันจันทบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวมุมใหม่ วิถีวัฒนธรรมชุมชนรอบอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ในอำเภอเมือง รวมถึงอาหารถิ่น การท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วครอบคลุมถึง 4 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ และแหล่งท่องเที่ยวสนุก ๆ อื่น ๆ มีกระจายอยู่ทั่วทั้งจันทบุรีเช่นกัน
ข่าวที่ 3 “ททท.แพร่เทขายแพกเกจราคาเดียว1,1192บาท”
ททท สำนักงานแพร่ ร่วมงานไทยเที่ยวไทย ครั้งที่ 51 กิจกรรมวันธรรมดาน่าเที่ยว พบกันคูหา I31 และ I 32 วันที่ 27-30 มิ.ย. 62 ณ ไบเทค บางนา ซื้อแพคเกจทัวร์ลุ้นตั๋วเครื่องบินฟรี บินนกแอร์ กรุงเทพ-แพร่ (ไป-กลับ)จำนวน 1 ที่นั่ง ฟรี โดยมีแพกเกจ “เมืองแพร่ที่ไม่ธรรมดา” ราคาเดียว 1,192 บาท 2 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางที่ 1 “อิ่มบุญ 4 พระธาตุแห่งรุ่งอรุณ อิ่มใจบ้านนาคูหา” ไปสักการะ พระธาตุช่อแฮ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุดอยเล็ง พระธาตุอินทร์แขวน แล้วสัมผัสวิถีการกินมื้อกลางวันกับชุดปิ่นโตนาคูหา เพื่อชมธรรมชาติ ทุ่งหน้า ปลูกห้อม ย้อมห้อม แอ่วเมืองเก่า
เส้นทางที่ 2 “สามเมืองสุขใจ ลอง มา(น) แพร่ ...เมืองที่ต้องลองไป 1.บ้านปิน พระธาตุห้วยอ้อ 2.โกมลผ้าโบราณ ขนมเส้นย้อย 3.เมืองมานด่านใต้ 4.ปลูกสักบ้านแม่พวก ห่อคัมภีณืใบลานวัดสูงเม่ 5.เที่ยวเมืองแพร่ 6.แอ่วเมืองแพร่คุ้มหลวง 7.คุ้มวิชัยราชา
ข่าวที่ 4 “บางจากเลื่อนนำบีบีไอจีเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปปี63”
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มเรื่องการนำบริษัทย่อย บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จะเลื่อนไปเป็นต้นปี 2563 จากเดิมคาดจะสามารถกระจายหุ้นเพื่อเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มตลาดหุ้นปัจจุบันยังไม่ดี ส่วนภาพรวมปีหน้าน่าจะมีเสถียรมากขึ้นกว่าปัจจุบัน สำหรับแผนดำเนินงานของบริษัทในปี 2562 บางจากคาดยังคงเป็นไปตามเป้า โดยยอดขายน้ำมันเติบโต 5-6% มากกว่าตลาดรวมที่โดย 4% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP)
ข่าวที่ 5 “TCEBดันพัทยาฮับไมซ์EECดึงแอร์โชว์จัดที่อู่ตะเภาปี’66”
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า วางกลยุทธ์ทำตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ตามแผนยุทธศาสตร์เมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งกำลังก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เชื่อมโยงกัน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยทีเส็บร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเมืองพัทยา ผลักดันแนวทางการพัฒนาเมืองไมซ์พัทยา หรือ PATTAYA MICE City ให้ยกระดับเป็น EEC MICETROPOLIS เพื่อเป็นฮับไมซ์ภาคตะวันออกต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก คือ การส่งเสริมภาพลักษณ์ “พัทยาเมืองใหม่” หรือ Neo Pattaya ตามที่เมืองพัทยารุกการพัฒนาครบวงจรทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
ตามสถิติปี 2561 พัทยาทำรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ สูงถึง 16,064 ล้านบาท โดยมีต่างชาติ 169,629 คน และคนไทย 1,789,966 คน
ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นไป วางเป้าหมายจะใช้ศักยภาพพัทยาเป็นเวทีทำธุรกิจ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพิ่มความเข้มข้นด้านเทคโนโลยีส่งเสริมการขยายตัวทุกอุตสาหกรรมสำคัญของไทยใน EEC เช่น งาน Airshow งาน PATA Destination Marketing Forum 2019ควบคู่กับร่วมส่งเสริมการตลาดไมซ์เมืองพัทยาในงานเทรดโชว์ตลาดต่างประเทศ อาทิ เยอรมนี อเมริกา สเปน
