บพท.ควงม.ทักษิณนำร่องทำ“กระจูดแก้จน”3อำเภอในพัทลุง
“ทะเลน้อยโมเดล”พลิกคุณภาพชีวิตเพิ่มรายได้พุ่งหลักหมื่น
เรื่องโดย...#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza #รายการรวยด้วยข่าวเสาร์อาทิตย์FM97 #บทพ #กระจูดแก้จน #กระจูดทะเลน้อยโมเดล
“บพท.”รวมพลังมหาวิทยาทักษิณ เดินหน้าโครงการ”กระจูดแก้จน” เติมความรู้ เพิ่มทักษะ งานศึกษาวิจัย เสริมแกร่งชาวบ้านพัทลุง 3 อำเภอ พลิกคุณภาพชีวิต “ชุมชนทะเลน้อยโมเดล” มีรายได้พุ่งหลักหมื่นบาท
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจัดทำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งจะมีกิจกรรมหลัก 4 เรื่อง
เรื่องที่ 1 การสอบทานข้อมูลคนจนในระบบ TP-MAP
เรื่องที่ 2.การส่งต่อการช่วยเหลือคนจนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่ 3 การติดตามข้อมูลการส่งต่อการช่วยเหลือที่ส่งไปให้หน่วยงานต่าง ๆ
เรื่องที่ 4 การจัดทำโครงการ “โมเดลแก้จน”
หลังจากทีมวิจัยได้สอบทานข้อมูลคนจนในจังหวัดพัทลุง จากฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TP-MAP) จำนวน 13,902 ครัวเรือน พบคนจน 14,342 คน ทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างละเอียดทั้ง 11 อำเภอ ภายใน 73 พื้นที่ ครอบคลุม 65 ตำบลและ 8 เขตเทศบาล คิดเป็น 100% ของพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อบันทึกลงในระบบ PPP-connext
โดยพบว่ามี “ครัวเรือนยากจน” 14,205 ครัวเรือน และค้นพบ “คนจนรวมทุกครัวเรือน” 59,449 คน ทั้งนี้พื้นที่ที่มีคนจนกระจุกตัวอยู่มากที่สุดใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน อ.เมือง และ อ.ปากพะยูน
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจน “ระดับอยู่ลำบากและกลุ่มคนจนอยู่ยาก”
พัทลุงในภาพรวม มีองค์ประกอบซึ่งเป็นสาเหตุให้เลือก 3 อำเภอ นี้ คือ 1.ค่าทุนมนุษย์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 ก็ถือว่าอยู่ยาก 2.ทุนทางสังคมเช่นการรวมกลุ่มการช่วยเหลือ
ความขัดแย้ง และอื่น ๆ อยู่ที่ 1.53 ก็ถือว่าอยู่ระดับน้อยก็อยู่ลำบาก ส่วน 3.ทุนกายภาพ 4.ทุนทางเศรษฐกิจหรือทุนทรัพยากรธรรมชาติถืออยู่ที่ 2.7 และ 2.8
ถือว่าพออยู่ได้
การนำร่องทำโครงการ “โมเดลแก้จน หรือ “กระจูดแก้จน” ในอำเภอควนขนุน ภายใต้หลักคิดของการผสมผสานเรื่ององค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น เข้ากับระบบภูมินิเวศน์และองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย ทั้ง 3 ส่วนนี้เข้าด้วยกันจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างมีศักยภาพและมีพลัง
โดยเน้นให้ความสำคัญด้านการขับเคลื่อนและการแสดงออกของกลุ่มคนจนเป้าหมายที่จะเข้ามาเป็นผู้ออกแบบหรือวางแผน เพื่อจัดทำกิจกรรมด้วยพลังและกระบวนการกลุ่มที่เขาจัดทำขึ้น เชื่อมั่นว่ากระบวนการปลุกจะทำให้เกิดการเสริมแรงแล้วก็เสริมพลังและเติมความมั่นใจให้กลุ่มพี่น้องคนจนเหล่านี้ได้แสดงออกแล้วก็ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
รวมทั้งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับกลุ่มคนจนเป้าหมาย ผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างกิจการกระจูดวรรณี ซึ่งมีชื่อเสียงในการนำเอากระจูดไปเผยแพร่จนเป็นที่โด่งดังทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดที่เข้ามาร่วมกันเติมเต็ม
ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า การเติมความคิด เติมพลัง และเติมความตั้งใจให้กลุ่มคนจนเป้าหมาย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะการไปสร้างพื้นที่ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม จะทำให้ชาวบ้านเกิดพลังและความมั่นใจว่า เขาสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้แล้วก็ช่วยเหลือกันเองได้ในกลุ่ม