โดยเฉพาะการเตรียมดึงงาน AIRSHOW ระดับโลกมาจัดที่สนามบินอู่ตะเภาช่วงปี 2566-2567 หลังจากได้พูดคุยกับผู้จัดในงาน Airshow 2019 ที่ฝรั่งเศส รวมถึงได้ทำประเมินรับฟังความเห็นมีผู้เกี่ยวข้องต้องการมาจัดในไทยสูงถึง 81 % แต่ TCEB จะต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลไทยอีกครั้ง
ช่วงที่ 2 เที่ยวแล้วมีแรงบันดาลใจต้องไปเที่ยวเมืองที่มีดีมากกว่าทะเลใน “พังงา” ชมเมืองเก่าตะกั่วป่า ชุมชนท่าดินแดงดูร่องรอยรางแร่โบราณนั่งคะยักชมป่าโกงกาง เขาหน้ายักษ์ “ชุมชนสังเนห์” พายแคนูเที่ยวป่า Little Amazon กินของอร่อยตามร้านท้องถิ่นที่ได้มิชลินและขนมเต้าส้ออายุกว่า 110 ปี ที่สำคัญเรื่องสุขภาพตอนนี้ “เรารู้จักขยะกันแค่ไหนต้องคัดแยกให้เป็น” และข่าวท้ายชั่วโมง “ทอท.ครึ่งปีแรกโกยรายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท เตรียมฉลอง 40 ปีโดยพัฒนาสนามบินเป็นไฮเทคดิจิตอล และแอร์พอร์ตลิงก์ครบ 8 ปี แจกส่วนลดสินค้าและสิทธิพิเศษให้ผู้โดยสารเพียบ
@เที่ยวพังงามีมากกว่าทะเล”เมืองเก่าตะกั่วป่า-เหมืองป่าชุมชน”
รวมทั้งยังได้นำร่องโครงการ “ถนนคนเดินเมืองเก่าตะกั่วป่า : Takuapa Old Town Walking Street” อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เปิดบริการเป็นครั้งแรกช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว โดยได้รณรงค์ร้านค้าบนถนนเมืองเก่ากว่า 100 คูหาเปิดขายทุกวันอาทิตย์สร้างความคึกคักช่วงหน้าฝนระหว่างมิถุนายน-สิงหาคม นี้ ควบคู่กับการแนะนำสถานที่ต้องห้ามพลาดตะกั่วป่าโดยได้จัดรถสองแถวไม้ ให้บริการฟรีประจำเส้นทาง เขาหลัก-ตะกั่วป่า ออกทุก 1 ชั่วโมง ไป-กลับ ยัง 8 จุด ได้แก่
1.ศาลเจ้าพ่อกวนอู-ที่เคารพศรัทธาของชาวตะกั่วป่าและพื้นที่ใกล้เคียง 2.สะพานเหล็กบุญสูง-สะพานข้ามลำธารลำลางเหมืองแร่เป็นร่องรอยความผูกพันอาชีพดั้งเดิม เป็นแลนด์มาร์กจุดแวะถ่ายรูป 3.โรงเรียนเต้าหมิง-โรงเรียนเก่าแก่จีนแห่งแรกของเมืองไทยที่ลูกหลานคหบดีชาวจีนต้องไปเรียน 4.บ้านขุนอินทร์-บ้านคหบดีคนสำคัญที่มาปกครองตะกั่วป่า 5.วัดเสนานุชรังสรรค์-ชาวไทยเชื้อสายพุทธให้ความสำคัญมาก 6.กิจกรรมทำขนมเต้าส้อ-เพื่อเรียนรู้การทำขนมพื้นเมือง 7.แต่งกายบะบ๋า-ผู้หญิงสวมผ้าซิ่นปาเต๊ะกับเสื้อลายดอก ผู้ชายสวมราชประแตน กางเกงสูทคอเต่า 8.ถนนคนเดินตะกั่วป่า มาร่วมกิจกรรม ถ่ายรูปสตรีทอาร์ตสไตล์กราฟิตี้กับภาพหนูน้อยมาร์ดีสามตา
เที่ยวพังงาในชุมชนท่องเที่ยว “ชุมชนท่าดินแดง” อ.ท้ายเหมือง อดีตเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่ยังมีร่องรอยรางแร่โบราณ การร่อนแร่ให้ชม มีกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ-More Inspire ให้นักท่องเที่ยวร่วมทำอาหารถิ่น อาทิ เมนูน้ำพริก ชมและลงมือทำผักสลัดที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ใช้น้ำน้อย ล่องเรือคะยักท่องป่าโกงกางที่สมบูรณ์แบบ และลงเรือยนตร์ไปยังเกาะบริเวณเขาหน้ายักษ์สัมผัสชายหาดทรายขาว ดูทุ่งหญ้าสะวันนาสีเหลืองทองจะบานเพียง 1 สัปดาห์ช่วงพฤศจิกายนของทุกปี ชุมชนจะคิดค่าทำกิจกรรม 400-800 บาท/คน เป็นการกระจายเม็ดเงินให้เครือข่ายชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเฉลี่ย 2,000-7,000 บาท/ครัวเรือน
“ชุมชนคลองสังเนห์” อ.ตะกั่วป่า ได้ชื่อว่าเป็น Little Amazon เมืองไทย ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนสังเนห์บริการพายเรือแคนูครั้งละ 1 ชั่วโมง ท่องเที่ยวป่าไทรและป่าจากโบราณอายุนับ 100 ปี ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์น้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ ค่าบริการท่องเที่ยวคิดค่าเรือ 500 บาท/ลำ นั่งได้ 2 คน ส่วนฝีพายฟรี 1 คน จะมีรายได้ 200 บาท/เที่ยว
ส่วนตลาดพื้นบ้านที่น่าท่องเที่ยวก็มี “ตลาดปากถักหรือตลาดในหมอก” บ้านปากถัก ต.ท่านา อ.กะปง สร้างความตื่นตาด้วยสินค้ามากมายให้เลือกลางหมอกหนาตั้งแต่ 6 โมงเช้า และร้านขนมท้องถิ่นดั้งเดิมก็ต้องแวะ “ร้านดวงรัตน์” อ.ตะกั่วป่า ต้นตำรับขนมเต้าส้อสารพัดไส้สืบทอดสูตรลับความอร่อยกันมาถึง 110 ปี “ร้านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปลิง” อ.เมือง เป็นแห่งเดียวที่ทำเต้าส้อสูตรใบเหมียงพืชพื้นถิ่นที่ปลูกอยู่รอบบ้าน ทำให้มีรายได้เสริมตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน
ร้านอาหารต้องห้ามพลาดในพังงาที่คว้ารางวัลมิชลินไกด์ต้องแวะชิมในอำเภอตะกั่วป่า 3 ร้าน ได้แก่ “ในเหมืองเขาหลัก” เป็นบุฟเฟต์มื้อกลางวันและค่ำ 199 บาท/คน “ร้านครัวน้อง” และ “ร้านครัวใบเตย” เมนูอาหารจะเน้นรสจัดจ้านแบบภาคใต้ มีทั้งแกงส้ม(แกงเหลือง) ผัดสะตอ และอาหารประจำบ้านของคนพังงาคือเมนูหมู อาทิ หมูคั่วเกลือ หมูฮ้อง และอื่น ๆ
เมื่อเอ่ยที่พักต้องลองเช็คอิน “เทวาสม เขาหลัก บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า” ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า มีอยู่ 68 ห้อง สนนราคาห้องพัก ช่วงฤดูท่องเที่ยวตั้งแต่ 7,000-100,000 บาท/ห้อง/คืน ช่วงหน้าฝนนอกฤดูท่องเที่ยว 3,500-5,000 บาท/ห้อง/คืน ก่อนกลับให้แวะแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์อีกแห่ง “เสม็ดนางชีบูติก” ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นจุดชมวิวอ่าวพังงาทะเลอันดามันได้แบบ 360 องศา มีบริการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ห้องพักไล่ระดับตามไหล่เขา 14 ห้อง และลานกางเต็นต์สัมผัสธรรมชาติ มีรถสองแถวฟรีจากพื้นราบขึ้นไปยังจุดชมวิว
นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แคมเปญ “ชีพจรลง South” กระตุ้นการท่องเที่ยวภาคใต้เชิงรุกช่วงฤดูฝนระหว่างมิถุนายน-กันยายน นี้ เพื่อกระจายสู่ชุมชนเมืองหลักและเมืองรองทั้ง 14 จังหวัด ตามเป้าหมายปี 2562 จะต้องทำรายได้รวม 8 แสนล้านบาท จึงได้โหมทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ บล็อกเกอร์ซึ่งเป็นไอดอลนักเดินทาง 5 สาว รีวิวตามสถานที่ต่าง ๆ เชิญชวนคนไทยออกมาเที่ยวโดยมีรางวัลให้ลุ้นรับถึง 2 แสนบาท พร้อมกับระดมผู้ประกอบการนำเที่ยวกว่า 100 บริษัท ผลิตแพกเกจ สามารถจองซื้อได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป โดยโปรโมตผ่านเว็บไซต์ www.ชีพจรลงSouth.com มีให้เลือก 10 รายการ ผู้ที่เข้าไปจอง 1,000 คนแรก รับฟรีผลิตภัณฑ์ถุงเป๋าชีพจรลง South ลดโลกร้อน และยังเข้าไปติดตามในเพจเฟจบุ๊คของ ททท.ภาคใต้และสำนักงานททท.ทั้ง 10 แห่ง
@คุณรู้จักขยะดีแค่ไหนมาช่วยกันแยกให้ถูกที่เพื่อสิ่งแวดล้อม
ทุกวันนี้ เรื่องการจัดการขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ ด้วยเหตุผลหนึ่งก็คือ เพราะคนทิ้งขยะโดยไม่รู้ว่าควรจะแยกขยะก่อน หรือควรแยกอย่างไร เนื่องจากขยะที่ปะปนกันส่งผลให้จัดการขยะได้ยาก ขณะที่ขยะบางอย่างนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ขยะบางชิ้นเป็นขยะอันตราย ต้องจัดการอย่างถูกวิธี หากเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็จะสามารถช่วยโลกของเราให้มีสภาพที่ดีขึ้นได้ ขยะปัจจุบันที่จะต้องคัดแยกเพื่อทิ้งหรือใช้ประโยชน์ต่อได้ มีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่