ขณะเดียวกันก็ได้ทำเรื่อง Reskill และ Upskill ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
โดยมอบหมายให้อาจารย์จากคณะศิลปกรรมผู้ออกแบบท่าร่ายรำมโนราห์ในท่าต่าง ๆ
และจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาไว้
นำไปถ่ายทอดใส่ไว้ในลวดลายของการสานงานผลิตภัณฑ์กระจูด
เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งลายใหม่ ลายเก่าดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมกับลายที่ผ่านการประยุกต์ดัดแปลงให้มีความเหมาะสมต่อรสนิยมหรือว่ามีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่องของการใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีจากดิน สีจากดอกบัว การย้อมสีแล้วไม่หลุดลอก ไม่ให้สีซีดหรือสีจาง ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปเติมให้กับผู้ประกอบการในชุมชน
สำหรับ “ชุมชนทะเลน้อย” มีกิจกรรมสานเสื่อ สานกระจูดแบบง่าย ๆ เพื่อขายกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่พอทีมวิจัยเข้าไปส่งเสริมเรื่องการรวมกลุ่ม ใช้พลังกลุ่มในการสร้างความร่วมมือและยกระดับคุณภาพของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ อย่างชาวบ้านกลุ่มที่เข้าไปส่งเสริมจะมีรายได้ในระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า ทางชุมชนตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มเลน้อยคราฟ” ทำเพจ นำสินค้าไปขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไลฟ์สด ทำกันเองจนทุกวันนี้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวอีกว่า นอกจากการหนุนเสริมของภาคีในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน และหน่วยราชการในพื้นที่ เป็นห่วงโซ่ของความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์วิจัยที่สำคัญ
ขณะนี้ทีมวิจัยพยายามจะจัดการ chain ความร่วมมือให้มากขึ้น เช่น ไม่ทำแค่เรื่องคนสานกระจูด แต่เรากลับไปดูที่ต้นน้ำเรื่องของการปลูกกระจูดในพื้นที่ที่ถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์
“คนทะเลน้อยไม่สามารถทำนากระจูดได้เพียงพอกับกำลังการผลิต เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ปัญหานกทำลายหัวกระจูด และพื้นที่หลายส่วนอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ชาวบ้านจำต้องซื้อกระจูด จากที่อื่น ดังนั้นแนวทางการเพิ่มกระจูดในพื้นที่ทะเลน้อย คือ การหาหน่วยงานพันธมิตร และชุมชนพันธมิตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการปลูกกระจูดและพันธุ์กระจูด ได้ทำแปลงกระจูดต้นแบบ จำนวน 2 ไร่ และร่วมดำเนินการนำร่องปลูกกระจูดจำนวน 6 สายพันธุ์ เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ในพื้นที่ของศูนย์ศิลปาชีพร่วมกับชุมชนพันธมิตร กลุ่มวิสาหกิจบ้านหัวป่าเขียว (หมู่ 7) กระบวนการปลูก
โดยใช้แนวทาง บูรณาการความรู้ คือ นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสานกับความรู้ทางวิชาการ แล้วก็นำมาสู่กลางน้ำก็คือพูดถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และก็ปลายน้ำไปทำเรื่องตลาด ทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่คนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น”
รศ. ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนการสร้างนวัตกรในชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่ จากตัวเลขของคนที่เข้าร่วมโครงการ 50 ครัวเรือน เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นนวัตกรกลุ่มแรกที่จะเป็นตัวเร่งแล้วก็ขยายฐานที่นำไปสู่กลุ่มคนจนเป้าหมายในพื้นที่อื่น ๆ ในทะเลน้อยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ หรือว่าที่ยังครอบคลุมไปไม่ถึง