1.ขยะย่อยสลาย/เปียกเช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ ลักษณะ : ขยะเน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้
2.ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม เศษพลาสติก เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ กล่องกระดาษ กล่องเครื่องดื่ม ลักษณะ : บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้
3.ขยะอันตราย เช่น เข็มฉีดยา แบตเตอรี ถ่านไฟฉาย น้ำมันเครื่องใช้แล้ว ลักษณะ : ขยะปนเปื้อนหรือมีองค์ประกอบของวัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัดกร่อน และวัตถุที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4.ขยะทั่วไป เช่น ถุงขนมกรุบกรอบ ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกใส่อาหาร ลักษณะ : ขยะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ ฟังข่าวท้ายชั่วโมง
ข่าวแรก “ทอท.ครึ่งปีแรกโกย3.2หมื่นล้านผุดสนามบินไฮเทคฉลอง40ปี”
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท.” กล่าวว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ทอท.จะครบรอบ 40 ปี ปัจจุบันบริหารสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ (ทสภ.) ดอนเมือง (ทดม.) ภูเก็ต (ทภก.) เชียงใหม่ (ทชม.) หาดใหญ่ (ทหญ.) และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ทำรายได้ 6 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 (งบการเงินเฉพาะบริษัท) จากการขายหรือให้บริการ 32,035.09 ล้านบาท และรายได้อื่น 781.59 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 32,816.69 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 15,275.45 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,565.42 ล้านบาท จึงทำให้มีกำไรสำหรับงวดดังกล่าว จำนวน 13,975.81 ล้านบาท
ปี2563 ในโอกาสครบ 40 ปี ตั้งเป้าก้าวสู่สนามบินที่พร้อมให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลเต็มรูปแบบ ขณะนี้มีโครงการพัฒนา ทสภ. ปีงบประมาณ 2554 – 2560 ระยะที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมด้วยระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) จะเปิดได้ภายในปี 2563 ส่วน ทดม.จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนที่ ทภก.อยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศให้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 10.5 ล้านคน และก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
ข่าวที่สอง “8ปีแอร์พอร์ตลิงก์ลดสินค้า-แจกสิทธิผู้โดยสารเพียบ”
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จัดกิจกรรมฉลอง 8 ปี โดยแจกของขวัญ ความสุข ความบันเทิง ให้ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สมาร์ทพาส ทุกประเภท เมื่อโชว์บัตรประชาชน แจกสิทธิพิเศษในเดือนเกิดมากมาย ได้แก่ บัตรชมภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ ซีนีม่า มูลค่า 480 บาท ที่นั่ง Deluxe Seat หรือ Premium Seat หรือเลือกรับบัตรกำนัลสตาร์บัคส์ (Starbucks) ลายใหม่ล่าสุด หรือเดินทางฟรีวันเกิดแบบไม่จำกัดตลอดทั้งวันถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดร้านค้าและบริการภายในสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 8 สถานี ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2562 โทร. 1690 ตลอด 24 ชม. หรือ www.srtet.co.th, www.facebook.com/AirportRailLink
ติดตามฟังรายการได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.ทาง สวท.FM 97.0 MHz.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น