ซึ่งพบว่ากลุ่มคนที่มาร่วมโครงการจะมี 3 รุ่น คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนรุ่นกลาง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนขาดโอกาสทางการศึกษา หากสามารถผสมผสานศักยภาพของคน 3 รุ่นนี้ได้ จะเป็นพลังอันมหาศาลมาก ซึ่งได้บทเรียนจากกลุ่มที่จะประสบความสำเร็จ เช่น ในการทำผลิตภัณฑ์เลน้อยคราฟออกมา ช่วงทดลองไลฟ์สดขายทางออนไลน์ปรากฏว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ทำได้ดีมาก ๆ เพราะมีทักษะด้านไอที-เทคโนโลยี ในขั้นตอนการทำลวดลายคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เก่งและคล่องเท่ากับคนรุ่นอาวุโส เป็นต้น
รศ. ดร.ณฐพงศ์อธิบายเรื่อง “การทำตลาดผลิตภัณฑ์กระจูด” ว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์หลักเฉพาะกลุ่มที่มหาวิทยาลัยลงไปส่งเสริมจะขายในรูปของออนไลน์เป็นหลัก จากเดิมในช่วงก่อนโควิดระบาดอาจจะมีกลุ่มต่าง ๆ แต่ตอนนี้เนื่องจากนักท่องเที่ยวในพื้นที่ไม่มี จึงเน้นขายทางออนไลน์เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ยังไม่ได้ส่งขายตลาดในต่างประเทศ
@เสียงจากกระจูด“ชุมชนทะเลน้อย”ขอบคุณ บพท.เพิ่มรายได้พุ่งหลักหมื่น
“นางบุษรา ทองนวล” ประธานชุมชนทะเลน้อย จ.พัทลุง กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทาง บพท.ตลอดถึงมหาวิทยาลัยที่ได้มอบสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชนทะเลน้อย ก่อนที่ทีมทำงานวิจัยเข้ามาชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพการทำจักสานกระจูด แต่ขาดวัตถุดิบจึงต้องสั่งซื้อผ่านพ่อค้นกลางจาก อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง เมื่อหักค่าใช้จ่ายกับค่าวัตถุดิบจึงเหลือรายได้ไม่เกินวันละ 150 บาทเท่านั้น
ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนจะมีรายได้น้อย ส่วนมากไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นเสริม จะมีบ้างคืออาชีพก่อสร้าง หรือบางรายผู้สูงอายุจะออกไปทำงานไม่ได้ จึงต้องส่งลูกหลานออกไปทำงานแทน ทำให้ลูกหลานก็ไม่ได้เรียนหนังสือ
เมื่อทางมหาวิทยาลัยเข้ามาให้ความรู้กับทางชุมชน ตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยการสอนเรื่องคัดเส้นใยกระจูดก่อน การย้อมสีธรรมชาติ ส่วนการสานขึ้นรูปกระเป๋ามีผู้สูงอายุสอน โดยมีอาจารย์ให้ความช่วยเหลือด้านการทำตลาด และวรรณีกระจูดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง นำสินค้าไปช่วยโปรโมท รวมทั้งสอนการขายออนไลน์ และไลฟ์สดขายสินค้า และหลังเข้าร่วมโครงการวิจัยกับทางมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดผลดีต่อชุมชนดังนี้
1.คนในชุมชนทะเลน้อยมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว จากที่เคยได้เดือนละ 4,500 บาท เมื่องานวิจัยเข้ามามีอาจารย์เข้ามาช่วยทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท
2.ผสมผสานระหว่างวัยทำงานได้ดีมาก งานบางอย่างถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุระหว่าง 14-15 ปีที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็จะทำไม่เป็น หากไม่มีผู้สูงอายุที่เขาชำนาญเข้ามาช่วย ซึ่งพื้นฐานของกลุ่มผู้สูงอายุดั้งเดิมเชี่ยวชาญการสานกระเป๋า สานเสื่อ จึงสามารถถ่ายทอดสอนให้ลูกหลานหรือคนหนุ่มคนสาวได้
3.งานวิจัยยังช่วยเรื่องสุขภาพคนในชุมชน
เดิมงานสานกระเป๋าก็ดีหรือสานเสื่อมักจะนิยมใช้สีเคมีในการผลิต สีเหล่านี้จะทำลายสุขภาพ
แต่ได้ปรับให้นำสีธรรมชาติมาใช้ซึ่งสามารถหาได้ในพื้นที่ทะเลน้อย เรียกว่าดีต่อคนที่รักสุขภาพอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น